บทนำ : สถานการณ์เปลี่ยน

การจับกุมและตั้งข้อหาแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ก่อให้เกิดกระแสไม่เห็นด้วยอยู่โดยทั่วไป นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงการดำเนินคดีกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง โดยเรียกร้องให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐคลี่คลายปัญหาการชุมนุมอย่างละมุนละม่อม และแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม เช่น พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ให้มีหลักเกณฑ์การใช้สิทธิชุมนุมที่ชัดเจน และสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่ไทยเป็นภาคีอยู่

ประธาน กสม.ยังชี้ว่า คำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ที่ห้ามมั่วสุมชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ได้ประกาศใช้มานานแล้ว แต่ขณะนี้สถานการณ์บ้านเมืองได้พัฒนาไปสู่โหมดการเลือกตั้ง รัฐบาลควรผ่อนปรนให้ชุมนุมทางการเมืองได้ คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 นี้ ออกมาใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2558 อันเป็นเวลาหลังการรัฐประหารไม่นาน โดยห้ามมั่วสุม หรือชุมนุม 5 คนขึ้นไป เว้นแต่เป็นการชุมนุมที่ได้รับอนุญาต หากฝ่าฝืนมีโทษทางอาญา จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ บัดนี้รัฐประหารได้ล่วงเลยมา 4 ปี สถานการณ์บ้านเมืองได้พัฒนาไปสู่โหมดการเลือกตั้ง ส.ส.แล้ว ควรที่รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐจะได้ผ่อนปรนให้มีการชุมนุมทางการเมืองได้ ในระยะยาวควรแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องการห้ามชุมนุมทางการเมือง

ความเห็นของประธาน กสม. เรื่องระเบียบหรือคำสั่งที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ ถือว่ามีน้ำหนักเหตุผลและรัฐบาลสมควรพิจารณา บ้านเมืองกำลังเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง แล้วทำไมยังเลือกจะนั่งจมกับสถานการณ์หลังรัฐประหาร แถมยังเอาผิดผู้ที่เรียกร้องให้การเมืองเป็นไปตามครรลอง การดำเนินการเช่นนี้ จะไม่เป็นผลดี และมีผลลดความชอบธรรมของรัฐบาลเอง ดังเมื่อปี พ.ศ.2516 รัฐบาลเผด็จการของจอมพลถนอม กิตติขจร ที่สืบทอดอำนาจจากรัฐบาลเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้จับกุมนักศึกษาประชาชน ที่เบื่อหน่ายต่อการอยู่ใต้รัฐบาลเผด็จการ และร่วมกันเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เรียกร้องประชาธิปไตย กลายเป็นชนวนให้เกิดการชุมนุมใหญ่ขับไล่รัฐบาลในเวลานั้น ที่เรียกว่า 14 ตุลาฯ 2516 ถือเป็นบทเรียนที่ต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจ อย่างน้อยๆ เพื่อมิให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยขึ้นมาอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image