สัมภาษณ์พิเศษ “เพิ่มศักดิ์ จะเรียมพันธ์” ถอดรหัสความขัดแย้งการเมืองไทย

หมายเหตุ – นายเพิ่มศักดิ์ จะเรียมพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มีผลงานการวิจัยข้อถกเถียงเรื่องที่มาและอำนาจหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 กับ 2550 ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” เกี่ยวกับประเด็นร้อนทางการเมือง โดยเฉพาะข้อถกเถียงเกี่ยวกับที่มาและอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาในปัจจุบัน

– ในฐานะนักวิชาการรุ่นใหม่ มองการเมืองไทยในปัจจุบันอย่างไร

ก่อนที่จะตอบคำถามข้อนี้ ต้องย้อนกลับไปที่เรานิยามว่า “การเมือง” คืออะไรกันแน่ สำหรับผม ผมเห็นด้วยกับคำนิยามของ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร ว่า การเมืองมันคือวิถีหรือระเบียบแห่งการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ พอเราเอานิยามการเมืองแบบนี้มามองการเมืองไทยในปัจจุบันผมว่ามันไม่ใช่การเมืองแล้ว ไล่เหตุการณ์ย้อนกลับไปเลยสิบกว่าปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มันไม่ใช่วิถีหรือระเบียบแห่งการอยู่ร่วมกันแล้ว แต่มันคือการยุทธ์ การรบ หรือการสงครามมากกว่า ทุกฝ่ายเลยไม่มีข้อยกเว้น นักการเมือง ทหาร ตำรวจ นักวิชาการ นักกิจกรรม นักศึกษา ผมเห็นแต่ละฝ่ายจ้องจะเอาชนะคะคานกันอย่างเดียว พูดกันตรงๆ ฝั่งเสื้อแดงขึ้นก็บี้เสื้อเหลือง เสื้อน้ำเงิน เสื้อเขียวให้ตายไปข้าง เสื้อเหลืองเสื้อน้ำเงินขึ้นก็บี้เสื้อแดงให้ตายไปอีกข้าง สุดท้ายบี้กันเองจนเละ เสื้อเขียวเข้ามาก็จัดการทุกฝ่าย อย่างที่เห็นๆ กันอยู่

– ทำไมถึงมองว่าเป็นการรบ

ผมถือว่าสิบกว่าปีที่ผ่านมามีแต่สัญญาณอันตรายของการเมืองไทย สังคมของเรามาถึงจุด ที่น่าเป็นห่วงมาก ดูเหมือนว่าเราไม่อยากจะอยู่ร่วมกันแล้ว ที่มันน่ากลัวคือสังคมเราแบ่งขั้วแบบสุดโต่ง ไร้เหตุผลกันมากขึ้นเรื่อยๆ ใครมีแนวคิดทางการเมืองเป็นเสื้อสีอะไรก็เห็นตัวเองถูกอยู่พวกเดียว พวกอื่นผิดหมด บ้านเมืองเรามาถึงจุดๆ นี้ได้อย่างไร ไม่ดูเหตุดูผลกันแล้ว แต่ไปดูที่เป็นพวกใคร เป็นฝ่ายไหน ถ้าไม่ใช่กลุ่มตัวเองแค่อ้าปากก็ผิดแล้ว แล้วผมคิดว่ามันเป็นกันทุกกลุ่ม แย่พอกันทั้งหมด

Advertisement

– ถ้ากรอบคิดในการมองการเมืองไทยเป็นแบบนี้ อนาคตการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร

