สถานการณ์ ก่อนเลือกตั้ง ‘บิ๊กตู่’รุก‘การเมือง’ เขย่ามาร์คสะเทือนปชป.

แม้การเลือกตั้งตามโรดแมปที่ขยับจากเดือนพฤศจิกายนปีนี้ไปเป็นเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่

แต่ดูเหมือนว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คสช.มีเป้าหมายลงสู่สนามการเมืองคมชัดแล้ว

คสช. โดยเครือข่ายที่ประกอบด้วย “แม่น้ำ 5 สาย” ได้จัดเตรียมกฎกติกาสำหรับรัฐบาลใหม่

ทั้งรัฐธรรมนูญ ร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 10 ฉบับ และกฎระเบียบอื่นๆ ทั้งที่เห็นแล้วและยังไม่ได้เห็น

Advertisement

เป้าหมายชัดๆ คือ สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้อยู่ต่อ

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลเองก็ลงพื้นที่ถี่ขึ้น แต่ละแห่งหนที่ ครม.สัญจรไป คลับคล้ายจะมีวาระทางการเมือง

ล่าสุดที่บุรีรัมย์ เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ไป มี นายเนวิน ชิดชอบ ต้อนรับ

มีการเอ่ยนาม นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค
ภูมิใจไทย

มีการอนุมัติงบประมาณ 2 หมื่นล้านบาทให้

เท่านั้นเอง อุณหภูมิทางการเมืองก็ปะทุ

น่าสนใจตรงที่ในบรรดาพรรคการเมืองที่ออกมาปะ ฉะ ดะ พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. มากที่สุดคือพรรคประชาธิปัตย์

นับตั้งแต่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เรื่อยลงมาถึงระดับรองหัวหน้าพรรค และพลพรรค

ดูเหมือนแต่ละคนมีเป้าหมายที่จะโจมตีความเคลื่อนไหวของ คสช. และรัฐบาล

ทั้งประเด็นการใช้เงิน 40,000 ล้านบาทตั้งพรรคสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์

ทั้งการเจรจาดึงอดีต ส.ส. และกลุ่มการเมืองต่างๆ เข้าร่วมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์

ทั้งการเกลี้ยกล่อมด้วยวิธีบอก “ธุรกิจ” ที่เคยสนับสนุนพรรคเก่า ให้เปลี่ยนใจไปสนับสนุนพรรคใหม่

ทุกประการที่ปรากฏ ล้วนออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์

ออกมาจนกระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ต้องเอ่ยปากปราม

รวมถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องเอ่ยปากปฏิเสธ

แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังเดินหน้าปะ ฉะ ดะ ต่อไป

อาการของพรรคประชาธิปัตย์ที่ปรากฏ ตอกย้ำให้เห็นว่า กฎกติกาและวิธีการรุกของ คสช. มีผลต่อพรรคประชาธิปัตย์มากที่สุด

ทั้งนี้เพราะพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคใหญ่

แม้พรรคเพื่อไทยจะเป็นพรรคใหญ่เหมือนกัน แต่ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยถูกสกรัมจากอำนาจ คสช.จนชินชา

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ นับตั้งแต่รวมพลปลุกการชุมนุมขับไล่รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เรื่อยมาถึงการ
แตกตัวของแกนนำพรรคไปร่วมเป็น กปปส. ขับไล่รัฐบาลรักษาการจนมีการยึดอำนาจ

กาลเวลาล่วงเลยมาถึงปัจจุบัน ยังไม่บอบช้ำเท่ากับพรรคเพื่อไทย

แต่เมื่อกฎกติกาใหม่ที่ออกมาบีบคั้นพรรคใหญ่ ประชาธิปัตย์จึงได้รับผลกระทบ

สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยมีถึง 2 ล้านคน เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการยืนยันความเป็นสมาชิก พบว่ามีเพียงแค่แสน

หายไปเป็นล้าน

ขณะเดียวกัน เมื่อนายอภิสิทธิ์ได้ประกาศจุดยืนพรรคประชาธิปัตย์ โดยให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า คนประชาธิปัตย์ต้องสนับสนุนคนประชาธิปัตย์เป็นนายกฯ

ทำให้จุดยืนดังกล่าวแตกต่างจากจุดยืนของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.

