ปนัดดาเสียงสั่น ถามกลางวงเสวนา ปมเจ้าหน้าที่จับพระผู้ใหญ่

 

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ในช่วงท้ายการเสวนา “มาตรการเลี่ยงโทษจำคุกก่อนมีคำพิพากษา” ซึ่งจัดโดยกรมราชทัณฑ์ หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ซึ่งเข้าร่วมฟังได้ถามด้วยเสียงสั่นเครือว่า กรณีพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ที่เกิดขึ้นในไทยนั้น ที่เจ้าหน้าที่ดำเนินการนั้นชอบหรือไม่ชอบ เพราะเหตุครั้งนี้ทำร้ายจิตใจคนไทยมาก อยากขอคำตอบเพื่อให้เป็นความสบายใจของคนไทย และกล่าวเพิ่มเติมว่าไม่ได้หมายถึงท่านพระพุทธะอิสระ แต่อยากถามถึงกรณีพระผู้ใหญ่เช่นวัดสระเกศหรืออีกหลายรูปที่คนไทยเคารพนับถือ ซึ่งตนได้ขออนุญาตพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ที่มาเป็นประธานในงานก่อนถามแล้ว

พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด คณะกรรมการราชทัณฑ์และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนตอบว่า ความรู้สึกส่วนตัวตนคิดไม่ถึงว่าผู้ทรงศีลในระดับต้นๆ จะมีพฤติการณ์เช่นนี้ เป็นห่วงสังคมไทยจะเอาตัวแบบไหนให้เยาวชนยึดโยง มีข่าวว่าพระมีเงินถึงร้อยล้าน ถามว่าอย่างเราถ้าไม่ทำธุรกิจใหญ่โตจะเป็นไปได้ไหม เคยพูดกันว่าก่อนมีเรื่องเงินทอนว่าควรต้องดูกลไกวัดว่าได้เงินมาจากกิจการวัดตรงไหนและให้เอากลับเข้าบัญชีวัดให้หมด มีคณะกรรมการดูแลกองกลาง ถ้าทำได้แม้จะไม่ทั้งหมดแต่ดีกว่าไม่มีอะไรเลยแล้วทุกอย่างจะเข้ารูปเข้ารอย

Advertisement

ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัดสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า กรณีนี้ทราบไหมว่ามีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมภายหลังว่าพระไม่รู้เรื่องเลยในการจัดสรรงบประมาณจากสำนักพุทธและนำเงินนี้ไปใช้จริง ไม่ใช่เรื่องเงินทอนวัด คนละเรื่องกัน ก่อนแจ้งข้อหาต้องชัด จะดำเนินคดีกับใครต้องชัดเจน ไม่ใช่ดูคร่าวๆแล้วผลีผลามทำ รอดูเรื่องนี้ว่าเมื่อเข้าสู่ชั้นอัยการแล้วจะสั่งอย่างไร ถ้าสั่งไม่ฟ้องก็ถือเป็นการเสียหายต่อวงการพระอย่างยิ่งใหญ่ เราอาจต้องทบทวนเรื่องการแจ้งข้อหา การจับ สืบสวนสอบสวนให้ชัดเจนกว่านี้ก่อนจับกุม ส่วนชั้นการขังก่อนพิจารณา ผมยืนยันว่าถ้าเขาเป็นผู้กระทำผิดจริงก็มีหลายมาตรการ แต่ถ้าเขาไม่ผิดจะไม่มีสิทธิทำอะไรเขา เขาไม่ควรต้องได้รับการกระทำอะไรเลย ก่อนจะพูดว่าจะประกันตัวหรือไม่ควรกรองเอาคนไม่ผิดออกก่อน

ดร.ดล บุนนาค ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯกลาง กล่าวว่า ตนเข้าใจความรู้สึกของ พระที่บวชมาแต่เด็ก รู้ธรรมะเจริญสายพระมา 30-40 ปีแล้วต้องสึก คือการทำลายชีวิต เมื่อเราดำเนินการโดยใช้กฎหมายที่ใช้บังคับกับบุคคล และเข้าใจพนักงานที่ทำงานว่าต้องรักษามาตรฐานเดียวกัน จะได้ไม่ถูกตำหนิ

“การบังคับใช้กฎหมายต้องเท่าเทียมกันไม่ว่าเป็นใคร ซึ่งไม่ผิดแต่ไม่ถูก เพราะต้องมีดุลพินิจ อำนาจจับเป็นของตำรวจ โดยศาลออกหมายให้ ตำรวจไม่จำเป็นต้องจับตามหมาย ถ้าเขายอมให้จับก็ไม่ต้องชูหมาย ตอนนี้เราขาดดุลพินิจการใช้อำนาจอย่างสมดุลพอดี ในมุมมอง ป.วิอาญาไม่มีกฎหมายเขียนเรื่องจับสึก แต่ก็มีปัญหาเรื่องสึกทางธรรมกับสึกทางโลก พระที่ไม่กล่าววาจาสึกแม้ไม่ห่มผ้าเหลืองแล้วแต่ทางธรรมยังเป็นพระอยู่ แต่ทางโลกถือว่าสึกเพื่อเข้าเรือนจำ เรียกว่าถูกจับสึก ปัญหาทางธรรมเป็นเรื่องความรู้สึกจิตใจ เวลาออกหมายจับบุคคลบางประเภท เช่นสถานทูตไม่สามารถบุกเข้าไปจับได้ แต่พระไม่ได้เขียนไว้ แล้วถ้าจะเขียนต้องเป็นวัดระดับไหน ก่อนจับต้องบอกเจ้าอาวาสไหม กฎหมายไม่มีเรื่องกระบวนการจับพระ กระบวนการตรวจค้นจับกุมต้องทำเหมือนคนธรรมดาไหม เมื่อมีคนกล่าวหาพระที่คนนับถือ ตำรวจก็ไม่มีเครื่องมืออื่นรองรับ ถ้ามีทางเปิดให้ทุกคนจะสบายใจ” ดร.ดลกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image