พูดกันตรงๆ เลย เละ ซีเรียแน่นอน ผมว่าถ้าปล่อยไปแบบนี้มีการเลือกตั้ง ผมไปคุยกับหลายคนทั้งเพื่อนนักวิชาการด้วยกัน นักศึกษา ชาวบ้านทั่วไป ทุกคนตอบตรงกันเลย มันกลับมาตีกันอีกแน่นอน แล้วทหารก็อาจจะเข้ามาอีกด้วยซ้ำ อันนี้ผมว่าพวกเราต้องรับผิดชอบร่วมกันทั้งหมด ทั้งนักการเมือง นักวิชาการ นักกิจกรรม ตำรวจ ทหาร ประชาชนทุกฝ่าย ที่เราทำให้สังคมไทยมาถึงจุดๆ นี้ได้ จุดที่คนไม่รู้จักกัน แต่อยู่คนละกลุ่มการเมือง หรือแม้แต่รู้จักกัน เป็นเพื่อนกัน แต่มาไล่ประหัตประหารกันเพราะอยู่คนละกลุ่มการเมือง ผมว่ามันไม่ใช่แล้ว ตกลงเราจะอยู่ร่วมกันได้ไหม ทำไมมีอะไรไม่พูดไม่จากัน เราใช้ความบาดหมางทางการเมืองมาแบ่งแยกพวกเราออกจากกัน เลิกคบกัน เกลียดกัน ไม่มองหน้ากัน เป็นศัตรูกัน ผมยังเคยเป็นเลย แต่ตอนนี้ผมสำนึกผิดแล้ว เลิกเถอะ คุณไปดูในประเทศซีเรียเลย แรกๆ มันก็เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางความคิดแบบเรานี่แหละ สุดท้ายตกลงกันไม่ได้ ก็จับอาวุธเข้าห้ำหั่นกัน ใครเริ่มก่อนไม่รู้ แต่ที่รู้ๆ เกิดการฆ่ากันแล้ว ลองนึกภาพดู ถามว่าเราจะเอาอย่างนั้นหรือ ผมคนหนึ่งที่ไม่เอา และเชื่อว่าพวกเราทั้งหมดไม่มีใครเอาหรอก

– ทางออกจากวิกฤตนี้ควรจะเป็นอย่างไร

ผมขอพูดเรื่องของตัวเองนิดหนึ่ง ผมถือว่ามีโอกาสดีที่ตอนเรียนปริญญาโทได้มีโอกาสเป็นผู้ช่วยวิจัยที่ศึกษาวิธีคิดของกลุ่มเสื้อเหลืองและเสื้อแดง พูดกันตรงๆ เมื่อก่อนผมก็เป็นคนฮาร์ดคอร์

สุดขั้วเหมือนกัน แต่พอเราได้ลงไปสัมผัสพี่น้องเสื้อแดงและเสื้อเหลืองอย่างใกล้ชิด มันเห็นเลยว่าเขาหวังดีต่อบ้านเมืองด้วยกันทั้งคู่ ผมเชื่อว่าคนเราพอสัมผัสกันมันมองกันออก มันอ่านใจกันออก ในยุคนี้ก็เหมือนกัน ทหารก็ไม่ได้แย่กันทั้งกองทัพ หรือแม้แต่ตัวเราเองยังมีดี มีชั่ว มีถูก มีผิดกันทั้งหมด

ในการศึกษาปรัชญาการเมือง มันมีแนวการศึกษาหนึ่งที่ศึกษาความคิดของนักปราชญ์ทางการเมืองว่า ให้พยายามทำความเข้าใจ เหมือนที่ปราชญ์คนนั้นเข้าใจตัวเอง ผมว่าเราเอาวิธีนี้มาประยุกต์ใช้ก่อนได้ เริ่มจากตัวเราเองก่อน เคยเข้าใจพี่น้องเสื้อแดง เสื้อเหลือง กปปส. เหมือนที่เขามองตัวเองไหม ลองกับคนใกล้ตัวดูก่อนก็ได้ แม้แต่ตัวเราเองก็ตาม มันมีไหม ที่ความเห็นตัวเองถูกไปทั้งหมดไม่ผิดเลย หรือว่าเราเห็นว่าตัวเราผิดหมดไม่มีถูกเลย ไม่มีหรอก ไอ้วิธีคิดประเภทคนอื่นผิดหมด โทษทุกอย่างยกเว้นตัวเองต้องเลิกเสียที ถ้าคิดอย่างนี้ได้ก่อน อคติหรือการเหมารวมที่มันนำไปสู่ความขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มมันจะเบาบางลง มันจะเริ่มคุยกันได้ คุยกันรู้เรื่อง ถอยคนละก้าวบ้าง สังคมเราจึงพอจะเห็นทางออกจากวิกฤตนี้

