‘พรสันต์’ ชี้ ตปท.ก็หลับในสภา-สื่อตีข่าว บอกช่วยตรวจสอบแทน ปชช. แนะ สนช.ต้องระวัง-ปธ.ต้องเตือน

ภายหลังปรากฏภาพสมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) หลับคาห้องประชุมสภา ระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 โดยนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. คนที่ 2 ประธานคณะกรรมการจริยธรรม สนช. ออกมาขอโทษประชาชนแทน สนช.รายดังกล่าว พร้อมชี้แจงว่า ภาพงีบหลับดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นระหว่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กำลังชี้แจงรายละเอียดร่าง พ.ร.บ.ในช่วงเช้า แต่เป็นภาพที่เกิดขึ้นในช่วงบ่ายระหว่างการอภิปรายซักถามของ สนช. โดยงีบหลับเพราะป่วย และต่อไปจะขอความร่วมมือ สนช.ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวนั้น

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Pornson Liengboonlertchai โดยให้ความทางวิชาการเชิงเปรียบเทียบกับรัฐสภาต่างประเทศในกรณีดังกล่าว พร้อมสรุปเป็นข้อชัดเจน ดังนี้

ได้ติดตามข่าวที่สื่อได้เสนอภาพ สนช. หลับในสภา แต่ปรากฏว่ามีบางท่านกล่าวตำหนิสื่อว่าการนำเสนอข่าวดังกล่าวนั้นเป็นการสร้างความขัดแย้งบ้าง หรือถือเป็นเรื่องไร้สาระบ้าง ผมขออนุญาตให้ความในทางวิชาการเชิงเปรียบเทียบกับรัฐสภาต่างประเทศโดยสรุปเป็นข้อๆ ดังนี้ครับ
.
1. ต่างประเทศมีกรณีที่สมาชิกรัฐสภาหลับในระหว่างการประชุมสภาไหม? : ตอบได้เลยว่ามีครับ
.
2. สื่อในต่างประเทศทั้งสื่อสิ่งพิมพ์บ้าง หรือสื่อสังคมออนไลน์มีการนำเสนอไหม? : ก็มีอีกเหมือนกัน ในต่างประเทศเอง เช่น ประเทศอังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลีย ฯลฯ ถึงขนาดรวมภาพสมาชิกรัฐสภาที่หลับออกเผยแพร่เยอะแยะมากมายเลย แต่ที่น่าสนใจเลยก็คือ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาถึงขนาดออกข่าวโทรทัศน์ทำเป็นสกู๊ปจริงจัง ไปสอบถามทั้งตัวสมาชิกสภาคองเกรสที่นั่งหลับ และมีการวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์พูดถึงขนาดว่าพฤติกรรมเช่นนี้อาจกระทบถึงการได้รับการเลือกตั้งกลับมาอีกในสมัยต่อไปหรือไม่อย่างไรกันเลยครับ
.
3. ประเด็นเที่ต่างประเทศพูดถึงกันกรณีสมาชิกรัฐสภาหลับคืออะไร? : เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องปกติ ที่จะมีการตรวจสอบและถกเถียงกันว่าตัวแทนของประชาชนเองนั้นได้ทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนของปวงชนจริงหรือไม่อย่างไร ซึ่งในต่างประเทศถือเป็นเรื่องซีเรียสมาก อย่างกรณีล่าสุดเกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ มีการนำเสนอข่าวสมาชิกของสภาผู้แทนราษฏร (สภาสามัญ) ท่านหนึ่งหลับแบบเป็นจริงเป็นจังในช่วงที่มีสมาชิกท่าหนึ่งกำลังถกเถียงอภิปรายเรื่องร่างกฎหมายสหภาพยุโรป หรือแม้แต่สมาชิกวุฒิสภา (สภาขุนนาง) ที่ก็หลับเช่นเดียวกันขณะเพื่อนสภาชิกกำลังอภิปราย ดังนั้น เรื่องนี้โดยตัวมันเองไม่ใช่เรื่องสร้างความขัดแย้งแต่อย่างใด และไม่ใช่เรื่องไร้สาระด้วย หากแต่เป็นเรื่องของการตรวจสอบการทำงานของตัวแทนประชาชนในฐานะผู้ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติครับ
.
