วิเคราะห์หน้า3 : การเมือง ช่วงชิง ได้เปรียบ เสียเปรียบ คสช. แข่งขัน พรรค

การเมือง ช่วงชิง
ได้เปรียบ เสียเปรียบ
คสช. แข่งขัน พรรค

แม้จะมีเสียงครหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไปเยือนยุโรปประกาศวันเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ปี 2562 แต่ในประเทศไทยกำหนดวันเลือกตั้งเอาไว้ 4 วัน คือวันที่ 24 กุมภาพันธ์ วันที่ 31 มีนาคม วันที่ 28 เมษายน และวันที่ 5 พฤษภาคม 2562

เท่ากับว่ามีโอกาสที่ คสช.จะเลื่อนโรดแมปการเลือกตั้งออกไปได้อีก 3 เดือน

แต่ถึงอย่างไร ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในขณะนี้ก็คือ เตรียมการเลือกตั้ง

Advertisement

และเป็นการจัดให้มีการเลือกตั้งในปี 2562 แน่นอน

เมื่อปี่กลองดังขึ้น บรรดาพรรคการเมืองและนักการเมืองก็เริ่มออกมาแสดงบทบาท

การปรากฏตัวของกลุ่มสามมิตร ที่มี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน และ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นแกนนำ ตระเวนไปทาบทามอดีต ส.ส. พรรคต่างๆ ให้มารวมตัวนั้นมีนัยสำคัญต่อการเมืองการเลือกตั้ง

Advertisement

การปรากฏตัวดังกล่าว ทำให้เชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งกำลังจะเกิดขึ้น

เมื่อนายสุริยะจัดประชุมกลุ่ม และมีถ้อยความประกาศว่า กลุ่มสามมิตรจะเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ ทำให้ทุกฝ่ายมั่นใจว่า การเลือกตั้งมีแน่

เพราะพรรคพลังประชารัฐ คือ พรรคหลักที่จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้ง

พรรคพลังประชารัฐ มีชื่อ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นแกนนำ

ทั้งนายอุตตมและนายสนธิรัตน์ ล้วนมาจาก นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

ทั้งนายสมคิด นายอุตตม และนายสนธิรัตน์ ประกาศแนวทางสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ และแนวทาง คสช.ต่อเนื่อง

การปรากฏชื่อและความเคลื่อนไหวของพรรคพลังประชารัฐเช่นนี้

แสดงว่า การเลือกตั้งกำลังจะมี

การปรากฏตัวดังกล่าว ยังตามมาด้วยรายชื่อของผู้เข้าร่วมกลุ่มสามมิตร

เป็นการระดมพลอดีต ส.ส. และคนมีบารมีทางการเมืองที่น่าจะทำคะแนนให้แก่พรรคการเมืองที่จับมือด้วย

เมื่อกลุ่มสามมิตรประกาศว่า จะเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ เท่ากับว่าได้เติมพลังให้พรรคพลังประชารัฐเข้มแข็งขึ้นมา

กลายเป็นพรรคการเมืองใหม่ ที่อุดมไปด้วยนักการเมืองเก่า

พรรคพลังประชารัฐจึงก้าวมายืนอยู่แถวหน้าในสนามเลือกตั้งทันที

และเมื่อยืนยันอย่างมั่นใจว่า พรรคพลังประชารัฐจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสมัยหน้า

เท่ากับว่าพรรคการเมืองนี้ มิได้คิดเล็ก

หากแต่คิดการใหญ่ เป็นรัฐบาลสืบสานแนวทาง คสช.ต่อไป

เมื่อกลุ่มสามมิตร และพรรคพลังประชารัฐ กลายเป็นจุดเด่นขึ้นมาบนสนามการเมือง และการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น

เสียงจากพรรคการเมืองและนักการเมืองคู่แข่งจึงดังกระหึ่ม

ประเด็นที่มีการหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงเป็นเรื่องของ “การดูด” และความ “ได้เปรียบและเสียเปรียบ”

ในกรณีการดูด มีกระแสข่าวมาตลอดจากพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และอื่นๆ

