รายงาน : รูปธรรม การเมือง ‘คสช.’ รุก หรือ ‘ตั้งรับ’ เบื้องหน้า เลือกตั้ง

รูปธรรม การเมือง
‘คสช.’ รุก หรือ ‘ตั้งรับ’
เบื้องหน้า เลือกตั้ง

สัญญาณทางการเมือง ไม่ว่าจะมาจาก พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ไม่ว่าจะมาจาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ล้วนไม่เป็นผลดี
โดยเฉพาะต่อ “คสช.”
เพราะว่าความคิดรวบยอดอันเป็นผลึกจากการประมวลของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ คือ การเสนอในเรื่อง “รัฐบาลเฉพาะกาล”
เท่ากับมองข้ามรัฐบาล “คสช.” ไปแล้ว
เพราะการออกมาอธิบายเชิงปฏิเสธของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ว่า “ไม่เคยพูดว่า สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป พูดเพียงว่า สนับสนุนเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศให้สมบูรณ์”
เท่ากับเป็นการลดระดับอย่างเด่นชัด
สะท้อนความไม่มั่นใจต่อผลงานและความสำเร็จ สะท้อนแนวโน้มการสืบทอดอำนาจของ คสช.อาจไม่ราบรื่น

บทสรุปอันมาจาก พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และที่มาจาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เหมือนกับจะมองข้ามความเป็นจริงในทางความคิดที่ดำรงอยู่ภายใน คสช.
นั่นก็คือ ความคิดที่ว่า คสช.เป็นฝ่ายรุกในทางการเมือง
รุกตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 อยู่ในมือ รุกตั้งแต่การผลักดันนโยบาย “ประชารัฐ” ประสานเข้ากับโครงการ “ไทยนิยม”
และเปิดยุทธการ “ครม.สัญจร” พร้อมงบประมาณมหาศาล
เท่ากับเป็นการหาเสียงล่วงหน้าในขณะที่ทุกพรรคการเมืองต้องถูก “มัดตราสัง” ภายใต้คำสั่ง คสช. ไม่ว่าจะเป็นฉบับที่ 57/2557 ไม่ว่าจะเป็นฉบับที่ 3/2558 และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฉบับที่ 53/2560 ที่สร้างเงื่อนไขในการ “เซตซีโร่” พรรคการเมืองเก่า
ยิ่งเห็นภาพมวลชนกว่า 30,000 ปรากฏพร้อมกับ นายเนวิน ชิดชอบ ยิ่งสร้างความมั่นใจเป็นอย่างสูงในทางการเมือง ถึงกับเพ้อถึงมวลชนกว่า 50,000 คนที่สระแก้ว
อย่างนี้มิได้เป็นการรุกในทางการเมืองหรอกหรือ

Advertisement

ถามว่าหากเป็นการรุกในทางการเมืองตามความหมายในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 จริง เหตุใด พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จึงเสนอประเด็นแหลมคม
ว่าด้วย “รัฐบาลเฉพาะกาล” ขึ้นมา
ถามว่าหากเป็นการรุกในทางการเมืองอย่างแท้จริง เหตุใดคนที่เคยเห็นว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น “รัฐบาลของเรา”
จึงไม่ยืนยันการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
เพราะภายใต้ข้อเสนอของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เท่ากับเป็นการมองข้ามรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เพราะภายใต้คำแถลงของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เท่ากับปฏิเสธในเรื่องการสืบทอดอำนาจ
เพียงแต่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ไม่ระบุว่าใครจะมาเป็น “รัฐบาลเฉพาะกาล” เพียงแต่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่ระบุว่าใครคือผู้ที่เขาจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีภายหลังการเลือกตั้ง
แต่ในความเป็นจริงเท่ากับ “มองข้าม” บทบาท “คสช.”
และในความเป็นจริงเท่ากับ “มองข้าม” ความหมายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

หากนำเอาแต่ละการเคลื่อนไหวในทางการเมือง ไม่ว่าจะมองผ่านพรรคการเมือง ไม่ว่าจะมองผ่านกลุ่มทางการเมืองก็เด่นชัดว่าใครรุก ใครรับ
นั่นก็คือ คสช.มิได้เป็นฝ่ายรุก
ตรงกันข้าม นับแต่เดือนเมษายน 2561 เป็นต้นมา คสช.อยู่ในฐานะเป็นฝ่ายตั้งรับและเป็นฝ่ายแก้เกมอันถูกรุกกระหน่ำอย่างต่อเนื่อง ลูกแล้วลูกเล่า เรื่องแล้วเรื่องเล่า
โดยเฉพาะในประเด็นว่าด้วย “การเลือกตั้ง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image