สนช.รับร่างยุทธศาสตร์ชาติ ตั้งกมธ. 38 คน ศึกษา ก่อนให้ความชอบ 7 ก.ค. นี้

สนช.ตั้งกมธ. 38 คน ศึกษายุทธศาสตร์ชาติ ก่อนให้ความชอบภายใน 7 ก.ค.

วันนี้ (15 มิ.ย.) ที่ประชุม สนช.มีวาระการพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติ ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ (ตามมาตรา 28(9) แห่งพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560) โดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อที่ประชุม สนช. ระบุว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)ขอเสนอยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้สนช.ได้ให้ความเห็นชอบ ซึ่งเป็นไปตามร่างพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติพ.ศ.2560 ที่บัญญัติไว้ พ.ร.บ.ดังกล่าวก็เป็นพ.ร.บ.ที่สำเร็จไปจากสภาแห่งนี้ โดยร่างยุทธศาสตร์ชาติที่นำเสนอมานั้นเป็นการจัดทำขึ้นตามมาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญไทยที่กำหนดให้ต้องทำ เพื่อกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาประเทศให้เดินไปได้ตามธรรมาภิบาล ยั่งยืน และต่อเนื่อง รวมถึงการขับเคลื่อนประเทศ นอกจากนี้ยังมีการกำหนดกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติให้เสร็จภายในเวลา 1 ปี เพราะฉะนั้นกฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญ คือ ยุทธศาสตร์ชาติได้ออกมาแล้ว นายกรัฐมนตรี จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 6 คณะ

 

“ยุทธศาสตร์ชาตินี้จะเป็นยุทธศาสตร์ชาติแรกที่ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ เราอาจจะพูดถึงยุทธศาสตร์ชาติในห้องเรียน ในเวทีต่างๆมามาก แต่เรายังไม่มียุทธศาสตร์ชาติที่ใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งสิ่งที่จะใกล้เคียงกับยุทธศาสตร์ชาติมากที่สุด คือ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่แผนเหล่านั้นอาจมีข้อจำกัด เช่น มีระยะเวลา 5 ปี แต่ระยะเวลา 5 ปีก็เหมาะสมเมื่อเทียบกับอายุรัฐบาลที่ผ่านมา” นายวิษณุ ระบุ

Advertisement

และว่า “แต่หากคิดถึงเป้าหมายของประเทศ หรือ ยุทธศาสตร์ ต้องมองไกลกว่า 5 ปี ชาวต่างชาติ นักธุรกิจ นักลงทุน ต้องการแผนระยะยาว เราจึงกำหนด 20 ปี เป็นตัวเลขเดียวที่ใช้กับหลายประเทศ 20 ปี เท่ากับอายุของคนที่เกิดมาจนกระทั่งบรรลุนิติภาวะ เพราะฉะนั้นยุทธศาสตร์ชาติจะใช้เวลาตั้งแต่ปี 2561 ไปจนถึงปี 2580 ช่วงเวลา 20 ปี อาจเกิดความวิตกว่าอาจจะเกิดความเปลี่ยนแปลงไปว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งกฎหมายได้มีการกำหนดไว้แล้วว่า จะต้องมีการปรับปรุงยุทธศาสตร์ชาติทุก 5 ปี และในระหว่าง 5 ปีนั้นถ้าสถานการณ์โลก หรือสถานการณ์บ้านเมืองนั้นเปลี่ยนแปลงไป คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติแต่ละด้าน สามารถที่จะยกขึ้นมาปรับปรุงเมื่อใดก็ได้ แล้วแจ้งให้กรรมการยุทธศาสตร์ทราบ กรรมการยุทธศาสตร์ชาติก็จะแจ้งครม. และครม.ก็จะแจ้งต่อสภา ซึ่งแล้วแต่ว่า ขณะนั้นจะเป็นสภาใด”  นายวิษณุ กล่าว

