กสม.เร่งขับเคลื่อน ‘ธุรกิจกับสิทธิมนุษยนชน’ ดึงภาคเอกชนร่วมพัฒนาปท.บนหลักเคารพสิทธิฯ

กสม. ร่วมภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนดึงภาคธุรกิจมุ่งพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานการเคารพสิทธิฯ

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่าย ประกอบด้วยกระทรวงยุติธรรม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็ก (GCNA) ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) จัดการสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง “การขับเคลื่อนหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยมี พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้แทนนายกรัฐมนตรี เปิดการสัมมนา ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ

นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปีของการลงนามใน “ปฏิญญาเพื่อขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติในประเทศไทย” ขององค์กรภาคีเครือข่าย ซึ่งเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญระดับชาติในการขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (The United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights : UNGPs) ในประเทศไทย โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นสักขีพยาน เมื่อวันพุธที่ 31 พฤษภาคม 2560 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ นั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนหลักการชี้แนะฯ เกิดผลอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม จึงได้จัดการสัมมนาวิชาการระดับชาติดังกล่าวขึ้นในวันนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้รับรู้ถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจและเห็นถึงความสำคัญของการป้องกันมิให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเพื่อติดตามการดำเนินการตาม “ปฏิญญาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติในประเทศไทย” ให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเพื่อประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจให้มีการนำคู่มือ “การประเมินผลสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน” (Human Rights Due Diligence) ไปปรับใช้ในการประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืน

“กสม. มีความมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเชื่อมโยงหลักการชี้แนะฯ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal : SDGs) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนของธุรกิจและประเทศบนพื้นฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ กสม. จะได้ประมวลข้อมูล และข้อเสนอแนะต่าง ๆ จากการจัดสัมมนาในครั้งนี้จัดทำเป็นรายงานข้อเสนอแนะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป” นายวัส กล่าว

Advertisement

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้แทนนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การปฏิบัติตามหลักการชี้แนะฯ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน” สรุปว่า ภาคธุรกิจเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ดีการขยายตัวทางเศรษฐกิจย่อมก่อให้เกิดผลกระทบทางลบ เช่น การเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านต่าง ๆ เช่น สิทธิแรงงาน สิทธิในที่ดินทำกิน การใช้แรงงานเด็ก การค้ามนุษย์ เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีการดำเนินการที่สำคัญหลายประการเพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนหลักการชี้แนะฯ ให้เกิดผลในประเทศไทย อาทิ ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 ประกาศใช้วาระแห่งชาติ “สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเป็นประเด็นสำคัญหนึ่งในวาระแห่งชาติฯ นอกจากนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังได้ลงนามในสารเนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม2560โดยเน้นย้ำว่าธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลผลักดันและระบุให้รัฐวิสาหกิจไทยเป็นต้นแบบขับเคลื่อนหลักการชี้แนะฯ ดังกล่าว

โดยหน้าที่ของรัฐต่อประชาชนตามหลักการชี้แนะฯ เกี่ยวข้องกับเสาหลักเรื่องการคุ้มครอง (Protect) และการเยียวยา (Remedy) โดยมีการออกกฎหมายสำคัญ เช่น กฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายหลักประกันทางสังคม กฎหมายการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และกฎหมายอื่น ๆ อีกหลายฉบับ ในส่วนของภาคธุรกิจก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามเสาหลักในการเคารพ (Respect) ซึ่งบริษัทต้องรู้และแสดงว่าตนเองได้เคารพสิทธิมนุษยชนในกระบวนการดำเนินงานตั้งแต่ระดับนโยบายไปจนถึงระดับปฏิบัติ หากบริษัทพบว่าเป็นสาเหตุของผลกระทบทางลบก็ต้องจัดให้มีกระบวนการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ บริษัทควรจัดให้มีกระบวนการตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งหาวิธีป้องกันและเยียวยาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจควรทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับผู้ประกอบการเอกชนในการเคารพสิทธิมนุษยชนด้วย

หลังจากนั้น มีการอภิปรายเรื่อง “การปฏิบัติตามปฏิญญาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติในประเทศไทย” โดยผู้แทนภาคส่วนต่าง ๆ ที่ร่วมลงนามในปฏิญญาขับเคลื่อนหลักการชี้แนะฯ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2560

นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า ปฏิญญาเอดินเบอระ ซึ่งระบุถึงบทบาทหน้าที่ของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กำหนดให้ กสม. ขับเคลื่อนและเผยแพร่หลักการชี้แนะฯ ดังกล่าว โดยที่ผ่านมา กสม. ได้ดำเนินการแปลเอกสารหลักการชี้แนะฯ เผยแพร่ไปยังทุกภาคส่วน ดำเนินการศึกษาวิจัยในเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน รวมทั้งจัดทำคู่มือประเมินความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านและรายการตรวจสอบของภาคธุรกิจเพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถนำหลักการชี้แนะฯ ไปใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ภายหลังการลงนามร่วมกันในปฏิญญาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนหลักการชี้แนะฯ เดือนพฤษภาคม 2560 กสม. ได้รับฟังปัญหาจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชนและภาคประชาสังคมต่อประเด็นปัญหาเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และได้รวบรวมเป็นข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเพื่อประกอบการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนต่อไป

นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 26 มีนาคม – 4 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศโดยความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรีได้เชิญคณะทำงานของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนมาเยือนประเทศไทย โดยคณะทำงานฯ ได้ชื่นชมผู้นำไทยที่แสดงเจตนารมณ์อย่างเข้มแข็งในการขับเคลื่อนเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนและชื่นชมไทยในฐานะประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียที่จะมีแผนปฏิบัติการระดับชาติในเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ดี คณะทำงานฯ ยังมีข้อห่วงใยที่สำคัญ เช่น การมีส่วนร่วมของชุมชน กลไกการหารือกับผู้มีส่วนได้เสียและการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ การลงทุนอย่างรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจสัญชาติไทยในต่างแดน และการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่นำเสนอปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนให้สังคมได้ทราบด้วย

นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ภายหลังการลงนามในปฏิญญาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนหลักการชี้แนะฯ รัฐบาลได้มอบหมายให้กรมฯ จัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ขณะนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ร่วมกันจากทุกภาคส่วน โดยได้นำข้อเสนอแนะจากคณะทำงานของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนมาประกอบในการยกร่างแผนปฏิบัติการฯ ด้วย สำหรับสาระในแผนปฏิบัติการฯ จะประกอบด้วย 4 ประเด็นสำคัญในเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน อันได้แก่ ประเด็นแรงงาน ที่ดินและทรัพยากร นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และการลงทุนข้ามชาติ ทั้งนี้ เมื่อยกร่างแผนปฏิบัติการฯ แล้วเสร็จ จะนำไปสู่การรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกภูมิภาคและเสนอต่อ ครม. เพื่อประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไป

นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ผู้แทนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา กกร. ได้ดำเนินการส่งเสริมการทำธุรกิจอย่างเคารพสิทธิมนุษยชนในหลายส่วน เช่น ด้านแรงงาน มีการขับเคลื่อนในเรื่องยุทธศาสตร์และนโยบายการจ้างงานผู้สูงอายุ ส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ สนับสนุนการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายแรงงานต่างด้าว และการสนับสนุนเรื่องแรงงานสัมพันธ์ในการรวมกลุ่มเจรจาต่อรอง เป็นต้น นอกจากนี้ กกร. ยังจะมีการส่งเสริมการให้สินเชื่ออย่างมีจริยธรรมในภาคธนาคาร การทำธุรกิจที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเน้นให้ภาคเอกชนมีระบบการบริหารจัดการที่ดี ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ กกร. มุ่งมั่นและให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างมาก และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนต่อไป

ด้าน ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร รองเลขาธิการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย กล่าวว่าสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กของสหประชาชาติ ประกอบด้วยองค์กรธุรกิจกว่า 14,000 องค์กรทั่วโลกใน 160 ประเทศ ไม่นานมานี้ องค์กรธุรกิจในประเทศไทยกว่า 40 บริษัทได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กในประเทศไทย โดยมีเจตนารมณ์ร่วมกันในการทำธุรกิจที่ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน หลังจากที่เครือข่ายได้ร่วมลงนามในปฏิญญาเพื่อขับเคลื่อนหลักการชี้แนะฯ แล้วนั้น สิ่งที่ได้ร่วมกันทำประการแรกคือการสื่อสารและสร้างความเข้าใจในองค์กรตั้งแต่ระดับผู้บริหารจนถึงระดับผู้ปฏิบัติงานให้เข้าใจในเรื่องการทำธุรกิจที่เคารพสิทธิฯ การหาพันธมิตรความร่วมมือ และการดำเนินกิจกรรมที่คำนึงถึงผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นเรื่องที่องค์กรธุรกิจทุกวันนี้ต่างให้ความสำคัญ เพราะปัจจุบันมิใช่เพียงผู้บริโภคที่เลือกบริโภคสินค้าจากบริษัทที่มีธรรมาภิบาลเท่านั้น แต่นักลงทุนยังให้ความสนใจลงทุนในบริษัทที่รับผิดชอบต่อสังคมซึ่งจะเติบโตอย่างยั่งยืนด้วย หลังจากนี้เครือข่ายฯ หวังว่าจะได้มีการพัฒนาคู่มือการนำหลักการเรื่องธุรกิจและสิทธิมนุษยชนไปใช้ในทางปฏิบัติได้จริง เช่น คู่มือที่ กสม. ได้จัดทำขึ้น รวมทั้งจะมีการรวบรวมกรณีตัวอย่างในประเทศไทย เพื่อให้เกิดการดำเนินการตามหลักการชี้แนะฯ ที่ได้ผลจริงต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image