แนวรบ เลือกตั้ง การต่อสู้ 2 แนวทาง เอา ไม่เอา คสช.

ไม่ว่าความเชื่อมั่นที่ว่าพรรคของตนจะได้ ส.ส. 260 กว่าคน ไม่ว่าความเชื่อมั่นที่ว่าพรรคของตนจะได้ ส.ส.กว่า 150 คน

ล้วนวางอยู่บน “ฐานข้อมูล”

คำถามอันตามมาอย่างฉับพลันต่อพรรคการเมืองนั้นก็คือ เป็นฐานข้อมูลอะไร เป็นฐานข้อมูล “ใหม่” หรือว่าเป็นฐานข้อมูล “เก่า”

ที่สำคัญก็คือ คำนึงถึง “แนวโน้ม” และ “ปัจจัย” อื่นหรือไม่

Advertisement

คำว่าแนวโน้มในที่นี้ย่อมมิใช่แนวโน้มอันเป็นเรื่อง “เก่า” หากแต่น่าจะเป็นแนวโน้มอันเนื่องแต่ปัจจัย “ใหม่”

คำว่า “ใหม่” ในที่นี้ต้องอิงอยู่กับ “ปัจจุบัน”

แน่นอน แนวโน้มอาจมีพื้นฐานมาจากสภาพการณ์ “เก่า” แต่ลักษณะชี้ขาดอย่างเป็นจริงย่อมขึ้นอยู่กับสภาพการณ์ “ใหม่”

Advertisement

เรียกตามภาษาพระก็ต้องว่า เป็น “ปัจจุบันขณะ”

ลองตรวจสอบบทสรุปของแต่ละกลุ่มและฝ่ายทางการเมือง ต้องยอมรับว่าจุด “ร่วม” ของทุกฝ่ายมักเริ่มต้นจากผลการเลือกตั้ง

แน่นอน ระยะใกล้ที่สุด คือ การเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554

ขณะเดียวกัน การเลือกตั้งล่าสุดก็มีความสัมพันธ์อยู่กับการเลือกตั้งในอดีต ไม่ว่าจะเป็นเมื่อเดือนมกราคม 2544 ไม่ว่าจะเป็นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ไม่ว่าจะเป็นเมื่อเดือนธันวาคม 2550

หากเริ่มจากตรงนี้อันดับ 1 ย่อมเป็นพรรคเพื่อไทย

เพราะรู้กันอยู่ว่าพรรคเพื่อไทยคืออวตารของพรรคพลังประชาชน ขณะที่พรรคพลังประชาชนคืออวตารของพรรคไทยรักไทย

ชัยชนะของพรรคเพื่อไทยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 จึงไม่มีใครกล้ามองข้าม

ขณะเดียวกัน ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 พรรคเพื่อไทยประสบมรสุมอะไรบ้างในทางการเมืองโดยเฉพาะก่อนและหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

นี่คือ “ปัจจัย” ใหม่ ที่มีทั้งผลดี ผลเสีย

ประเด็นที่ควรให้ความสำคัญก็คือ ภายหลังรัฐประหารผลงานของ คสช.ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 กระทั่ง เดือนพฤษภาคม 2561 เป็นอย่างไร

หากประสบผลสำเร็จก็ย่อมเป็นปัจจัย 1

ขณะเดียวกัน หากประสบความล้มเหลว สร้างปัญหา ก่อความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างชนิดที่เรียกได้ว่าทุกหย่อมย่าน ก็ย่อมเป็นอีกปัจจัย 1

ความสำเร็จของ คสช.คืออันตรายของพรรคเพื่อไทย

ขณะเดียวกัน ความล้มเหลวและปัญหาที่หมักหมมสะสมมาจากเดือนพฤษภาคม 2557 กระทั่งเดือนพฤษภาคม 2561 คืออันตรายของ คสช.

และครอบคลุมไปยังสิ่งที่เรียกว่า “พรรค คสช.” ด้วย

ไม่ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ไม่ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือนเมษายนของปี 2562 ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะหนีรอดไปจาก 2 ปัจจัยนี้ได้

ความเป็นจริงนี้จะกำหนดผลของการเลือกตั้ง

การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้จึงเป็นการต่อสู้ระหว่าง 2 ฝ่าย คือ ระหว่าง คสช.กับฝ่ายซึ่งไม่ใช่ คสช.

ไม่มีหนทางที่ 3 ให้เลือก

สถานการณ์จะค่อยๆ แยกจำแนกพรรคและกลุ่มการเมืองออกเป็น 2 ฝ่ายโดยอัตโนมัติ 1 ก็คือเอาด้วยกับ คสช. และ 1 คือ ไม่เอาด้วยกับ คสช.

และแต่ละก้าวย่างก็ขึ้นอยู่กับ “แนวโน้ม” และ “ปัจจัย” ที่จะเกิดขึ้น

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image