อจ.ส่องพรรคเก่า-ใหม่ เพิ่มทางเลือก ‘ปชช.’ ปชต.หรืออนุรักษนิยม

หมายเหตุความคิดเห็นของนักวิชาการถึงพรรคการเมืองต่างๆ ที่มีมากขึ้น และมีจุดยืนทางการเมืองแตกต่างกันในแต่ละพรรคจะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนในการเลือกตั้งในปีหน้าหรือไม่


ยุทธพร อิสรชัย

ยุทธพร อิสรชัย

สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

การเลือกตั้งในอนาคตหลังมีปรากฏการณ์กลุ่มการเมืองปรากฏมากขึ้นนั้น ผมมองว่าประชาชนมีโอกาสเลือกมากขึ้น เพราะกติกาที่เปลี่ยนไป ทั้งรัฐธรรมนูญ 2560 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่ให้ ส.ว.ตั้งนายกฯได้ รวมถึงวิธีการเลือกตั้งเปลี่ยนใหม่ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก่อให้เกิดพรรคการเมืองมากมาย ทำให้พรรคพรรคการเมืองเปลี่ยนไปจากเดิม คือจากที่ประชาชนมองการเมืองมิติเดียว คือการเมืองในระบบรัฐสภา

หลังจากนี้ไปประชาชนจะมองเชิงการเมืองที่เกี่ยวข้องถึงชีวิตประจำวันมากขึ้น ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะทำให้ทางเลือกกับประชาชนมีมากขึ้น โดยเฉพาะการเกิดพรรคเฉพาะกลุ่ม พรรคเฉพาะทางในการนำเสนอนโยบาย อาทิ พรรคอนาคตใหม่ จะมีอุดมการณ์หัวก้าวหน้า หรือพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) มาจากคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) อิงอุดมการณ์อนุรักษนิยม ตลอดจนพรรคอื่นๆ ที่ยึดแนวนโยบายประชารัฐของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

Advertisement

เพราะฉะนั้นการประกาศตัวชัดเจนในจุดยืนของพรรค นอกจากประชาชนเลือกผู้แทนเข้าสู่ระบบการเมืองแล้วยังสะท้อนถึงการเลือกตั้งเชิงอุดมการณ์ด้วยเช่นกัน

การเกิดพรรคทางเลือกมากขึ้นเช่นนี้ พรรคเหล่านั้นก็จะมีอุดมการณ์ให้ประชาชนได้รับรู้ว่าจะสนับสนุนใครเป็นนายกฯ ซึ่งพรรคอนาคตใหม่ต่อต้านไม่เอานายกฯคนนอก พรรค รปช.สนับสนุนนายกฯคนนอก ดังนั้นการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นครั้งนี้จะเป็นการต่อสู้เชิงอุดมการณ์เข้มข้นขึ้น ระหว่างประชาธิปไตยกับอนุรักษนิยม แม้ว่าระยะสั้นจะไม่เห็นภาพมากเท่าใดนัก แต่ระยะยาวจะทำให้ความคลุมเครือทางการเมืองไทยที่มียาวนาน คลี่คลายลงไปว่าประชาชนจะเลือกเอาอะไร ระหว่างประชาธิปไตยหรืออนุรักษนิยม ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง


สุขุม นวลสกุล

สุขุม นวลสกุล

อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

Advertisement

ตอนนี้มีกลุ่มก้อนพรรคการเมืองอยู่ 2 รูปแบบ คือพรรคที่ต่อต้าน คสช. กับพรรคที่เหยียบเรือสองลำ ยังไม่ได้เลือกว่าจะเอาทางไหนดี ไม่แน่ใจว่าจะวางจุดตรงไหนดี แต่ในใจคงเลือกที่จะสนับสนุน คสช.อยู่

ส่วนจะมองว่าเป็นขั้วกลุ่มเสรีประชาธิปไตยหรืออนุรักษนิยมได้หรือไม่นั้น ตอนนี้นักการเมืองบ้านเรามีทั้งหน้าใหม่เข้ามา กับพวกหน้าเก่า ที่พูดกันตามตรงว่าอุดมการณ์ก็ไม่ได้มีมากเท่าไหร่นัก จะเป็นรัฐบาลหรือไม่เป็นรัฐบาลก็คงไม่ได้ส่งผลอะไร แต่จะเรียกว่าเป็นขั้วอนุรักษนิยมคงไม่ได้ เพราะอนุรักษนิยมคือต้องการให้รัฐบาลทหารอยู่ต่อ เพราะฉะนั้นก็ไม่ได้เป็นอนุรักษนิยมอย่างจริงจัง

ถ้าจะให้แยกเป็นกลุ่มคนที่สนับสนุนทหารกับไม่สนับสนุนก็คงพอมองเห็นตัวละครกันบ้างแล้ว อย่างเช่นพรรคใหม่ที่เพิ่งตั้งขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นสามมิตรก็ดี รปช.ก็ดี หรือประชาชนปฏิรูปก็ดี เขาก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าเขาเอาใคร ไม่เอาใคร หรืออย่างเช่นที่พรรคของนายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ ที่ตั้งขึ้นมาก็ชัดเจนแล้วว่าเอา คสช.

