INDEX 4 เดือน ทรงความหมาย การเมือง ก่อน ลง”ประชามติ” “7 สิงหาคม”

ไม่ว่าการปรากฏตัวของ “คณะนิติราษฎร์” ไม่ว่าการปรากฏตัวของ “ขบวนการประชา ธิปไตยใหม่”
กำลังกลายเป็นเรื่อง”ธรรมดา” อย่าง “ปรกติ”
นี่ย่อมต่างไปจากการปรากฏตัวของ “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” เมื่อแสดงความรู้สึกต่อ “รัฐประหาร”
เพราะที่ “ขบวนการประชาธิปไตยใหม” ไปเคลื่อนไหวในงานสัปดาห์หนังสือ ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นั้น มิได้เป็นการคัดค้านหรือต่อต้านต่อ”รัฐประหาร”อย่างที่เคยปรากฏในห้วงหลังเดือนพฤษภาคม 2557
หากแต่เป้าหมายคือ “ร่าง”รัฐธรรมนูญ
“แถลงการณ์” ของ คณะนิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร ก็เช่นเดียวกัน เนื้อหาที่พรรณาไว้มิใช่เรื่อง “รัฐประหาร”
หากแต่เป้าหมายคือ “ร่าง”รัฐธรรมนูญ
เป็นร่างรัฐธรรมนูญซึ่งผ่านการสรุปในขั้นสุดท้ายและประกาศออกมาเมื่อวันที่ 29 มีนาคม
เตรียมเสนอให้ “ประชาชน” พิจารณาลง “ประชามติ”

ความเห็นของ “คณะนิติราษฎร์” ความเห็นของ “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” จึงเป็นความเห็นอย่างเดียวกับที่พรรคประชาธิปัตย์แสดงออก จึงเป็นความเห็นอย่างเดียวกับที่พรรคภูมิใจไทยแสดงออก
เพราะมีตัว”ร่าง”รัฐธรรมนูญเป็นเหมือนกับ “โจทย์”
ในความเป็นจริงร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ไม่เพียงแต่ส่งผ่านจากคณะกรรม การร่างรัฐธรรมนูญไปยังรัฐบาล ไปยังคสช. ไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)เท่านั้น
หากแต่ในที่สุดก็จะอยู่ในมือของ “ประชาชน”
ระยะเวลานับจากวันที่ 29 มีนาคม ไปยังวันที่ 29 เมษายน ไปยังวันที่ 29 พฤษภาคม ไปยังวันที่ 29 กรกฎาคม
กระทั่ง วันที่ 7 สิงหาคมอันเป็น”วันประชามติ”จึงสำคัญ
สำคัญตรงที่ไม่เพียงแต่ 1 ประชาชนจะได้รับ”ร่าง”รัฐธรรมนูญและลงมืออ่านอย่างใจจดใจจ่อ
หากแต่ 1 คือ เปิดใจให้ “กว้าง”
ไม่เพียงแต่จะรับฟังคำอธิบายจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)ผ่านรายการโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง และการเดินสายตามเวทีต่างๆ
ไม่เพียงแต่จะรับฟังคำอธิบายจาก “รด.จิตอาสา”
ไม่เพียงแต่จะรับฟังคำอธิบายจากเจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.)ในแต่ละพื้นที่
หากแต่ความเห็นจาก “คณะนิติราษฎร์” ก็น่าสนใจ
หากแต่ความเห็นจาก “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” ความเห็นจาก”กลุ่มธรรมศาสตร์เสรี” ก็น่าสนใจ
หากแต่ความเห็นจาก “พรรคเพื่อไทย” ก็น่าสนใจ
น่าสนใจพอๆกับความเห็นจาก “พรรคประชาธิปัตย์” ความเห็นจาก “พรรคภูมิใจไทย” ความเห็นจาก “พรรคชาติไทยพัฒนา” ความเห็นจาก “พรรคชาติพัฒนา”และความเห็นจาก “พรรคพลังชล”
นำเอาแต่ละ “ความเห็น” มาไตร่ตรองและ “ขบคิด”
ขบคิดก่อนตัดสินใจว่าจะเลือก “กา” อย่างไรระหว่างความเห็นว่า “รับ” กับความเห็นว่า “ไม่รับ”
นี่เป็นเรื่องของ “รัฐธรรมนูญ”
นี่เป็นเรื่องซึ่งไม่เพียงแต่ชี้อนาคตของกฎหมายสูงสุด หากแต่ยังชี้อนาคตของ “ประเทศ”อย่างทรงความหมาย

จากเดือนเมษายนเรื่อยไปจนถึงเดือนพฤษภาคม เดือนมิถุนายน เดือนกรกฎาคมและวันที่ 7 สิงหาคม จึงสำคัญ
สำคัญต่อ “ประชาธิปไตย” แห่ง”ประเทศไทย”
สำคัญต่อ “อำนาจ” อันยิ่งใหญ่ของ “ประชาชน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image