ทั้งนี้นายสุเทพประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯหลังเลือกตั้ง

ขณะที่แกนนำ กปปส.หลายคนทยอยกลับพรรคประชาธิปัตย์ แต่ความสัมพันธ์กับกำนันสุเทพยังแนบแน่น

จุดยืนที่แตกต่างเช่นนี้ ย่อมส่งแรงสะเทือนไปถึงนายอภิสิทธิ์ด้วย

เมื่อ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เริ่มแยกตัว บ้างไปรับตำแหน่งรองผู้ว่าฯกทม. ซึ่งอิงแอบกับ คสช.

เมื่อ น้องนายสุเทพขอแยกตัว ไปอิงแอบอยู่กับ กปสส.

และยังมีข่าวว่า อดีต ส.ส.หลายคนก็คิดจะแยกย้ายเช่นกัน

ข่าวคราวเช่นนี้ย่อมเขย่าขวัญประชาธิปัตย์ระดับแกนนำไม่ใช่น้อย

ข่าวคราวที่แว่วมารุนแรงถึงขนาดแตกหัก

ตำนานเรื่องกลุ่ม 10 มกราฯ เริ่มกลับมาเล่าขานกันอีกครั้ง

ขณะที่มองพรรคการเมืองอื่นๆ

พรรคเพื่อไทยมีความมั่นใจว่าสามารถรักษาฐานที่มั่นเอาไว้ได้ การเดินทางไปพบ นายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่สิงคโปร์ นั่นย่อมแสดงถึงความเชื่อมั่น

ท่าทีของนายทักษิณ ต่อพรรคเพื่อไทย การเลือกตั้ง และการแย่งตัว ส.ส. บ่งบอกว่าพรรคเพื่อไทยยังมี “ของดี”

ส่วนพรรค คสช. ไม่ว่าจะมีชื่อพรรคว่าอะไร แต่สดับฟังแล้วทราบว่ามีความคืบหน้า

มีกลุ่มนักการเมืองรุ่นเก่ารุ่นใหม่พร้อมที่จะให้การสนับสนุน

และยังมีพรรคการเมืองอีกมากที่พร้อมร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคขนาดกลาง ขนาดเล็ก ที่จะเกิดขึ้นหลังเลือกตั้ง

สถานการณ์พรรคการเมืองยามนี้ จึงถือว่าพรรคประชาธิปัตย์อยู่ในสถานการณ์น่าหนักใจ

ประการแรก ขณะที่พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ไม่เห็นด้วยชัดเจนกับพรรค คสช. ส่วนพรรคขนาดกลาง
ขนาดเล็ก ขอดูผลการเลือกตั้ง และพรรคจะร่วมรัฐบาลกับทุกพรรค

คำถามคือพรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนเช่นไร

ประการที่สอง ขณะที่พรรคอื่นๆ ทั้งหัวหน้าพรรค และสมาชิกพรรคต่างเห็นพ้องในจุดยืนที่ต้องขับเคลื่อน แต่พรรคประชาธิปัตย์มักมีความเห็นแตกต่างระหว่างหัวหน้าพรรคกับสมาชิกพรรค ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นแกนนำ กปปส.

คำถามคือกรณีเยี่ยงนี้นายอภิสิทธิ์จะบริหารจัดการทิศทางของพรรคอย่างไร

นี่ยังไม่รวมแนวรบภายนอกที่ต้องต่อสู้กับพรรคการเมืองอื่น หรือแม้แต่ คสช. ท่ามกลางกฎกติกาที่ไม่ได้เป็นคุณกับตัวเท่าใดนัก

สถานการณ์ก่อนเลือกตั้ง เมื่อเหลียวมองตรวจแนวรบแล้ว

ในบรรดาพรรคการเมืองทั้งหมด ดูเหมือนว่าพรรคประชาธิปัตย์จะมีมรสุมก่อตัวหนักสุด

ก่อตัวทั้งภายใน ก่อตัวทั้งภายนอก

ก่อตัวและหมุนพัดจนต้องเฝ้าจับตาดูว่า นายอภิสิทธิ์ในฐานะผู้กุมบังเหียนพรรค จะควบคุมสถานการณ์ทั้งหลายเหล่านี้เอาไว้ได้หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image