09.00 INDEX ความรู้สึก ต้องการ “เลือกตั้ง” แนวโน้ม สูงขึ้น ในสังคมไทย

หากนำเอาผลการสำรวจของ”สวนดุสิตโพล”ในเรื่องความสนใจของประชาชนต่อสถานการณ์การเมืองระหว่างวันที่ 5-9 มิถุนายนมาสังเคราะห์

จาก 2 คำตอบอันมาจาก “ประชาชน”

ต่อความสนใจต่อการเมืองร้อยละ 39.48 คือ การเลือกตั้งเพราะอยากให้มีการเลือกตั้งเป็นทางออกที่ดีให้กับบ้านเมือง อยากรู้ว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่

อยากรู้วันที่แน่นอน

Advertisement

และร้อยละ 33.41 การบริหารงานของรัฐบาล เพราะยังมีปัญหาหลายเรื่องที่ยังแก้ไม่ได้ ผลงานยังไม่เข้าตา

ก็จะมองเห็น”แนวโน้ม”ที่ “อยากเลือกตั้ง”สูงขึ้นเป็นอย่างมาก

ความน่าสนใจอยู่ที่แม้ว่า “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” ไม่สามารถระดมคนเข้าร่วมได้สูงในเชิง “ปริมาณ” แต่นั่นมิได้สะท้อนว่าคน “ไม่อยาก” เข้าสู่กระบวนการของ “การเลือกตั้ง”

Advertisement

ไม่ว่า “สวนดุสิตโพล” ไม่ว่า “กรุงเทพโพล” แล้วแสดงให้เห็นแนวโน้มนี้เด่นชัดมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

โดยเฉพาะความสนใจต่อ “พรรคการเมืองใหม่”

เชื่อได้เลยว่า แนวโน้มอันจะกลายเป็น “กระแส” ต่อไปในระยะเวลาไม่นานนัก คือแนวโน้มที่ “อยากเลือกตั้ง” ไม่ใช่แนวโน้มไปในทางตรงกันข้าม

นี่คือสิ่งที่แต่ละพรรคการเมืองสามารถ “สัมผัส” และรับรู้ได้อย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น

จะถือว่าเป็นความสำเร็จของ”กลุ่มอยากเลือกตั้ง”ก็ได้

แนวโน้มเหล่านี้จึงเท่ากับเป็นสัญญาณ “เตือน” ไปยังกลุ่มคนที่ยื้อ ถ่วง หน่วง เวลาของ “การเลือกตั้ง”

ที่ประเมินว่าเป็นผลงานและความสำเร็จอาจจะไม่ใช่

 

คำถามที่คสช.และรัฐบาลจะต้องขบคิดอย่างหนักหน่วงยิ่งขึ้นก็คือ การเลือกตั้งเป็นผลงานและความสำเร็จของคสช.และรัฐบาลหรือไม่

คสช.สามารถ “โฆษณา”ได้หรือไม่

รัฐบาลสามารถนำมาเป็น “ผลงาน” และมอบให้พรรคฝ่ายในสังกัดของตนนำไปหาเสียงสร้างคะแนนนิยมได้หรือไม่ มีผลต่อการสืบทอดอำนาจได้มากน้อยเพียงใด

คำถามนี้มี “คำตอบ” แน่นอนจากผล” การเลือกตั้ง”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image