‘บวรศักดิ์’ชำแหละ 4 ปี คสช. ปฏิรูปไปไม่ถึงไหน(คลิป)

หมายเหตุ – นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปด้านกฎหมาย ให้สัมภาษณ์”มติชน”ถึงแผนการปฏิรูปพร้อมข้อเสนอแนะในกระบวนการปฏิรูปประเทศในภาพรวม

 

-เป้าประสงค์ของการปฏิรูปกฎหมายคืออะไร

ตอนนี้เราคลอดแผนปฏิรูปกฎหมายออกมาแล้ว 1.ต้องมีกฎหมายที่ดี 2.มีกฎหมายเท่าที่จำเป็น 3.ลดกฎหมายล้าหลังเป็นภาระต่อประชาชน เมื่อแผนการปฏิรูปได้ประกาศใช้ เราก็ทำหน้าที่ติดตาม พร้อมทำร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดทำกฎหมายและประเมินผลสัมฤทธิ์ ให้มีวิธีการจะทำให้ได้กฎหมายที่ดีและมีกฎหมายเท่าที่จำเป็น คาดว่ากฎหมายนี้จะแล้วเสร็จในปีนี้ ส่วนกฎหมายจำเป็นเร่งด่วนต้องออก เช่น กฎหมายขายฝากอสังหาริมทรัพย์ กฎหมายป่าชุมชน กฎหมายวิสาหกิจเพื่อสังคม นอกจากนี้ ยังต้องมีกฎหมายมาช่วยภาคธุรกิจเพื่อเพิ่มการแข่งขัน ส่งเสริมผู้มีความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ พร้อมอุ้มชูคนที่ยังตามโลกไม่ทัน

-วิธีการยกเลิกกฎหมายล้าสมัยจะเป็นอย่างไร

Advertisement

เป็นไปไม่ได้ อยู่ดีๆ จะให้ส่วนราชการมายกเลิกกฎหมาย ดังนั้นอาจต้องตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนปฏิรูประยะเร่งด่วน ขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อมาพิจารณากฎหมายล้าสมัย มีวิธีการ 1.ตั้งคณะผู้ทบทวนกฎหมาย 20 กระทรวง ให้เอากฎหมายก่อนปี 2500 มาดู 2.ส่งคนไปหาข้อมูล คุยกับองค์กรอื่นๆ เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการสิทธิมนุษยชน และไปดูว่าศูนย์ดำรงธรรมมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับกฎหมายอย่างไรบ้าง วิธีการยกเลิกกฎหมายก็มีทั้งออก พ.ร.บ. พ.ร.ก. มาตรา 44 แต่ไม่เสนอให้ใช้มาตรา 44 เพราะไม่มีการตรวจสอบอย่างรอบคอบ มีคนดูอยู่ไม่กี่คน

-การยกเลิกกฎหมายล้าหลังต้องแล้วเสร็จในรัฐบาลนี้หรือไม่

ไม่จำเป็น เพราะมีกฎหมายอยู่เยอะมาก แต่ส่วนราชการเขาคงไม่ทำเอง เพราะเขาต่างก็คิดว่ากฎหมายของเขาดีอยู่แล้วทั้งนั้น เหมือนกับให้ผมประเมินตัวผมเอง ผมก็จะบอกว่าผมตื่นสายเพราะมีเหตุผล มีความจำเป็นต้องนอนดึก อย่างนั้นอย่างนี้

-การปฏิรูปประเทศหลายคนมองว่าไม่คืบหน้า แต่ยังวนเวียนอยู่ที่เดิม

Advertisement

ถ้าพูดถึงการปฏิรูป เรื่องมันยาว ผมก็เหนื่อย เพราะตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แล้วก็ยุบ ตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จากนั้นจึงตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ วันนี้ยังบอกให้ส่วนราชการไปทำแผน มันดูยาว มีแต่แผนๆๆๆๆ และแผน ผมจึงไม่พยายามพูดถึงแผน แต่จะพูดในสิ่งที่เราผลักดันได้ แล้วก็ทำไป

-เห็นเคยบอกว่าการปฏิรูปมักติดที่ส่วนราชการ

อันนี้คือปัญหาของการปฏิรูป คือวิธีคิดไม่เหมือนกัน รัฐบาลคิดว่าต้องให้ส่วนราชการทำปฏิรูป ผมยังสงสัยอยู่ว่าถ้าคนที่ถูกปฏิรูปมาทำปฏิรูป มันจะสำเร็จหรือ เหมือนกับให้ผู้รับเหมาเป็นผู้ตรวจงาน เพราะจริงๆ แล้วการปฏิรูปต้องไม่ให้คนที่ถูกปฏิรูปมาทำโดยตรง แต่ให้เขามามีส่วนร่วมในการให้ความคิดเห็น กระบวนการปฏิรูปต้องการการมีส่วนร่วมของผู้ถูกปฏิรูป แต่ไม่ควรให้ผู้ถูกปฏิรูปตันสินใจดำเนินการ ไม่ควรให้หน่วยงานราชการบอกว่าจะเสนอกฎหมาย

ยกตัวอย่างถ้ากรรมการปฏิรูปเศรษฐกิจเสนอปฏิรูปภาษี แล้วกรมสรรพากรเป็นคนทำ แต่กรมสรรพากร ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอ คิดว่าเขาจะทำไหม ถ้าเขาไม่ทำ กรรมการปฏิรูปทำได้เพียงฟ้องรัฐมนตรีคลัง ถ้ารัฐมนตรีเห็นงามตามลูกน้อง กรรมการปฏิรูปก็ต้องฟ้องคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ไม่รู้สิ มันเยอะ ผมนึกไม่ออก คือนึกไม่ออกว่ามันจะยาวขนาดไหน