– เรื่องที่มาของวุฒิสภาที่อาจารย์ให้ความสนใจในการศึกษา มันมีความสัมพันธ์กับปัญหาประชาธิปไตยของไทยอย่างไร

ถ้าเรามองย้อนไปในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าหัวใจสำคัญของความขัดแย้งมันอยู่ที่การทะเลาะกันเรื่องสาระของประชาธิปไตย ทุกกลุ่มการเมืองไม่มีกลุ่มไหนที่ไม่ต้องการประชาธิปไตยหรือไม่อ้างเอาประชาธิปไตยเป็นเป้าหมาย ดูชื่อแต่กลุ่มการเมืองก็ได้ มีคำว่าประชาธิปไตยอยู่ในชื่อทุกกลุ่ม

ดังนั้นถามว่าทำไมทุกคนที่ต้องการประชาธิปไตยเหมือนกันหมดแต่ดันมาทะเลาะกันเอาเป็นเอาตาย ผมว่ามันต้องกลับไปดูที่ลักษณะของระบอบประชาธิปไตย หรือตัวแบบประชาธิปไตยที่แท้จริงมันเป็นอย่างไร พอเราศึกษาลงลึกไปที่ลักษณะของระบอบประชาธิปไตยจริงๆ เราจะพบว่ามันเป็นระบอบที่มีความซับซ้อนและวิวัฒนาการมาตลอดสองพันกว่าปี ประชาธิปไตยสมัยใหม่ปัจจุบันมันประกอบไปด้วยสามหลักใหญ่ คือ หนึ่ง หลักการปกครองปวงชนหรือหลักเสียงข้างมาก (Popular Government/Majoritarian) ที่มีกลไกสำคัญคือการเลือกตั้ง สอง หลักเสรีนิยม (Liberalism) คือรัฐบาลของปวงชนนั้นมีอำนาจจำกัด และการใช้อำนาจนั้นต้องมาจากการยินยอมของพลเมือง (Limited Government/Government by Consent) หมายความว่า รัฐบาลที่มาจากปวงชนนั้นไม่ใช่ว่าเข้ามาแล้วจะทำอะไรก็ได้ จะออกนโยบายกลั่นแกล้ง

หรือรังแกใครตามอำเภอใจไม่ได้ ถ้าทำแบบนี้เขาเรียกว่าทรราชของเสียงส่วนมาก สาม หลักการยึดประโยชน์สาธารณะเป็นใหญ่ (Republicanism) กล่าวคือ การปกครองตามหลักการข้อหนึ่งและสอง จะต้องเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม ของทุกคน ทุกกลุ่ม รวมไปถึงประชาชนที่ไม่มายุ่งเกี่ยวการเมืองด้วย

พูดอย่างง่ายที่สุด พอเอาหลักการนี้มาจับกับปัญหาเรื่องวุฒิสภา เราจะเห็นภาพว่า เราทะเลาะกันอยู่บนสามหลักการดังกล่าวทั้งสิ้น คือวุฒิสภาของเรากำหนดให้ทำหน้าที่เป็นฝ่ายตรวจสอบถ่วงดุลสภาผู้แทนราษฎรและฝ่ายบริหาร ทีนี้ปัญหามันเกิดจากฝ่ายหนึ่งไปยึดหลักการเลือกตั้งอย่างเดียว อีกฝ่ายหนึ่งก็เห็นถึงปัญหาของความอันตรายของการทับซ้อนกันระหว่างสิทธิอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภาว่าถ้ามันพวกเดียวกัน เป็นญาติพี่น้องผัวเมีย แล้วมันจะตรวจสอบถ่วงดุลกันได้อย่างไร ถามว่าใครถูกใครผิด ผมก็ตอบได้ทั้งสองฝ่ายนั่นแหละถูก และทั้งสองฝ่ายก็ผิดไปพร้อมๆ กัน อย่างที่บอกว่าประชาธิปไตยมันยึดหลักการใดโดดๆ ไม่ได้ ถ้ายึดเลือกตั้งอย่างเดียวมันก็อันตรายของเสียงข้างมาก ถ้าไม่เอาเลือกตั้งเลยมันก็อันตรายของเสียงส่วนน้อย ในความคิดเห็นของผม ประชาธิปไตยมันต้องสอดคล้องกับทั้งสามหลักการข้างต้น ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปไม่ได้เลย

