สถานีคิดเลขที่ 12 : ปมศาสนา-ปัญหาคสช.

การจับกุมพระเถระชุดใหญ่ในคดีเงินทอนวัด รวมทั้งอดีต พระพุทธะอิสระ หรือ นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ ใน 2 ข้อหา 1.ปลอมและใช้พระปรมาภิไธยปลอม 2.อั้งยี่ซ่องโจร สนับสนุนให้การ์ดทำร้ายตำรวจและปล้นทรัพย์ ในช่วงเป็นแกนนำชุมนุม กปปส.

แม้ว่าจะสะดุดอยู่ที่กรณีของ พระพรหมเมธี ที่หนีไปขอลี้ภัยถึงเยอรมนี ซึ่งอยู่ระหว่างการต่อสู้เรื่องพยานหลักฐานทางคดีระหว่างฝ่ายตำรวจไทยกับฝ่ายพรหมเมธีผู้ขอลี้ภัย

แต่โดยรวมแล้ว การจับกุมเถระชุดใหญ่ทั้งหมดรวมทั้งสงฆ์ที่เป็นผู้นำม็อบ ในแง่ของตำรวจถือว่าภารกิจลุล่วงไปโดยเกือบสมบูรณ์แล้ว

เสียงวิพากษ์วิจารณ์การใช้คอมมานโดบุกวัด บัดนี้ก็ค่อยๆ ซาไป เพราะเป็นเรื่องอารมณ์ของคนเฉพาะกลุ่ม ที่ตกอกตกใจว่าทำไมแกนนำของพวกเราจึงโดนเล่นงานขนาดนี้ ในยุครัฐบาลทหารของพวกเราด้วยซ้ำ

Advertisement

ที่สำคัญ ปฏิบัติการเหล่านี้ ในแวดวงศาสนาเองรู้กันดีว่า เป็นช่วงของการจัดระเบียบอย่างเข้มข้นจริงจังครั้งใหญ่

เป็นภารกิจสำคัญที่อยู่ในความรับผิดชอบของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผบช.ก. และตำรวจกองปราบฯ

เป็นการตีกรอบบอกกับแวดวงสงฆ์ทั้งหมดว่า ต้องกลับมาอยู่ในหลักแห่งพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด ต้องลดเลิกพุทธพาณิชย์ การปลุกเสกไสยศาสตร์ทั้งหลาย ยิ่งแอบอ้างเบื้องสูงนั้นต้องไม่ประพฤติปฏิบัติกันอีก

Advertisement

รวมถึงต้องเลิกยุ่งเกี่ยวกับการเมือง อันมิใช่กิจของสงฆ์ โดยเฉพาะที่ไปยุ่งแบบแหกแนวทางศาสนาอย่างหลุดโลก

ทั้งหมดนี้รวมอยู่ในปฏิบัติการจับกุมพระเถระผู้ใหญ่ และอดีตพระสุวิทย์นั่นเอง

แล้วอย่าได้แปลกใจที่ทั้งนายกรัฐมนตรีและรองนายกฯฝ่ายความมั่นคง จะให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ได้รับทราบหรือไม่ได้รับรายงานก่อน

น่าเชื่อว่า เป็นคำให้สัมภาษณ์ที่อยู่บนพื้นฐานความจริง

แต่ถ้าตัดปฏิบัติการส่วนนี้ออกไป ย้อนไปก่อนหน้านี้ กรณีล่าจับ ธัมมชโย และบุกค้นวัดธรรมกาย เมื่อปี 2559 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2560 ซึ่งชัดเจนว่าคราวนั้นเป็นคำสั่งของรัฐบาล คสช.แน่นอน

แล้วยังเชื่อมโยงกระทบไปถึง สมเด็จช่วง วัดปากน้ำ

เหตุการณ์นี้คือการปะทะระหว่างรัฐบาล คสช.กับเครือข่ายธรรมกาย และผู้ศรัทธาในสมเด็จช่วง ที่น่าจะมีผลตามมาในระยะยาว

น่าคิดว่ามวลชนในเครือข่ายเหล่านี้มีอยู่มากมาย บ้างก็ว่าหลายล้านคน

น่าเป็นห่วงแทน คสช.ว่า การเอาคืนของมวลชนเหล่านี้จะไปแสดงออกในตอนเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้ด้วย

เมื่อรวมเข้ากับอีกปัญหาด้านศาสนาในอีกส่วน นั่นคือ กรณีรัฐธรรมนูญใหม่ ที่มีเนื้อความขัดแย้งกับศาสนาอื่น จนส่งผลให้การลงประชามติเมื่อ 7 สิงหาคม 2559 นั้น ปรากฏว่าเสียงส่วนใหญ่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ลงมติไม่รับรัฐธรรมนูญ

แถมต่อมายังเกิดเหตุการณ์วางระเบิดใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ระหว่างวันที่ 11-12 สิงหาคม 2559 หรือหลังการลงประชามติรัฐธรรมนูญไม่กี่วัน

โดยพยานหลักฐานที่ตำรวจตรวจสอบได้ชัดเจนบ่งชี้งว่า เป็นฝีมือของกลุ่มหัวรุนแรงจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลายคนเคยก่อคดีในพื้นที่ไฟใต้มาแล้ว น่าเชื่อว่าเป็นการแสดงออกของพวกใช้ความรุนแรง เพื่อประท้วงเนื้อหาในรัฐธรรมนูญนั่นเอง

จึงเป็นที่มาของคำสั่ง คสช. ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2559 โดยเป็นคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 49/2559 เรื่องมาตรการอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาต่างๆ ในประเทศไทย

ถึงขั้นต้องใช้ ม.44 ออกมาเพิ่มเติมสาระด้านศาสนาที่เป็นปัญหาในรัฐธรรมนูญกันเลยทีเดียว

รวมๆ แล้วปมประเด็นขัดแย้งด้านศาสนา ในยุค คสช. จึงเป็นที่จับตามองกันอย่างมากว่า

จะออกฤทธิ์เอาคืนกันในการเลือกตั้งหรือไม่

สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image