เส้นทาง กม.คณะสงฆ์ สมเด็จพระสังฆราช ตาม กฎหมาย

เพราะว่ากรณี “สมเด็จพระสังฆราช” มีตัวเลือกอยู่ 2 ตัวเลือกเหมือนกับกรณี “บอร์ด สสส.” ความโน้มเอียงของ คสช. ความโน้มเอียงของรัฐบาลจะดำเนินไปอย่างไร

เหมือนตรงที่มี “ข้อเสนอ” จากกลุ่ม 2 กลุ่ม “ต่างขั้ว”

นั่นก็คือ บอร์ด สสส.มีการเคลื่อนไหวจากสิ่งที่เรียกว่า “ประชาคมสาธารณสุข” เพื่อลิดรอนอำนาจและอิทธิพลของสิ่งที่เรียกว่า “ตระกูล ส.”

แล้ว คสช.และรัฐบาลก็เลือก “ประชาคมสาธารณสุข”

Advertisement

ขณะเดียวกัน กรณี “สมเด็จพระสังฆราช” ก็มี “ข้อเสนอ” ข้อ “เรียกร้อง” จาก 2 กลุ่ม 2 ขั้วอันแตกต่างกัน ปรากฏขึ้นอย่างคึกคัก

มหาเถรสมาคมเห็นชอบกับ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ)

แล้วก็มีการเคลื่อนไหว “สวนทาง” ด้วยความรุนแรง แข็งกร้าว จาก “กลุ่มบุคคล” ที่ทรงอิทธิพลไม่น้อยในทางสังคม

Advertisement

เคยมี “บุญคุณ” กับ คสช. เคยมี “บุญคุณ” กับรัฐบาล

บางคนก็ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ ผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี บางคนก็เคยดำรงตำแหน่งสำคัญในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) บางคนก็เคยสวดมนต์ให้พรด้วยความอบอุ่นมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

คสช.และรัฐบาลจะ “เลือก” อย่างไร

บทเรียนจากกรณีออกคำสั่งตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวสั่ง “ปลดบอร์ด สสส.” จำนวน 7 คน ยังสดๆ ร้อนๆ

เพราะเท่ากับเป็นการผลัก “มิตร” ให้กลายเป็น “ปรปักษ์”

ท่าทีอันมาจาก นพ.ประเวศ วะสี ท่าทีอันมาจาก นพ.มงคล ณ สงขลา ท่าทีอันมาจาก นพ.วิชัย โชควิวัฒน

เยือกเย็น แต่ “ร้อนแรง” นุ่มนวล สุขุม แต่ “แข็งกร้าว”

นพ.มงคล ณ สงขลา รำลึกถึงการออกมาเป่านกหวีด “ชัตดาวน์ กทม.” ว่าเป็นความผิดมหันต์ นพ.วิชัย โชควิวัฒน สรุปอย่างรวบรัดว่า ทุกอย่าง “จบ”

นพ.ประเวศ วะสี ฟันธงว่า “เป็นความผิดพลาดในทางยุทธศาสตร์”

แม้จะมีคำกล่าว “ขอโทษ” ต่อบรรดา “พี่หมอ” ซ้ำแล้วซ้ำอีก และมีการทบทวน “คำสั่ง” แต่ก็ยากเป็นอย่างยิ่งที่ทุกอย่างจะ “เหมือนเดิม”

“แก้ว” นั้นร้าวแยกและถึงขั้น “แตกสลาย”

เพราะว่า “ประชาคมสาธารณสุข” ก็แนบแน่นและมากด้วยบุญคุณ เพราะว่า “ตระกูล ส.” ก็มีคุณูปการและมีบทบาทอย่างสำคัญในการขยายรอยแผลให้กับกลุ่มทางการเมืองฝ่ายตรงข้าม แต่ก็จำเป็นต้องเลือก แต่ก็จำเป็นต้องอยู่กับฝ่ายแรกมากกว่าฝ่ายหลัง

แล้วกรณี “สมเด็จพระสังฆราช” จะตัดสินใจอย่างไร

หากประเมินผ่านท่าทีและการแสดงออกของ คสช.ประสานกับของรัฐบาลก็พอจะอ่านได้ออกบ้างแล้วว่าทิศทางน่าจะเป็นไปอย่างไร

เหมือนกับจะพยายาม “ดึง” และยืด “ระยะเวลา” ออกไป

เห็นได้จากการเปิดทางให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเข้าไปตรวจสอบในเรื่องรถหรู เห็นได้จากการเปิดทางให้มีการยื่นเรื่องไปยังสำนักผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อตีความ

เหมือนกับมิได้ “ตัดรอน” เหมือนกับมิได้ “ทอดทิ้ง” อย่างไม่ไยดี

แต่ก็เสมอเป็นเพียงการซื้อและทอดเวลาออกไปเพียงระยะ 1 เท่านั้น เพราะว่าข้อกล่าวหาต่างๆ ก็แทบมิได้ระคายเคือง

เพราะรถหรูก็เป็น “รถเก่า” ได้มาก็ “ตั้งโชว์”

เพราะมติของมหาเถรสมาคมที่ให้เสนอชื่อ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) ก็เป็นไปอย่าง “เอกภาพ”

เสนอมาจากฟากของ “ธรรมยุต” ด้วยซ้ำ

ที่สำคัญ ทุกอย่างเป็นไปตามบทบัญญัติของ มาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535

เข้าทาง “ตรอก” ออกทาง “ประตู”

คสช.และรัฐบาลอาจ “ยื้อ” ได้ แต่ไม่น่าจะยาวนานอย่างเป็น “นิรันดร์กาล”

สิ่งที่ คสช.และรัฐบาลบ่นท่องอยู่เป็นประจำ คือ ทุกอย่างต้องทำตาม “กฎหมาย” ไม่สามารถละเมิดหลักนี้ได้

นี่คือ “ไฟต์” บังคับ นี่คือความชอบธรรมที่จะต้องเดินหน้าในการเสนอชื่อ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ)

เว้นแต่ต้องการให้วุ่นเหมือนกับกรณี “บอร์ด สสส.” เท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image