กระแสข่าวยังพาดพิงฟาดฟันกล่าวหาถึงวิธีที่ใช้ในการดูดสมาชิกพรรคอีกด้วย

บรรดาแกนนำพรรคต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบต่างออกมาแสดงความคิดเห็น โจมตีการดูดกันยกใหญ่

แม้แต่ นายทักษิณ ชินวัตร ก็ได้วิดีโอคอลกับทางพรรคเพื่อไทย และพูดคุยเกี่ยวกับ ส.ส.ที่ผละหนีไป

ปรากฏการณ์ทั้งหมด ตอกย้ำว่า พรรคการเมืองเหล่านั้นมีสมาชิกไหลออกจริง

สมาชิกที่ไหลออกก็ไปรวมกันอยู่ที่แห่งเดียวกัน

นั่นคือกลุ่มสามมิตร

นั่นคือพรรคพลังประชารัฐ

นอกจากพรรคการเมืองเดิมจะได้รับผลกระทบจากการที่สมาชิกไหลออกแล้ว ยังมีเสียงโวยถึงความ “ได้เปรียบเสียเปรียบ” ตามมาอีก

กรณีคำสั่ง “ล็อก” มิให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองถูกมองว่าใช้บังคับไม่เท่าเทียม

ขณะที่พรรคการเมืองอื่นๆ กำลังเป็นกังวลเกี่ยวกับข้อบัญญัติห้ามมิให้พรรคจัดประชุม

แต่กลุ่มสามมิตรกลับสามารถไปทาบทามชักจูงอดีต ส.ส.ไปร่วมกลุ่มได้อย่างเสรี

เท่ากับว่า พรรคการเมืองอื่น ยังไม่สามารถแสวงหาสมาชิกพรรคเพิ่มได้

แต่กลุ่มสามมิตรสามารถหาสมาชิกเพิ่มให้พรรคพลังประชารัฐได้

ขณะที่ถ้อยคำของนายทักษิณ ที่พาดพิงเกี่ยวกับพรรคเพื่อไทย กกต.หยิบยกขึ้นมาสืบสวนสอบสวน

เพราะอาจจะเข้าข่าย “ครอบงำ” พรรคเพื่อไทย อันจะนำไปสู่การยุบพรรคได้

แต่ คสช. สามารถแสดงความเห็น เชียร์พรรคพลังประชารัฐได้อย่างไม่มีใครห้าม

เช่นเดียวกับกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศเลือกสมาชิกวุฒิสภา 200 คนชุดใหม่ด้วยตัวเอง

สมาชิกวุฒิสภาชุดนี้จะมีส่วนสำคัญในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งหน้า

และ พล.อ.ประยุทธ์ ก็เป็นแคนดิเดตในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งหน้าด้วย

จากตัวอย่างที่ปรากฏ ทำให้เกิดคำถามเรื่องความ “ได้เปรียบเสียเปรียบ”

พรรคพลังประชารัฐได้เปรียบ พรรคการเมืองอื่นๆ เสียเปรียบ จริงไหม?

สถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ได้เคลื่อนผ่านคำถามเรื่องการเลือกตั้งมาแล้ว

เพราะคำตอบคือการเลือกตั้งมีแน่ ส่วนจะมีเมื่อไหร่ต้องเป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย

เร็วสุดคือกุมภาพันธ์ 2562 ช้าสุดคือพฤษภาคม 2562

คำถามใหม่ทางการเมืองที่กำลังดังกระหึ่มอยู่ในปัจจุบัน คือ ความได้เปรียบเสียเปรียบ

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐกำลังเนื้อหอม มีเสรีภาพในการเคลื่อนไหว

แต่พรรคการเมืองคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย และอื่นๆ กำลังถูกจับแช่แข็งทำอะไรไม่ได้

เสียงร่ำร้องถึงความเท่าเทียมกันจึงดังขึ้นเป็นคำถาม

คำถามที่รอคำตอบจาก คสช. ซึ่งสวม 2 บทบาทในคราวเดียวกัน

ทั้งบทบาท “คนกลาง” ในฐานะ “กรรมการ”

และบทบาท “คู่แข่งขัน”

ในฐานะ “พรรคการเมือง” ที่ต้องช่วงชิงชัยชนะให้ได้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image