“ปริญญา”เชื่อลต.ปีนี้ทำได้ ช้า-เร็วขึ้นกับคสช. ชี้เดินหน้าอยู่ต่อยาก แนะหันกลับเป็นคนกลาง

“ปริญญา” เชื่อ เลือกตั้งปลายปี’61 ทำได้ แต่เลือกตั้งช้าหรือเร็วขึ้นกับคสช. ชี้ตลก.ศาลรธน.มีส่วนได้เสีย ถก กม.สส. เพราะได้อยู่ต่อจนกว่าจะมีรัฐสภาชุดใหม่

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการพิจารณร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ในวันที่ 30 พฤษภาคมนี้ นายปริญญา กล่าวว่า ผลการพิจารณาจะมีได้ 3 ทาง คือ 1. ไม่มีข้อความขัดหรือแย่งต่อรัฐธรรมนูญ ก็จบ 2. มีข้อความขัดหรือแย้ง แต่ไม่เป็นสาระสำคัญ ก็แก้เล็กน้อยบางมาตราบางประโยค ใช้เวลาสั้น 3.มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญและเป็นสาระสำคัญ ก็จะตกไปทั้งฉบับ ลองนับเวลาดูแบบเร็วสุด หากวันที่ 30 พฤษภาคมนี้ ศาลบอกไม่มีความขัดแย้งเลย นายกฯก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ มีกรอบเวลาก่อนประกาศในราชกิจานุเบกษา 90 วัน ก็จะไปลงช่วงเดือนสิงหาคมรอ 90 วัน เพื่อให้มีผลบังคับใช้ ก็จะไปตกช่วงเดือนธันวาคม

“เมื่อนับกรอบเวลา 150 วัน การเลือกตั้งจะอยู่ระหว่างเดือนมกราคม -พฤษภาคม 2562 อย่างช้าก็คือเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม แต่ปกติแล้วตามรัฐธรรมนูญของเรา หากเลือกตั้งด้วยเหตุสภาครบวาระ จะใช้เวลา 45 วัน หากด้วยเหตุยุบสภา ก็ภายใน 60 วัน การมีเวลาถึง 150 วัน จึงมันยาวไป สามารถทำให้สั้นได้อยู่แล้ว ถ้าร่นลงมาเหลือ 60 วัน ก็เลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ได้เหมือนเดิม หรือหากจะเลือกตั้งปีนี้ ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งก็ทำได้ ทำได้ทุกอย่าง โดยขึ้นกับคสช.เอง” นายปริญญา กล่าว

ส่วนสถานการณ์การเมืองที่คสช.ใช้พลังดูดอดีตส.ส. เพื่อเตรียมสืบทอดอำนาจหลังการเลือกตั้ง นายปริญญา มองว่า เพราะเป้าหมายคือต้องการเป็นรัฐบาลต่อ จึงต้องทำแบบนี้ ผลที่จะเกิดจะเป็นผลในทางลบต่อคสช.เอง เพราะเป็นการเมืองแบบเดิม หากจะเป็นนายกฯแล้วอยู่ได้ ลำพัง 250 ส.ว. ที่แต่งตั้งเองคงไม่พอ จะต้องมีเสียงส.ส.ในสภาอย่างน้อย 250 เสียงด้วย แต่จากสถิติการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ได้ส.ส.รวมกันเกิน 400 เสียง แม้วิธีการเลือกตั้งจะเปลี่ยนไปเป็นบัตรใบเดียว แต่ก็เชื่อว่า ทั้ง 2 พรรคใหญ่ จะมีคะแนนรวมกันเกิน 250 เสียงอยู่ดี อย่างไรก็ตาม หากว่าเดือนมิถุนายนนี้ ตัวเลขส.ส.เก่าในมือ กดเครื่องคิดเลข บวกลบคูณหารแล้ว หากไม่ถึงจำนวนที่จำเป็นต่อการตั้งรัฐบาลแล้วอยู่ได้ ผมว่าถอยดีกว่า ถ้าเดินหน้าต่อไปก็ไม่ได้เป็น แล้วกลับสู่สถานะคนกลางอีกครั้ง ทุกอย่างจะเกิดเรื่องในทางบวกคืนมา

Advertisement

เมื่อถามว่า หากการพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มีผลให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ บางคนที่หมดวาระไปแล้ว มีส่วนร่วมในการวินิจฉัยจะถือว่า ขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่ เพราะตุลาการที่ครบวาระ จะได้อยู่ต่อไป โดยจะมีการสรรตุลาการใหม่มาแทน เมื่อมีสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว นายปริญญา กล่าวว่า แน่นอนว่า มีประเด็นพวกนี้รวมอยู่ด้วย ที่ผ่านมาคสช.แก้ปัญหาด้วยการใช้มาตรา 44 ต่ออายุ แต่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีประเด็นเพิ่มเข้ามา เพราะผู้ตัดสินความชอบของกฎหมายว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็มีปัญหาทันทีว่า ตัวเองเป็นผู้มีส่วนได้เสีย โดยหลักทั่วไปหากโจทก์หรือจำเลย หรือผู้มีส่วนได้เสียร้องไป หากศาลตัวว่ามีส่วนได้เสีย ก็จะถอนตัวจากองค์คณะ หากไม่ทราบ หรือคิดว่าไม่มีส่วนได้เสีย แต่หากจำเลยร้องไป เขาก็จะต้องหลีกเลี่ยง ไม่ให้ถูกครหาได้ว่า มีส่วนได้เสีย

“แม้อันนี้ไม่ได้มีส่วนได้เสียโดยตรงเป็นรูปธรรม แต่เรื่องของการได้ประโยชน์ หากกฎหมายนี้ขัดหรือไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หากถามผม นี่ถือว่า มีส่วนได้เสีย ปัญหามีอยู่ข้อเดียวหากถอนตัวแล้วองค์คณะไม่ครบจะทำอย่างไร จะถึงขั้นเดธล็อกทางการเมืองหรือไม่ต้องไปดูกัน” นายปริญญา กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ บทเฉพาะกาล มาตรา 80 กำหนดให้ การสรรหาหรือคัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งแทนประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีเหตุให้พ้นจากตำแหน่งไม่ว่าเหตุใด และที่อยู่ต่อตามคำสั่งคสช.ที่ 23/2560 และ 24/2560 ให้ดำเนินการสรรหาและคัดเลือก เมื่อมีการประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ 2560

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image