มีคนมาถามผมว่าปฏิรูปกี่ปีถึงจะเสร็จ ผมบอกไม่รู้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ เขียนหมวดปฏิรูปในบทถาวร แปลว่าปฏิรูปไปตลอดตราบเท่าที่รัฐธรรมนูญยังอยู่ แต่ร่างรัฐธรรมนูญของผม ผมเขียนไว้แค่ 5 ปี เพราะการปฏิรูปต้องมีที่จบสิ้น ไม่ใช่จะปฏิรูปไปตลอดชาติ

4 ปีมานี้ปฏิรูปไปถึงขั้นไหนแล้ว ขั้นวางแผน 4 ปียังอยู่ในขั้นตอนการวางแผน ผมก็ไม่รู้ว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ เพราะมันมีหลายขั้นตอน วันนี้ผมกำลังทำกฎหมายว่าด้วยการเสนอและการพิจารณาร่างกฎหมายในการปฏิรูป โดยกฎหมายปฏิรูปต้องเสนอรัฐสภา ไม่ใช่เสนอสภาผู้แทนฯ แล้วค่อยไปวุฒิสภา ต้องออกในรัฐบาลนี้ เพราะคงดูไม่จืดถ้ารอเสนอตอนรัฐบาลเลือกตั้ง เพราะเขามาเอาด้วย

-กลัวว่าการปฏิรูปทั้งหมดนี้จะถูกโละโดยรัฐบาลเลือกตั้งหรือไม่

คุณต้องไปดูวิธีการแก้รัฐธรรมนูญที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เขียนไว้ ซึ่งมันไม่ง่ายอย่างนั้น รัฐบาลเลือกตั้งเข้ามาเขาทำแน่ แต่จะสำเร็จหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่อง เพราะการจะแก้รัฐธรรมนูญนั้นไม่ง่าย สำหรับคณะกรรมการปฏิรูป ถ้ารัฐบาลหลังเลือกตั้งโอเคก็จบ เช่น มีนายกฯชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกก็จบมันก็โอเค แต่ถ้านายกฯเป็นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หรือนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ คิดว่าคงดูไม่จืด เพราะนายกฯเป็นประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ประธานสภาเป็นรอง ซึ่งต้องเป็นพวกเดียวกับนายกฯ เป็นเสียงข้างมากฝั่งรัฐบาล ส่วนประธานวุฒิจะเป็นใครไม่ได้นอกจากคนของ คสช. มีกรรมการยุทธศาสตร์ชาติโดยตำแหน่ง และแต่งตั้ง โดย พล.อ.ประยุทธ์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นายวิษณุ เครืองาม เป็นต้น

แต่หลังเลือกตั้งเชื่อว่ากรรมการปฏิรูปและยุทธศาสตร์ฯยังจะไปได้ต่อ แต่อยู่ที่ว่าจะต่ออย่างขัดแย้งหรือเต็มใจ ถ้าต่อแบบเต็มใจทุกอย่างก็แฮปปี้เอนดิ้ง แต่ถ้าต่อแบบขัดแย้ง มันจะดูไม่จืด สมมุตินายกฯชื่อธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แม้นายกฯจะมีคณะรัฐมนตรีและสภาเป็นด่านสกัด แต่ คสช.มี สว. ลองจินตนาการดูแล้วกันว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นในโครงสร้างทางการเมืองไทย มันจะหนีความขัดแย้งไม่พ้นหรอก ถ้าเขาไม่เห็นด้วยกัน แต่ถ้านายกฯหลังเลือกตั้งคือ พล.อ.ประยุทธ์ มันก็สมูท ทั้งนี้ ผมตอบไม่ได้ว่าหลังเลือกตั้งนายกฯจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่ ผมไม่ใช่ผู้มีญาณหยั่งรู้มหาสมุทรเหมือนขงเบ้ง

-แสดงว่าสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯอีก เพื่อความสมูท

ไม่ได้สนับสนุนอะไรทั้งสิ้น แต่ผมไม่ได้คัดค้าน มันอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ที่ประชาชน อยู่ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อยู่ที่สมาชิกวุฒิสภา เป็นปัจจัยที่ผมคุมไม่ได้ทั้งนั้น และผมก็ไม่อยากยุ่งกับการเมือง

-วันนี้ถ้าการปฏิรูปไม่คืบหน้าจะมีอะไรกระทบต่อรัฐบาลหรือไม่

เชื่อว่ารัฐบาลเห็นภาพแล้วว่าการปฏิรูปไม่คืบหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จึงได้ตั้งนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.สำนักนายกฯ ไปผลักดัน เพราะ พล.อ.ประยุทธ์เห็นแล้วว่าถ้าปล่อยให้เป็นไปตามยถาธรรม จะเห็นผลช้า ผมเข้าใจที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องหงุดหงิด เพราะงานมันไม่ค่อยออก คนก็เริ่มพูดแล้วว่า 4 ปี ไม่เห็นปฏิรูปเลย ก่อน 22 พฤษภาคม 2557 คนก็บอกว่าต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หรือเลือกตั้งก่อนปฏิรูป ถ้าปฏิรูปไม่ออกก็จะมีปัญหาว่าทำไมนานนัก และคงจะมีส่วนด้วยที่ช่วงนี้ใกล้เลือกตั้ง จึงต้องเร่งการปฏิรูป อย่างน้อยก็จะพูดได้ว่าปฏิรูปแล้วนะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image