4. ในต่างประเทศมีการกำหนดรื่องนี้ไว้ที่ไหนอย่างไร? กรณีเช่นนี้อย่างในประเทศอังกฤษก็ดี ประเทศสหรัฐอเมริกาก็ดี จะถือว่าจัดอยู่ในเรื่องที่ว่าด้วยพฤติกรรมที่จำต้องประพฤติภายใต้ข้อบังคับรัฐสภา กล่าวคือ ในประเทศอังกฤษเองจะมีข้อบังคับการประชุมที่ว่าด้วย “มรรยาทและการประพฤติตัวอย่างเหมาะสม” (rules of behaviour and courtesies) โดยข้อบังคับจะมีการระบุไว้ชัดเจนเลยว่า สมาชิกรัฐสภาต้องประพฤติตัวเช่นไรในห้องประชุม เช่น การแต่งตัว การใช้เครื่องมือสื่อสาร อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ ไอแพด ฯลฯ จะใช้ได้เมื่อไหร่อย่างไร การอ่านหนังสือ หนังสือพิมพ์ การดื่มน้ำ ฯลฯ ทั้งนี้ข้อบังคับจะระบุไว้ชัดเจนว่าโดยหลักแล้วสมาชิกต้องตั้งใจฟังเพื่อนสมาชิกอื่นที่กำลังอภิปราย และที่สำคัญคือ มีการระบุไว้เลยว่า “ให้ตระหนักว่าการประชุมนั้นมีการบันทึกภาพและถ่ายทอดอยู่ การบันทึกและถ่ายทอดไม่ได้บันทึกและถ่ายทอดเฉพาะผู้อภิปรายอยู่เท่านั้น แต่บันทึกและถ่ายทอดสมาชิกทุกคน” ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกาก็จะมีข้อบังคับระบุไว้เช่นเดียวกัน โดยประเทศสหรัฐอเมริกาจะมีการบัญญัติไว้ในข้อบังคับการประชุมว่าด้วย “การให้เกี่ยรติต่อสถานที่และการประชุม” (Decorum and Debate) โดยระบุให้สมาชิกต้องแสดงกริยา ท่าทาง คำพูดที่เหมาะสม ให้เกียรติต่อสภาและเพื่อสมาชิกที่กำลังอภิปราย ต้องตั้งใจฟังการนำเสนอหรืออภิปรายของเพื่อนสมาชิกครับ
.
5. ในต่างประเทศดำเนินการอย่างไรหากมีการหลับในสภา? หากจะกล่าวถึงมาตรการในเชิงกฎระเบียบข้อบังคับแล้วล่ะก็ อย่างในประเทศอังกฤษเองมีการยื่นคำร้อง (petition) เพื่อให้มีการสอบสวนคนที่นั่งหลับในฐานพฤติกรรมไม่เหมาะสม ขัดต่อข้อบังคับสภา (Unparliamentary) เพื่อนำไปสู่มาตรการต่างๆ ได้ (สภาขุนนางของอังกฤษมีการยื่นไปล่าสุดกรณีเพื่อนสมาชิกหลับ) เช่น การให้ขอโทษ ประณาม ฯลฯ หรือหากประธานในที่ประชุมเห็นถึงพฤติกรรมดังกล่าวแล้วเห็นว่าพฤติกรรมไม่เหมาะสมอาจมีการเรียกเตือนว่าการหลับดังกล่าวขัดกับข้อบังคับการประชุมสภาให้ระมัดระวังก็ได้ครับ
.
6. กรณีประเทศไทย? ผมอยากให้ทำความเข้าใจว่าเรื่องที่สื่อต่างๆ นำเสนอภาพการหลับนี้เป็นเรื่องที่มิใช่การสร้างความขัดแย้ง หรือไร้สาระแต่ประการใด หากแต่เขาทำหน้าที่ในฐานะผู้ตรวจสอบการทำหน้าที่แทนประชาชน สนช. ถืงแม้ว่าความเป็นจริงท่านจะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่บทบัญญัติของรัฐธรรมก็บัญญัติว่าท่านเองต้องทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนของปวงชนชาวไทย และพวกท่านเองต่างก็กล่าวเสมอว่าเข้ามาทำงานตรงนี้เพื่อประชาชน ดังนั้น จึงปฏิเสธหน้าที่ตรงนี้ไม่ได้ การที่สื่อนำเสนอข่าวออกไป นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ก็เป็นเรื่องปกติที่ท่านอาจต้องรับฟังและนำไปปรับปรุง ผมไม่ได้บอกว่าท่านหลับไม่ได้เลย การงีบหลับ พักสายตาชั่วครู่ย่อมทำได้ แต่หากหลับกันเป็นจริงเป็นจังอาจไม่ใช่พฤติกรรมที่เหมาะสมมากนักต่อสถานที่อย่างรัฐสภาและในฐานะที่ท่านทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชน เมื่อมีการนำเสนอข่าวนี้ออกมาท่านก็พึงต้องระมัดระวังพฤติของท่านให้มากขึ้น เพราะจริงๆ แล้วข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติและประมวลจริยธรรมของ สนช. ก็ระบุไว้ชัดเจนว่าต้องสมาชิกต้องให้เกียรติต่อสถานที่และมีพฤติกรรมที่เหมาะสม ดังนั้น หากถามว่าถ้าเกิดพฤติกรรมที่มีสมาชิกหลับแบบจริงจังเลยจะทำอย่างไร ผมคิดว่าประธานในที่ประชุมต้องเตือนครับ โดยมาตรการรุนแรงที่สุดก็คือยื่นคำร้องและทำการสอบสวนเรื่องจริยธรรมซึ่งโดยส่วนตัวผมคิดว่าอาจจะไม่ต้องถึงขนาดนั้นก็ได้หากแต่ละท่านระมัดระวังตัวและเตือนตัวเองให้มากขึ้นอยู่เสมอครับ

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image