โครงร่างตำนานคน : สัญญา สถิรบุตร พยายามด้วยห่วงใย : โดย การ์ตอง

สัญญา สถิรบุตร
พยายามด้วยห่วงใย

ประเทศที่ประกาศความเป็นประชาธิปไตยให้ทั่วโลกรับรู้ บริการด้วยระบบผู้แทนประชาชน แต่กลับกลายเป็นว่า ความรู้สึกนึกคิดของประชาชนถูกต้อนไปทางที่มอง “นักการเมือง” เป็น “กลุ่มคนที่มีแต่ความเลวร้าย เข้ามาเสวยอำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง สร้างความเสียหายให้ประเทศโดยรวม เป็นต้นทางของการทุจริตคอร์รัปชั่นอันเป็นเสมือนมะเร็งร้ายทำลายการพัฒนาประเทศ”
เหตุต้นตอของเหตุผลที่ทำให้เกิด “รัฐประหาร” โดยกองทัพ
ตามด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญที่จำกัดบทบาทของผู้ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน พร้อมกับขยายโอกาสเข้าสู่อำนาจให้กับกลุ่มบุคคลที่ไม่มีอะไรยึดโยงกับประชาชน
แม้รัฐบาลในท่วงทำนองดังกล่าวนี้จะผ่านปฏิบัติการที่เรียกว่า “ประชามติ” อันหมายถึงประชาชนส่วนใหญ่เห็นดีเห็นงามด้วยอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร
แสดงถึงความชอบธรรมที่จะจัดการให้การบริหารประเทศดำเนินไปตามโครงสร้างอำนาจดังกล่าว
แต่มีหลายคนที่ห่วงใยว่าชะตากรรมของนักการเมืองจากการเลือกตั้งของประชาชนว่าจะถูกแช่แข็งไว้ด้วยรัฐธรรมนูญเช่นนี้
บางคนได้แต่ห่วงใยโดยไม่ได้ทำอะไรมากกว่าไปนั้น แต่มีจำนวนหนึ่งที่ห่วงใยแล้วพยายามเคลื่อนไหวเพื่อหาทางปรับเปลี่ยนไปสู่หนทางที่ดีขึ้นสำหรับอำนาจ “ของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน”
สัญญา สถิรบุตร เป็นหนึ่งในกลุ่มหลัง
ในความเป็นจริง สัญญา สถิรบุตร ถอยห่างจากเทวีการเมืองไกล จนไม่คิดว่าจะกลับมาอีกแล้ว ทั้งที่ก่อนหน้านั้นมีบทบาทโดดเด่นไม่น้อยในฐานะนักยุทธศาสตร์การเมืองที่เชี่ยวชาญการจัดระบบ
แต่เมื่อถึงวันที่ภาพลักษณ์ของ “นักการเมืองจากการเลือกตั้งของประชาชน” ตกต่ำจนกลายเป็นที่รังเกียจเดียดฉันท์ของคนกลุ่มต่างๆ สัญญา สถิรบุตร เกิดอาการยากจะทนไหว
หลังจากรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้เป็นต้นมา ใครที่รู้จักมักคุ้นกับ “นักการเมืองเก่าที่ทำท่าจะลาเวที” ผู้นี้ จะรับรู้ว่า สัญญา สถิรบุตร ได้พยายามอย่างเต็มในอันที่จะกอบกู้ “ศักดิ์ศรีของนักการเมืองจากการเลือกตั้ง” ขึ้นมาให้อยู่ในศรัทธาของประชาชน
สิ่งที่ “สัญญา” พยายามทำคือ การเดินสายให้ช่วยกับกระตุ้นความคิดกับ “พรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค” คือ “เพื่อไทย” กับ “ประชาธิปัตย์” ให้วางทิฏฐิมานะที่มีต่อกันลงชั่วคราว ขอให้หาทางร่วมมือกันเพื่อ “นำอำนาจบริหารประเทศกลับสู่นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” ไม่ปล่อยให้ “บุคคลบางกลุ่ม” ใช้ความขัดแย้งระหว่าง 2 พรรคใหญ่ เป็นช่องทางที่จะ “สืบทอดอำนาจ”
“ต้องโกรธ ต้องเกลียดกันชั่วชีวิต ประเทศชาติจะได้ประโยชน์อะไร ถึงเวลาแล้วที่ฝ่ายการเมืองต้องรวมพลังกันนำประชาธิปไตยกลับคืนมาให้ได้” คือสิ่งที่ สัญญา สถิรบุตร ถือเป็นภารกิจที่ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการนัดพบพูดคุยกับคนวงการต่างๆ โดยเฉพาะผู้นำพรรคการเมือง เพื่อขอให้ช่วยกันกอบกู้ “ศรัทธาต่อนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง” ให้กลับมาให้ได้
ความพยายามที่จะทำความเข้าใจถึงความจำเป็นที่ “พรรคการเมือง” จะต้องจับถือกันเพื่อนำประชาธิปไตยกลับคืนมาดังกล่าวนี้ เป็นที่รู้กันอยู่ว่า สัญญา สถิรบุตร บำเพ็ญเพียรพบปะผู้คนเพื่อการนี้มาเป็นปีแล้ว
ด้วยความห่วงใยว่า หลังเลือกตั้งหากพรรคการเมืองยังมีทิฏฐิมานะต่อกัน “ประชาธิปไตยไทยจะถูกกลบฝังไปยาวนาน”
ถึงวันนี้ หลังกำหนดการเลือกตั้งน่าจะแน่นอนมากขึ้นแล้ว
ทำให้ สัญญา สถิรบุตร ในฐานะ “ผู้เชื่อมั่นในนักการเมืองจากการเลือกตั้งของประชาชน” ดูจำเป็นต้องเร่งภารกิจทำให้พรรคการเมืองหันหน้าเข้ากัน จับมือกันเพื่อกู้ศรัทธาประชาชนน่าจะยิ่งต้องเร่งให้เห็นโอกาสสำเร็จมากขึ้น
จะเป็นไปได้แค่ไหน มีแต่ต้องติดตาม และเป็นกำลังใจให้

การ์ตอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image