– มองอย่างไรกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ กรธ.ในประเด็นเรื่องที่มาของ ส.ว.

ผมเคยเสนอในงานวิจัยว่า เราควรที่จะออกไปจากความสุดโต่งในสองทางนี้ กล่าวคือ หนึ่ง เราต้องยอมรับว่า สิทธิอำนาจใดๆ ในการปกครอง ไม่ว่าจะเป็นอำนาจในการบริหาร หรืออำนาจในการตรวจสอบถ่วงดุล มันต้องสัมพันธ์กับประชาชนหรือกับเมืองตามหลักที่ผมบอกไปข้างต้น และสอง ในแง่ของสถาบัน ส.ว. สิทธิอำนาจในการคานหรือการตรวจสอบถ่วงดุลนั้นจะต้องไม่ทับซ้อนกับสิทธิอำนาจที่มาจากฝ่ายบริหาร กล่าวคือ ประเด็นความขัดแย้งที่ผ่านมา มันอยู่ที่ตกลงจะให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แบบรัฐธรรมนูญปี 40 ซึ่งผมก็เห็นว่ามีปัญหาในแง่สภาผัวเมียจริงๆ และการให้ ส.ว.มาจากการสรรหา ซึ่งมันก็ขัดกับหลักการปกครองของปวงชนอีก รธน.ฉบับ กรธ.ก็เหมือนกัน มันสะวิงไปอยู่ที่ความเป็นทรราชเสียงส่วนน้อย แน่นอนว่ามันจะ

ก่อปัญหาที่ตามมาแน่นอน เพราะอีกฝั่งจะสามารถเอาไปอ้างได้ว่าละเมิดหลักประชาธิปไตย กลายเป็นเหตุหรือข้ออ้างในการระดมให้เกิดวิกฤตความชอบธรรมต่อสถาบัน ส.ว.เข้าไปอีก ถ้าเราจะอยู่ร่วมกันให้ได้ เราต้องพยายามลดเหตุที่จะนำไปเป็นข้ออ้างหรือข้อที่แต่ละฝ่ายติดใจให้มากที่สุด ประนีประนอม และถอยคนละก้าวบ้าง

– ข้อเสนอเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นอย่างไร

ผมว่ามันมีทางที่สาม ที่ไม่ใช่ทั้งทรราชเสียงส่วนมากและทรราชของเสียงส่วนน้อย หรือทางสองแพร่งระหว่างที่สื่อชอบพูดคือการเลือกตั้งกับลากตั้ง คือ ผมเสนอให้ ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แต่การเลือกตั้งนั้นจะต้องไม่ทับซ้อนกับ ส.ส. ดังนั้นคุณจะทำอย่างไรก็ได้ที่ต้องไม่ให้เป็นสภาผัวเมีย ไม่ให้ฮั้วกันอีก ทำให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลกันได้ แต่ในขณะเดียวกัน ต้องตอบคำถามของฝ่ายที่นิยมการเลือกตั้งได้ว่าไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ ไม่ให้ใครนำไปเป็นเหตุในการปลุกระดมต่อต้านอีก คุณก็กำหนดคุณสมบัติเข้าไป สถาบันทางการเมืองมันเป็นเรื่องที่ออกแบบได้ เช่น ใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง มีการกำหนดคุณสมบัติไม่ให้ผัวเมีย ญาติพี่น้อง หรือคนที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองเข้ามาเป็น ไม่ต้องมีการหาเสียง เพราะถือว่าคนที่จะมารับบทบาทนี้มันต้องสร้างชื่อเสียงอย่างเป็นที่ประจักษ์แล้ว ก็ตกลงกัน คุยกัน ผมเชื่อว่าเราก็จะได้คนที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้ กล่าวคือ มาทำหน้าที่ในการคานอำนาจรัฐบาล และมีความสัมพันธ์กับฉันทานุมัติของประชาชน มีความสุขกันทั้งสองฝ่าย

