ประธานกกต. แจงหารือรบ. ชี้ เลือกตั้งยังเป็นไปตามโรดแมป แต่ต้องขึ้นกับสถานการณ์

”ประธาน กกต.” เผย รายงานปัญหา-อุปสรรค ปมคำสั่งคสช.53/60 ต่อวงถกรบ.แล้ว ระบุเลือกตั้งยังเป็นไปตามโรดแมป แต่ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์

เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 15 มิถุนายน ที่โรงแรมบัดดี้ โอเรียลทอล ริเวอร์ไซด์ ปากเกร็ด จ.นนทบุรี นายศุภชัย สมเจริญ ประธากรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวถึงผลการหารือเพื่อแก้ไขปัญหาการแบ่งเขตเลือกตั้งและการทำไพรมารีโหวตของพรรคการเมืองร่วมกับรัฐบาลว่า กกต.ได้ชี้แจงถึงปัญหาที่ติดขัดของพรรคการเมืองซึ่งเกี่ยวข้องกับคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/60 ว่ามีเรื่องใดที่พรรคการเมืองสามารถทำได้ก่อนระหว่างรอ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ใช้บังคับ และได้ขอให้รัฐบาลพิจารณาให้ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งได้เมื่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศในราชกิจานุเบกษา โดย กกต.คิดว่าจะใช้เวลาในเรื่องการรับฟังความคิดเห็นซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญ ไม่ทำไม่ได้ แม้รัฐบาลจะมองว่าอาจเข้าข่ายเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง รัฐบาลก็จะไปพิจารณาหาวิธีการเพื่อให้กกต.รับฟังความเห็นจากพรรคการเมืองและประชาชนได้ โดยที่จะไม่มีการยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และประกาศ คสช.ที่ 57/2557 เมื่อได้ข้อมูลแล้วกกต.ก็จะวินิจฉัยว่าจะเลือกใช้รูปแบบใดในแต่ละเขต รวมใช้เวลาประมาณ 50 วัน ซึ่งพรรคการเมืองจะมีข้อมูลในส่วนนี้เพื่อไปทำเรื่องไพรมารีโหวตที่คาดว่าพรรคจะมีเวลา 35 วัน ซึ่งคิดว่าพรรคที่มีความพร้อมและมีศักยภาพจะสามารถทำได้ ซึ่งรวมแล้วจะใช้เวลา 85 วัน จะเหลือ 5 วันก่อนกฎหมายมีผลใช้บังคับ ทั้งนี้ ไม่กังวลเรื่องที่พรรคจะไปแย่งกันหาสมาชิกพรรคให้ครบ 500 คน เพื่อทำไพรมารีโหวต เพราะผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศมีประมาณ 45 ล้านคน ถ้าพรรคการเมืองจะมาคิดเรื่องแย่งสมาชิกก็เป็นความคิดที่สุดโต่ง ดังนั้นพรรคต้องสร้างความศรัทธาให้ประชาชนมาสมัครเป็นสมาชิก ขณะที่ประชาชนต้องเห็นความสำคัญของการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง

นายศุภชัย กล่าวต่อว่า ในส่วนของคำสั่ง 53 ทางรัฐบาลจะมีการแก้ไขให้พรรคทำในบางเรื่อง เช่น จัดประชุมเพื่อแก้ไขข้อบังคับพรรค ประกาศอุดมการณ์ จัดหาสมาชิก เพราะปัจจุบันองค์ประกอบของการประชุมที่มีอยู่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งได้มีการขอให้ไม่ต้องใช้หัวหน้าสาขาพรรคมาเป็นองค์ประชุม ซึ่งทางกฤษฎีกาจะไปดูรายละเอียดเหล่านี้และยกร่างการแก้ไขคำสั่งดังกล่าวเสนอรัฐบาล และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็จะนำเรื่องดังกล่าวหารือกับนายกฯและ คสช. ส่วนจะมีการแก้ไขเมื่อไหร่อย่างไรก็เป็นอำนาจของ คสช. ซึ่ง นายวิษณุก็ได้ระบุแล้วว่ามี แนวทางคือ ออกเป็น พรก. พรบ. และใช้มาตรา 44

นายศุภชัย กล่าวอีกว่า ในการหารือการเลือกตั้งยังคงเป็นไปตามโรดแมป ไม่เลื่อน แต่อาจจะมีการขยับปรับเปลี่ยนบ้าง ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ส่วนจะเกิดการเลือกตั้งอะไรก่อน ก็ขึ้นอยู่กับว่ากฎหมายใดมีผลบังคับใช้ก่อน โดยในที่ประชุมก็ได้มีการซักถามถึงความคืบหน้าของกฎหมายแต่ละฉบับ โดยกฎหมาย ส.ส.และส.ว.อยู่ระหว่างนายกฯนำขึ้นทูลเกล้าฯ ส่วนกฎหมายท้องถิ่นณะกรรมการกฤษฎีกาได้ยกร่างเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็น และจะนำเสนอให้ สนช.พิจารณา ซี่งมีการคาดการณ์ว่าสนช.จะใช้เวลาพิจารณา 60-90 วัน เนื่องจากจะมีกฎหมายของแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าพิจารณาด้วยรวม 6 ฉบับ อย่างไรก็ตามในส่วนของ กกต. ได้ชี้แจงให้ที่ประชุมทราบว่าหากจะมีการเลือกตั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นควรจะเว้นระยะห่างกันประมาณ 3 เดือน เพราะเลือกตั้งท้องถิ่นมีเรื่องร้องเรียนมาก และกำลังคนของกกต.ก็มีจำกัด

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image