สถานีคิดเลขที่12 เรื่องหอศิลป์ กทม. : โดย ปราปต์ บุนปาน

“หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร” เปิดให้บริการมาครบ 10 ปีพอดี ปัญหาหนึ่งที่ดำรงอยู่คู่กับพื้นที่สาธารณะแห่งนี้มายาวนาน ผ่านยุคสมัยของผู้ว่าฯ กทม. จากการเลือกตั้งหลายราย ทั้ง พิจิตต รัตตกุล, สมัคร สุนทรเวช และ อภิรักษ์ โกษะโยธิน

ก็คือ ปัญหาในการนิยามความหมายของคำว่า “หอศิลป์”

คนจำนวนหนึ่งเห็นว่า “หอศิลป์” ควรจะเป็นพื้นที่กลางเพื่อรองรับการจัดแสดงผลงานศิลปะและกิจกรรมทางวัฒนธรรมประเภทต่างๆ

แต่ก็มีเสียงโต้แย้งว่า “หอศิลป์” ควรทำหน้าที่ตอบสนองต่อรสนิยมและวิถีชีวิตของผู้คนจำนวนมาก ตามแบบแผนของพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน

Advertisement

ถ้าหลายคนเดินทางไปสี่แยกปทุมวันเพื่อเข้าห้าง “หอศิลป์” ก็ควรมีลักษณะเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์มากกว่าศิลปวัฒนธรรม

ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา “หอศิลป์ กทม.” ถูกใช้งานหลากหลาย อย่างไรก็ตาม เป็นที่เข้าใจตรงกันว่าพื้นที่แห่งนี้มีฟังก์ชั่นรองรับกิจกรรมทางศิลปะและวัฒนธรรม มากกว่าเป้าประสงค์ทางการค้า

แม้ในแง่การบริหารจัดการ ซึ่งดำเนินงานผ่านคณะกรรมการมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จะมีข้อให้วิพากษ์วิจารณ์กันได้ตามสมควร

Advertisement

แต่หากถามว่า “หอศิลป์ กทม.” เดินมา “ถูกทาง” หรือไม่? สำหรับการเป็นพื้นที่สาธารณะทางศิลปวัฒนธรรม

คำตอบก็น่าจะเป็น “ถูกทาง” แม้อาจยัง “ไม่สมบูรณ์พร้อม”

ดังกรณีของนิทรรศการ “Caravaggio OPERA OMNIA” ที่รวบรวมผลงานของศิลปินอิตาเลียนชื่อดัง มานำเสนอในรูปแบบ “ดิจิทัล พรินติ้ง” ซึ่งนำไปสู่วิวาทะมากมาย

ตลอดจนข้อเท็จจริงซึ่งทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันว่าประเทศไทยยังไม่มี “พิพิธภัณฑ์/หอศิลป์” ที่ดีพอจะเป็นพื้นที่จัดแสดง “งานศิลปะของแท้ระดับโลก”

ทั้งเพราะปัจจัยด้านสถาปัตยกรรมของตัวอาคารที่ไม่เข้าเกณฑ์ รวมถึงมาตรฐานการขนส่งที่อาจไม่ดีพอ และค่าประกันผลงานซึ่งสูงลิ่วจนไม่มีใครกล้าจ่าย

ล่าสุด พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ยุค คสช. ก็แสดงความวิตกกังวลกับ “ความไม่สมบูรณ์พร้อม” ของ “หอศิลป์ กทม.” เช่นกัน

ในภาพรวม คล้ายท่านผู้ว่าฯ จะรู้สึกว่าคณะกรรมการมูลนิธิฯ ยังบริหารจัดการ “หอศิลป์” ได้ไม่ดีพอ ดังนั้น การเปลี่ยนให้กรุงเทพมหานครซึ่งต้องจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งให้ “หอศิลป์ กทม.” อยู่แล้ว เข้าไปดูแลพื้นที่นี้แทน อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

ปัญหาเชิงรูปธรรมที่ผู้ว่าฯ อัศวิน ยกมาอธิบาย คือ ภาพเด็กๆ ไปนั่งติววิชากันบนพื้นหอศิลป์ พร้อมตั้งคำถามว่าทำไม “หอศิลป์ กทม.” จึงไม่จัดหาโต๊ะ-เก้าอี้จำนวนมาก มาให้บริการเยาวชนเหล่านั้น

ความห่วงใยดังกล่าวพาเราย้อนกลับไปสู่ข้อถกเถียงขั้นมูลฐานเมื่อกว่าสิบปีก่อนอีกครั้ง ว่า “หอศิลป์” คืออะไร? และมีหน้าที่อย่างไร? ต่อสังคม

“หอศิลป์” ควรเป็นพื้นที่ซึ่งช่วยเปิดโลกทัศน์และประสบการณ์ชุดใหม่ๆ ให้แก่คน กทม. และจังหวัดอื่นๆ ผ่านผลงานศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมทางภูมิปัญญา

หรือเป็นพื้นที่ที่มุ่งตอบสนองวิถีชีวิต-ความคุ้นชินของประชาชน เมื่อคนยุคปัจจุบันต้องการ “โคเวิร์คกิ้งสเปซ” “หอศิลป์ กทม.” ก็ควรจัดโต๊ะ-เก้าอี้ให้ 2,000 ชุด

เรื่องใคร/กลุ่มไหนจะเข้ามาบริหารจัดการ “หอศิลป์ กทม.” อาจไม่สำคัญเท่ากับการต้องหาคำตอบให้ได้แน่ชัดเสียก่อนว่า “หอศิลป์” คืออะไร?

เพื่อจะได้เดินต่อ “ถูกทาง” ว่าเราควรพัฒนา “หอศิลป์” ให้มีคุณภาพสูงขึ้น กระทั่งประชาชนที่มาเยี่ยมชมสามารถเข้าใจตัวเองในมุมมองต่างจากเดิม และทำความรู้จักโลกภายนอก ซึ่งพวกเขาไม่มีโอกาสได้สัมผัสใกล้ชิด

หรือเราควรเพิ่มพื้นที่กลางให้ประชาชนได้เข้ามาประกอบกิจกรรมยามว่าง ตามความต้องการและแบบแผนการใช้ชีวิต ณ ปัจจุบัน ของพวกเขา

หากเลือกทางแรก ก็ต้องเร่งพัฒนาตัวเอง เพื่อให้ “หอศิลป์” มีศักยภาพมากพอจะเติมเต็มสิ่งที่ กทม. และประเทศนี้ ยังขาดแคลน

แต่ถ้าเลือกทางหลัง ก็หมายความว่า “หอศิลป์ กทม.” กำลังนำเสนอตนเองเป็น “ทางเลือก” หนึ่ง ท่ามกลางทางเลือกชนิดเดียวกันอีกมากมาย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image