รัฐหวั่นเกิดปัญหา จับตาคำถามพ่วงประชามติ ‘วิษณุ’ เผยจริงๆแล้วจะมีหรือไม่มีก็ได้

แฟ้มภาพ

“วิษณุ” เผยรัฐบาลติดตามปมคำถามพ่วงประชามติ หวั่นมีปัญหาตอนผลประชามติออก ระบุจะมี-ไม่มีคำถามก็ได้

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 7 เมษายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีคำถามพ่วงในการทำประชามติจะออกมาเป็นบวกหรือเป็นลบว่า หากออกมาบวกผลก็เป็นบวก หากออกมาเป็นลบผลก็เป็นลบ คำถามจะออกมาอย่างไรตนไม่ทราบเพราะไม่รู้จะฟังใครตอนนี้

เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะไม่มีคำถามพ่วงในร่างรัฐธรรมนูญ นายวิษณุกล่าวว่า เป็นไปได้ เพราะอาจจะมีหรือไม่มีก็ได้ ไม่ได้บังคับ และขณะนี้ไม่ได้มีการส่งสัญญาใดๆ ว่าไม่ต้องมีคำถามพ่วงหรือมีคำถามพ่วง ซึ่งรัฐบาลเองก็ติดตามเรื่องนี้อยู่ตลอดเพราะการตั้งคำถามต้องให้ดี หากไม่ดีก็จะมาเถียงกันตอนผลประชามติออก ซึ่งจะทำให้กรธ.แก้กฎหมายไม่ถูก ตนยอมรับว่าการตั้งคำถามพ่วงนั้นยาก

เมื่อถามว่าสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ไม่มีคำถามใดเหมาะสมกว่าคำถามเรื่องส.ว.จะเลือกนายกฯได้หรือไม่เพราะเป็นที่ถกถียงกันอยู่ขณะนี้ นายวิษณุกล่าวว่า คำถามที่เหมาะสมมีเยอะ แต่คำถามประชามติบังเอิญให้ถามคำถามเดียว จึงต้องคิดกันว่าจะจัดลำดับอย่างไร
เมื่อถามต่อว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้คำถามส.ว.เลือกนายกฯเป็นคำถามที่สำคัญที่สุด นายวิษณุกล่าวว่า ตนยังไม่แน่ใจว่าสนช.คิดแบบนั้น บางคนพูดอาจจะเป็นแบบนั้น แต่เมื่อเป็นมติของสนช.อาจจะคิดแบบอื่นเรายังไม่ทราบ

Advertisement

เมื่อถามว่าคำถามพ่วงมีผลต่อการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ขณะนี้ต้องแยกกับคนละเรื่อง คนที่ลงมติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญอาจจะลงความเห็นชอบด้วยความรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง แต่คำถามพ่วงเขาอาจจะไม่เห็นชอบฉะนั้นจึงไม่เกี่ยวกับ

เมื่อถามถึงกรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยืนยันว่าปชป.ไม่เห็นด้วยที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จะส่งคำถามพ่วงการทำประชามติที่ให้ ส.ว.มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีไปยังสนช. นายวิษณุกล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ เพราะยังไม่รู้ว่าจะตั้งคำถามอย่างไร คำถามบางอย่างที่เป็นคำถามพ่วงเวลาเอามาแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำตอบพ่วงสามารถเขียนได้หลายแบบ ดังนั้นคำอธิบายอาจไม่ต้องมีในคำถามแต่อาจจะมีในการโฆษณาอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ ซึ่งใครจะเป็นคนอธิบายนั้นตนไม่ทราบ ดังนั้นหากจะต้องมีคำถามพ่วงจะต้องมีคำอธิบายด้วยและนำคำอธิบายมาใช้ เพราะผู้เสนอญัตติต้องบอกเหตุผลญัตติ ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้เดือดร้อนกับคำถามที่จะมีหรือไม่มี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image