และระบุต่อว่า “จากนั้นสภาก็จะนำมาปรับปรุงแก้ไขเปลี่ยนแปลง จะแก้เฉพาะหน้า แก้เฉพาะตอน หรือแก้ทั้งเล่มก็ทำได้ ไม่ได้ยุ่งยากสลับซักซ้อนอะไร ไม่ได้ผูกมัดรัฐบาลที่จะมาในอนาคตจนกระทั้งกระดิกไม่ได้ เพียงแต่ว่าเมื่อยุทธศาสตร์ชาตินี้ยังอยู่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม ถ้าหากไม่ปฏิบัติตามต้องแก้ไขปรับปรุงยุทธศาสตร์ชาติก่อน ถามว่ายุทธศาสตร์ชาติจะเป็นแบบเก่าหรือไม่ คิดว่าไม่ เพราะถูกกำหนดขึ้นโดยรัฐธรรมนูญและยังมีกฎหมายลูกคือพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติรองรับ ตามกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์ชาติเอาไว้ว่าจะมีผลกระทบ 5 ประการ คือ 1. ผูกมัดรัฐบาลในการที่จะแถลงนโยบายต่อสภาในเวลาที่เข้าปฏิบัติหน้าที่ นโยบายต้องไม่ขัดแย้งต่อยุทธศาสตร์ชาติ 2. ผูกพันแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 3. การจัดทำแผนอื่นใดก็ตามที่เป็นแผนชาติจะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 4. การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีจะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และ 5. แผนการปฏิรูปประเทศจะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ดังนั้น ยุทธศาสตร์ชาติ วันนี้เสนอเข้ามายังสภาจำนวน 71 หน้าเท่านั้นและไม่มีรายละเอียดของโครงการ เราจะไม่พบว่ารถไฟความเร็วสูงยาวกี่กิโลเมตร สิ่งเหล่านี้ไม่ได้กำหนดไว้ในร่างยุทธศาสตร์ชาติ เพราะต้องไปทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการต่อไปกันอีกในอนาคต โดยแผนแม่บทจะต้องนำเสนอต่อสภาอีกครั้ง ดังนั้น ยังมีขั้นตอนที่ต้องทำงานต่อไปอีก ซึ่งคาดว่าแผนแม่บทน่าจะยกร่างแล้วเสร็จภายใน 2 เดือน”

ด้าน นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า การที่รัฐบาลจะจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเกิดจากปัญหาในการบริการราชการแผ่นดินที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นโรคร้ายที่เราเผชิญอยู่เป็นระยะๆ คือ การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ก็จะมีผลพวงคือ รัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศก็จะเสนอโครงการใหม่ และยกเลิกโครงการที่ดำเนินอยู่แล้ว ทำให้ไม่สามารถดำเนินการโครงการสำคัญๆได้อย่างต่อเนื่อง โครงการสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงอนาคตของประเทศก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หลายรัฐบาลมีอายุแค่ 1-2 ปี แต่การลงทุนบางโครงการ มีอายุประมาณ 3-5 ปี ในการเตรียมโครงการ พอเป็นลักษณะนี้ก็เป็นปัญหาที่จะทำให้ประเทศไทยได้ก้าวต่อไปข้างหน้า   ซึ่งก่อนที่รัฐบาลนี้จะเข้ามา พบว่า เศรษฐกิจของไทยโตเพียง ร้อยละ 1 ในขณะที่เพื่อนบ้าน โตร้อยละ 5-6 ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนรัฐบาล ทำให้ไม่สามารถลงทุนในโครงการใหญ่ ๆ ได้ ซึ่งส่งผลต่อไปยังการส่งออก การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ในหลายประเทศก็มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ หรือ แผนพัฒนาประเทศ เช่น ฝรั่งเศส ที่มีแผนพัฒนาประเทศ 10 ปี สิงคโปร์ 20ปี ขณะที่มาเลเซีย รวมถึงจีนก็มีแผนพัฒนาประเทศระยะยาว ดังนั้นการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ก็เพื่อให้ประเทศไทยได้มีความพร้อมสอดรับกับการแข่งขันกับประเทศต่างๆ และเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในอีก 20 ปีข้างหน้า

Advertisement

จากนั้นที่ประชุมเปิดให้สมาชิกสนช.ได้อภิปรายแสดงความคิดเห็น โดยสนช. ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้ แต่เห็นว่ายังไม่มีตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจน และควรให้มีการบูรณาการการทำงานตามแผนยุทธศาสตร์ชาติกับหน่วยงานราชการเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ รวมทั้งบรรจุแผนยุทธศาสตร์ชาติ เข้าไปในแผนแม่บทด้วย โดยเฉพาะโครงการที่สำคัญๆ และควรสร้างความรับรู้ให้กับประชาชนว่ายุทธศาสตร์ฉบับนี้เป็นของประชาชนทุกคน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อการอภิปรายเสร็จสิ้น โดยใช้เวลา 4 ชั่วโมง ที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาศึกษาร่างยุทธศาสตร์ชาติ ก่อนให้สภาฯให้ความเห็นชอบ จำนวน 38 คน กำหนดเวลาพิจารณาภายใน 22 วัน โดยมีการประชุมนัดแรกวันนี้(15 มิถุนายน) และเสนอกลับมาสภาฯ ให้ความเห็นชอบภายในวันที่ 7 กรกฎาคม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image