กระแส ‘ชูชวน’ นายกฯ : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

พลันที่นายมหาธีร์ โมฮัมหมัด ชนะการเลือกตั้งและขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซียในวัย 92 ก็มีกระแส “ชูชวน” ขึ้นชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทันที

“อายุ” เป็นต้นเหตุของกระแส สังคมมองว่า ถ้า 92 อย่างนายมหาธีร์ โมฮัมหมัด เป็นได้ 80 อย่าง นายชวน หลีกภัย ก็ต้องเป็นได้

หากพินิจในทางตรรกะวิทยา
เห็นพ้อง
ถ้ามองในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้

เห็นพ้องเพราะ
มีต้นทุนทางการเมืองสูง ความรู้และประสบการณ์ทางการเมืองเพียบ เคยเป็นนายกรัฐมนตรีถึง 2 สมัย รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ อีกหลายกระทรวง และประธานสภาผู้แทนราษฎรอีกด้วย

Advertisement

เป็นแม่แบบของนักการเมืองที่ดีในระบอบประชาธิปไตย

เป็นคนติดดิน มีความเอาใจใส่ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน แม้ช่วงที่การเมืองปิดก็ยังลงพื้นที่เยี่ยมเยียนชาวบ้านร้านตลาดอย่างสม่ำเสมอมิเคยว่างเว้น

พูดจาเชื่อถือได้ ไม่หุนหันพลันแล่น เป็นคนเข้มแข็งอ่อนโยน ร่างเล็กใส่เสื้อคับลุยบทเข้ม

Advertisement

คุณสมบัติของผู้นำมีครบถ้วน ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า “มหาธีร์”

เรื่องความดีนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเคยมีพระราชดำรัสว่า “นายกฯชวนดีแต่อยู่ไม่ได้”

อย่างไรก็ตาม กระแส “ชูชวน” ขึ้นเป็นนายกฯสมัยที่ 3 ไม่น่าเป็นไปได้ เหตุผลคือ

เป็นนายกฯ 2 สมัย ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ เหมือนกับนักมวยที่แขวนนวมลงจากเวทีอย่างสง่างาม แล้วทำหน้าที่เป็นครูและพี่เลี้ยงให้แก่นักการเมืองรุ่นน้อง รุ่นลูก รุ่นหลาน ซึ่งเป็นเกียรติที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเป็นนายกรัฐมนตรี

อุปนิสัยของเขาเข้าทำนองสุภาษิตจีน “ม้าที่ดีย่อมไม่หวนกลับไปกินหญ้าย้อนหลัง” เพราะเลยขั้นตอนนั้นมาแล้ว ถ้าจะชิงนายกฯก็ต้องกลับไปเป็นหัวหน้าพรรคใหม่ อันเป็นการไปแย่งเก้าอี้ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ซึ่งเป็น “ศิษย์เอกเด็กในคาถา” ไม่อยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้

ภาวการณ์ทางการเมืองวันนี้ต่างกับเมื่อ 2 ทศวรรษก่อน ต่างกันเพราะเล่นกันดุเดือดรุนแรง มิใช่เรื่องที่ชวนชื่นชอบแน่นอน

การจะเป็นนายกฯได้ต้องอาศัยเสียงสนับสนุนจากพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม การแย่งโควต้ากระทรวงเกรดเอ เกรดบีคงหลีกเลี่ยงไม่พ้น เพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อน คนอย่าง “ชวน” ไม่ยอมแน่ อีกประการหนึ่ง ทุกพรรคต่างก็อยากเป็นรัฐบาลกันทั้งนั้น แล้วใครจะช่วย ต่อให้เป็นการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากเพียงพรรคเดียว ก็ต้องมีปัญหาเช่นกัน ทั้งนี้ มีข่าวว่าในพรรคประชาธิปัตย์เองก็แบ่งเป็นหลายมุ้ง เพราะเลือดคนละกลุ่ม กระดูกคนละเบอร์

การที่จะเป็นนายกฯได้ต้องมีกระสุนดินดำจำนวนมหาศาล แต่ “ชวน” ไม่มี เพราะเป็นนักการเมืองที่มีวินัย เคร่งครัดในหลักการประชาธิปไตย มีอุดมการณ์ที่แน่วแน่ไม่แปรเปลี่ยน

ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องต่อสู้กับความชอบธรรมบางอย่างทั้งนิตินัยและพฤตินัยที่เขาสร้างกันขึ้นมาเพื่อจะให้ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นศึกใหญ่และเปลืองแรง

ประเทศมาเลเซียกับไทย สภาพบ้านเมืองและสถานการณ์การเมืองแตกต่างกัน ประเด็นจึงมิใช่อยู่ที่ “อายุ” ดังว่า “มหาธีร์” 92 เป็นนายกฯได้ “ชวน” 80 ก็ต้องเป็นได้

บรรดาหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้เป็นนายกฯมี 4 ท่านคือ พ.ต.ควง อภัยวงศ์, ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, นายชวน หลีกภัย และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี 2 สมัย รวมเป็นเวลา 5 ปี 300 วัน ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรียาวนานที่สุด

ในขณะที่ พ.ต.ควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคคนที่ 1 เป็นนายกฯ 4 สมัย รวมเป็นเวลา 1 ปี 233 วัน ซึ่งทิ้งกันมองไม่เห็นฝุ่น

สมัยที่ “ชวน” เป็นนายกฯ ไม่เคยแสดงอาการก้าวร้าวให้ใครเห็น ไม่เคยเกรี้ยวกราดสื่อ ไม่เคยชี้หน้าสื่อหรือต่อว่าเรื่องใดๆ ถ้าไม่สบอารมณ์ก็ได้แต่ “เงียบ” หงุดหงิดก็แค่ “เกาต้นคอ”

“ชวน” เป็นนักกฎหมายที่สุขุมละเอียดรอบคอบ จนถูกนินทาว่า “ชวนเชื่องช้า” หน้าที่การงานก็สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง ถูกใจบ้างไม่ถูกใจบ้าง

ก็เพราะเป็นนักกฎหมายกอปรกับความซื่อสัตย์ จึงไม่ทำเรื่องที่มีความเสี่ยงหรือหมิ่นเหม่ต่อกฎหมาย ไม่เคยได้ข่าวในทางติดลบ เช่นทุจริตรับสินบนหรือเงินทองใดๆ เป็นต้น

กระแสให้ “ชวน” ชิงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ในยามนี้ ถือเป็นการ “เสี่ยงภัย” มิใช่เรื่องที่ชวนนิยม จึงแทงบัญชีเป็น “ศูนย์” ได้เลย ต่อให้เอาช้างทั้งป่ามาฉุดก็ไม่มีวันสำเร็จ

ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนนามว่า “สุรบถ หลีกภัย” เคยตอบคำถามรายการ “กนก รัตน์วงศ์สกุล” เรื่องพ่อสอนอะไรนั้น คำตอบคือ “ชวนหลีกภัย”

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image