พุ่งเป้า ‘เกรดเอ’ พรรคใหม่ปรับกลยุทธ์ดูด ทุบ ‘พรรคเก่า’ สู่ ‘มิชชั่นคอมพลีท’

ปัจจัยที่จะมาขัดขวางไม่ให้การเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นตามโรดแมปของรัฐบาลและ คสช. คือ เดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยเฉพาะเงื่อนไขทางข้อกฎหมาย หมดไปอีกข้อ

ณ วันนี้ ต้องเรียกว่าทางสะดวก

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยข้อขัดแย้งทั้งร่าง พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว. ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ผ่านฉลุย ไม่มีประเด็นใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ 2560

สเตปต่อไปคือ กระบวนการของการนำร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งอีก 2 ฉบับที่เหลือขึ้นทูลเกล้าฯ และรอให้มีการบังคับใช้ตามกรอบเวลา

Advertisement

โดยจะเริ่มนับ 1 ในกรอบเวลา 150 วันของการจัดการเลือกตั้ง นั่นคือ จะต้องรอให้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ หลัง 90 วัน

พลพรรคนักการเมืองของทุกพรรคจึงต้องเตรียมความพร้อม แม้จะติดขัดกับกติกาโดยเฉพาะคำสั่ง คสช.ที่ยังไม่ปลดล็อก เปิดไฟเขียวให้ทำกิจกรรมได้อย่างอิสระในฉากหน้า

แต่เบื้องหลังแน่นอนว่าทุกพรรคต่างเตรียมการที่จะต้องทำไว้แล้วเกือบทุกอย่าง รอเพียงเสียงนกหวีดปลดล็อกจาก คสช. ทั้งการหาสมาชิกพรรคให้เพียงพอต่อการทำไพรมารีโหวต ให้ได้จำนวนที่ปลอดภัยต่อการคัดเลือกส่งผู้สมัคร ส.ส. ลงสู้ศึกเลือกตั้งให้ได้ครบ 350 เขต ทั้ง 77 จังหวัด คือ 7,700 คน

เพราะหากพรรคใดหาสมาชิกพรรคได้ไม่พอกับการทำไพรมารีโหวตก็จะแพ้ฟาล์วตั้งแต่ยกแรก คือ ส่งผู้สมัคร ส.ส. ลงเลือกตั้งไม่ได้

ยิ่งกติกาแบบไฟต์บังคับตามรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้ใน มาตรา 83 ที่ระบุว่า ให้มี ส.ส.เขต 350 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน ด้วยบัตรเลือกตั้งใบเดียว นับทุกคะแนน ในระบบการเลือกตั้งแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” เพื่อไม่ให้คะแนนตกน้ำ ด้วยแล้ว

หากพรรคไหนส่งผู้สมัคร ส.ส.สู้ศึกเลือกตั้งไม่ครบทุกเขต หรือส่งน้อยเขต โอกาสที่จะได้เสียงมาคำนวณเป็นเก้าอี้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ย่อมน้อยลงไปด้วย

เพราะในสนามเลือกตั้ง โอกาสที่พรรคการเมืองหน้าใหม่ที่ยื่นจดทะเบียนตั้งพรรคล่าสุดอยู่ที่ 107 พรรค ซึ่งรวมถึงหลายพรรคที่มีเจตนารมณ์ตรงกันที่ประกาศว่าจะเชียร์ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. คัมแบ๊กมานั่งเก้าอี้นายกฯอีกสมัย จะปักธงชนะการเลือกตั้งได้ ส.ส.แบบเขต แข่งกับพรรคการเมืองเก่า คงมีน้อยมาก

ความหวังของพรรคใหม่คือ การมาแย่งเค้ก ช่วงชิง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่มี 150 ที่นั่ง ให้ได้เข้ามาในพรรคมากที่สุด เท่าที่จะทำได้

ยิ่งหากย้อนดูสถิติการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ที่พรรคใหญ่ พรรคเก่า กวาดเก้าอี้ ส.ส.มาได้ทั้้ง “แบบเขต” และ “แบบบัญชีรายชื่อ” แค่ 3 พรรค คือ เพื่อไทย (พท.) ประชาธิปัตย์ (ปชป.) และภูมิใจไทย (ภท.) ก็ได้จำนวน ส.ส.ทั้งสองแบบเกินกว่า 80% ของจำนวน ส.ส.แบบเขต 375 คน แบบบัญชีรายชื่อ 125 คน

การเลือกตั้งเมื่อปี 2554 แชมป์เก่าอย่าง “พท.” กวาด ส.ส.แบบเขต 204 เสียง แบบบัญชีรายชื่อ 61 เสียง รวมเบ็ดเสร็จแบบแลนด์สไลด์ 265 เสียง คิดเป็น 53% ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด

ส่วนรองแชมป์อย่าง “ปชป.” ได้ ส.ส.เขต 115 เสียง บัญชีรายชื่อ 44 เสียง รวม 159 เสียง อันดับสาม “ภท.” ได้ ส.ส.เขต 29 เสียง บัญชีรายชื่อ 5 เสียง รวม 34 เสียง

หากดูสถิติการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2554 แล้ว พรรคการเมืองหน้าใหม่ ถ้าไม่ได้ผู้สมัค รส.ส. ประเภท “เกรดเอ” หรือดีเด่น ดัง มาลงสนามสู้ศึกเลือกตั้ง โอกาสที่จะได้ ส.ส.กลับมาในมือ คงไม่พ้นคำว่า “ยาก” และ “เหนื่อย” มาก

กลยุทธ์ของพรรคใหม่ที่มีทั้งทุนและอำนาจในเวลานี้ จึงพุ่งเป้าไปที่อดีต ส.ส.เกรดเอ ของพรรคเก่า พร้อมกับออปชั่นมากกว่าราคาค่าตัว เพื่อหวังให้ได้ตัวอดีต ส.ส.เกรดเอ ย้ายค่ายมาลงสนามเลือกตั้ง ได้เสียง ส.ส.ให้เพียงพอหนุน “บิ๊กตู่” นั่งเก้าอี้ “สร.1” อีกสมัย

เพราะที่ผ่านมากลยุทธ์ “ดึง-ดูด-บีบ” ได้แต่พวกอดีต ส.ส.เกรดบี เกรดซี มาคงจะไม่พอให้ ภารกิจที่วางเอาไว้ ประสบผล ปิดเกมในแบบ ”มิชชั่นคอมพลีท” ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image