– กรณีจะมีการตั้งคำถามพ่วงประชามติ เรื่องการเพิ่มอำนาจให้ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีได้

ผมคิดว่ามันย้อนกลับไปในสิ่งที่ผมพูดตั้งแต่แรก คือเราไม่คุยกันตั้งแต่แรก โดยเฉพาะคู่กรณีที่มีความเห็นขัดแย้งกันระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนเลือกตั้งกับสรรหา มองกันยาวๆ ทีนี้เมื่อฝ่ายที่เห็นปัญหาของการเลือกตั้งเข้ามีมามีอำนาจ มันก็กลายเป็นการสะวิงกลับไปที่การสรรหาหรือลดทอนความอันตรายจากปัญหาเสียงข้างมาก แบบ รธน.ปี 2550 เช่นเดียวกัน ถ้าฝ่ายนิยมเลือกตั้งเข้ามามีอำนาจ ก็จะแก้ไปอีกทางที่เขาได้เปรียบ เช่นเดียวกับความพยายามนำเอาโมเดล รธน.ปี 2540 มาใช้ อย่างเช่นความพยายามแก้รัฐธรรมนูญของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จนเกิดความวุ่นวายตามมาอย่างที่เห็นกัน คือเราไม่ได้หาทางออกร่วมกันเลย สุดท้ายทะเลาะกัน ตีกันอีก ที่เสียหายคือบ้านเมืองส่วนรวมเหมือนเดิม

– ในฐานะนักรัฐศาสตร์ประเมินเรื่องความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด และหากเป็นแบบนี้จริงจะนำไปสู่อะไร

สิ่งที่น่ากลัวก็คือ มันสะท้อนวิธีคิดแบบข้าถูกเสมอ คนอื่นผิดหมด เมื่อเราไม่ได้คุยกัน เราไม่ได้เคลียร์ใจกัน อย่างที่ผมพูด คือสุดท้ายเราไม่สามารถละเลยพี่น้อง นปช. นักกิจกรรม หรือนักวิชาการที่นิยมการเลือกตั้ง (ส.ว.) ได้ สุดท้ายมันก็จะย้อนกลับไปที่ปัญหาที่ รธน.ปี 50 และ รธน.ครึ่งใบที่ในอดีตเผชิญ คือฝั่งนี้ก็จะมีประเด็นในใจที่สามารถนำไปขยายผล หรือปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชังต่อสถาบันทางการเมืองต่อ รธน. จะก่อให้เกิดปัญหาตามมาอีก พูดภาษาชาวบ้านก็คือมีประเด็นไปปลุกม็อบอีกนั่นแหละ

สุดท้ายผมอยากจะฝากว่า การเมืองมันคือวิถีแห่งการอยู่ร่วมกัน โดยเฉพาะการออกแบบสถาบันทางการเมือง ที่จะต้องขจัดข้อที่ไม่สบายใจของทุกฝ่ายออกไปให้เหลือน้อยที่สุด หรือเอาประเด็นที่แต่ละฝ่ายจะสามารถเอาไปปลุกระดมมวลชนมาฮึ่มๆ จนฟาดหัวกันออกไปให้มากที่สุด พยายามถอดสลักระเบิดเวลา ที่มันจะนำไปสู่สงครามกลางเมืองออกร่วมกัน พวกเราทุกฝ่ายที่เห็นไม่ตรงกัน จึงจะเดินหน้าต่อไปกันได้โดยไม่กลับมาฆ่ากันอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image