ที่เห็นและเป็นไป : ‘ยินดี’แม้ยังมีปัญหา

การแสวงหาอำนาจ เป็นหัวใจของการเมือง

เป็นอำนาจในการบริหารจัดการประเทศ โดยเรียกขานว่า “รัฐบาล”

หน้าที่ของรัฐบาลคือจัดสรรประโยชน์ให้กระจายสู่ประชาชนทุกคน ทั่วประเทศอย่างเป็นธรรม รัฐบาลไหนบริหารให้เป็นไปตามหน้าที่ได้แค่ไหนขึ้นอยู่กับ “สำนึก” และ “ความรู้ความสามารถ” ในการบริหารจัดการ

จิตสำนึกที่แย่คือ ใช้อำนาจเพื่อแสวงประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้องมากกว่าจะเห็นแก่ประโยชน์ของส่วนรวม

Advertisement

ความรู้ความสามารถที่ดี คือเข้าใจผลประโยชน์ของแต่ละฝ่ายแตกต่างกัน และหาหนทางหรือวิธีการให้เกิดการยอมรับในความเป็นธรรมจากทุกฝ่าย

ควบคุมให้อยู่ในสำนึกที่ดีคือการออกแบบรูปแบบการปกครองให้มีกลไกถ่วงดุล ตรวจสอบได้ง่าย

ส่วนความรู้ ความสามารถที่จะเข้าใจความแตกต่างของผลประโยชน์แต่ละฝ่ายคือ มีกลไกที่จะทำให้รัฐบาลรับฟัง มากกว่าที่จะใช้อำนาจบังคับ

Advertisement

เพราะการรับฟังทำให้เกิดความเข้าใจ ส่วนอำนาจนั้นง่ายต่อการทำให้เกิดความหลงตัวเอง คิดเอาเองว่าความคิดของตัวเองถูกต้อง เป็นธรรม ก่อให้เกิดความรู้สึกไม่ยอมรับ

“ประชาธิปไตย” ที่อำนาจเป็นของประชาชน บังคับให้รับฟังมากกว่าจะใช้อำนาจโดยพลการแบบคิดเอาเองว่าเรื่องที่ทำให้เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย โดยไม่รู้ว่าอำนาจนั้นมักนำมาซึ่งการหลงตัวเองอันเป็นที่มาของอคติที่เป็นต้นธารของความไม่เป็นธรรม

ประชาธิปไตยจึงควรจะเป็นระบอบการปกครองที่ควรเลือกมาใช้จัดการบริหารประเทศ เพราะมีแนวโน้มที่จะรับฟังเพื่อทำให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายในการบริหารจัดการได้มากกว่า

ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรที่ “นักการเมือง” จะยึดถือแนวคิด “ไม่มีมิตรแท้ ศัตรูที่ถาวร” เพราะเป้าหมายอยู่ที่ “การได้มาซึ่งอำนาจ”

ดังนั้นเมื่อการเมืองในมาเลเซีย มีปรากฏการณ์ “อันวา อิบราฮิม” คนที่เคยเป็นรัฐมนตรีคู่ใจ “มหาธีร์ โมฮัมหมัด” แล้วถูก “มหาธีร์” ทำลายล้างจนแทบเอาชีวิตไม่รอด พลิกกลับมาช่วย “มหาธีร์” โค่นล้ม “นาจิบ ราซัค” ผู้เคยเป็นเด็กปั้นของ “มหาธีร์” แต่ต่อมาถูก “มหาธีร์” ต่อต้านรุนแรง

เป็นภาพที่สะท้อนว่า “การเมืองเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เพื่ออำนาจได้เสมอ” ไม่ว่าจะเป็น “มิตร” หรือ “ศัตรู” ในระดับไหนก็ตาม

หันกลับมามองการเมืองในไทยเราก็เล่นกัน

ก่อนหน้านั้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า แสดงท่าทีดูหมิ่นดูแคลนนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนอย่างรุนแรง

และใช้ภาพที่สร้างให้นักการเมืองมีแต่ความเลวร้ายนั้นเป็นเหตุผลของการรัฐประหาร

เป็นท่าทีที่นึกไปไม่ถึงว่าสักวัน คสช.กับนักการเมืองเก่าจะหันมาเป็นพันธมิตรที่แนบแน่นกันได้

แต่วันนี้ วันที่นึกไม่ถึงนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว

หัวหน้า คสช. ออกเดินสายทั่วประเทศ เพื่อผนึกบารมีร่วมกับนักการเมืองท้องถิ่นต่างๆ เพื่อหาหนทาง “เข้าสู่อำนาจร่วมกัน”

อาจจะรู้สึกตื่นเต้น ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ และอาจจะทำให้หลายคนผิดหวัง

แต่เรื่องราวเหล่านี้ หากย้อนคิดแล้วจะรับรู้ได้ว่าเป็น “ธรรมดาอย่างยิ่ง” โอกาสในการเข้าสู่อำนาจสำคัญกว่าเรื่องอื่นสำหรับ “นักการเมือง”

และจะว่าไป เมื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” เลือกที่จะนำ “คสช.” เข้าสู่การเมืองในระบบของกรอบกติกาประชาธิปไตย ย่อมเป็นเรื่องน่ายินดีมากกว่า

เพราะไม่ว่าอย่างไร ประชาธิปไตยย่อมเป็นระบบที่น่าเชื่อถือและให้ความมั่นใจได้มากกว่าระบบอื่นว่าจะนำความเป็นธรรมสู่ประชาชนทุกกลุ่ม

ถ้าการเมืองไทยจะพัฒนาไปเหมือนมาเลเซีย คือไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นขอให้ที่สุดแล้ว ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะให้อำนาจบริหารประเทศกับใคร

ไม่ใช่เป็นแบบ เมื่อไม่พอใจอำนาจประชาชน ก็ใช้กำลังมายึดอำนาจไป แล้วประกาศตัวเองเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” โดยไม่ฟังว่า ใครจะยอมรับหรือไม่

เมื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” นำคณะเข้ามาเล่นในระบบย่อมเป็นเรื่องน่ายินดี

แม้จะเป็นความยินดีที่ยังปวดร้าวกับ “กติกา” ที่เขียนขึ้นมาสนองอำนาจโดยให้ราคากับประชาชนน้อยอย่างยิ่งก็ตาม

เพราะที่สุดแล้วยังดีกว่าที่จะอยู่ในสภาพไม่มีการรับฟังเสียงของประชาชนเสียเลย

 

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image