ทางพรรคประชาธิปัตย์เองก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะยังไง ยังแบ่งรับแบ่งสู้อยู่ แต่ที่ชัดเจนแล้วก็คือพรรคเพื่อไทยไม่เอา คสช. นอกนั้นก็ยังคงแบ่งรับแบ่งสู้อยู่ อาจต้องดูว่าถ้าถึงโหมดก่อนเวลาเลือกตั้งจริงๆ ประชาชนสนใจไปทางไหนมากกว่า

ส่วนการมองว่าพรรคใหม่สามารถแยกออกเป็นกลุ่มอุดมการณ์พรรคได้ไหมนั้น ตอนนี้ยังพูดไม่ได้ เพราะรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องของอุดมการณ์ แต่เป็นเรื่องของผลประโยชน์มากกว่า คือการทำตามกลุ่มตัวเองเพื่อผลประโยชน์

ส่วนที่คนมองพรรคใหม่ที่เกิดขึ้นมีโอกาสที่จะเป็นพรรคลูกของพรรคเก่าหรือไม่นั้น คิดว่าไม่มีทางเป็นไปได้แน่นอน เพราะดูจากรัฐธรรมนูญแล้วระบุไว้ค่อนข้างชัดเจนว่ากำหนดให้กลุ่มไหนเป็นรัฐบาล ถ้าจะคิดก็อาจจะคิดได้ แต่เป็นไปไม่ได้แน่นอน เพราะมันมี “พรรค 250” รอไว้อยู่แล้ว

ส่วนมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่พรรคประชาธิปัตย์จะจับขั้วกับพรรคหนุน คสช. ตอนนี้คงตอบไม่ได้ ต้องรอดูผลก่อน เพราะพรรคประชาธิปัตย์มีเสียงสนับสนุนไม่มาก ไม่อย่างนั้นคงจะไม่ลังเลเหมือนอย่างทุกวันนี้

ถามว่าประชาชนมีทางเลือกมากกว่าที่ผ่านมาไหม คิดว่าประชาชนก็คงเหมือนเดิม คือมีทางเลือกอยู่ไม่มาก ยกตัวอย่างเมื่อก่อนผมคิดว่าอยากให้ใครเป็นนายกฯ แต่ตอนนี้เลิกคิดไปแล้ว เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนว่าให้ใครเป็นนายกฯ


วิโรจน์ อาลี

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สำหรับกลุ่มก้อนทางการเมืองในตอนนี้ แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือกลุ่มแรกที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างพรรคพลังประชารัฐ ส่วนกลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย เช่น พรรคเพื่อไทย และพรรคอนาคตใหม่ หรือกลุ่มขั้วอำนาจเก่า และอีกกลุ่มก็คือกลุ่มที่อยู่ตรงกลางและพร้อมที่จะขยับไปมาได้ตลอดตามความเหมาะสมของสถานการณ์ทางการเมือง เช่น พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา

มีความเป็นไปได้เหมือนกันที่จะแบ่งเป็นสองขั้วใหญ่ๆ อย่างกลุ่มเสรีประชาธิปไตย และขั้วอนุรักษนิยม แต่เอาเข้าจริงๆ ตอนนี้ยังมองอะไรได้ไม่ชัดนักเพราะพรรคการเมืองต่างๆ ยังไม่สามารถเคลื่อนไหวกันได้เต็มที่ ต้องรอพรรคต่างๆ ออกมาแถลงนโยบายหรือจุดยืน ใกล้ช่วงเลือกตั้งเมื่อไหร่จะยิ่งชัดมากขึ้น และก็มีโอกาสที่กลุ่มที่เป็นกลางจะปรับเปลี่ยนไปตามกระแสของประชาชนและเปลี่ยนนโยบายสอดคล้องกับสถานการณ์ในตอนนั้น

ส่วนจะแยกกลุ่มเอาทหารหรือไม่เอาทหาร ชัดเจนอยู่แล้วทั้งสองฝ่าย อย่างพรรคพลังประชารัฐคงเอาแน่ๆ หรือพรรคของนายไพบูลย์ นิติตะวัน และอื่นๆ ส่วนกลุ่มที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตย หรือพรรคที่ไม่เอาทหาร อย่างพรรคเพื่อไทย และพรรคอนาคตใหม่ ถ้าดูจำนวนแล้วแพ้ฝั่งอนุรักษนิยม แต่ต้องเข้าใจว่าอนุรักษนิยมสมัยนี้ไม่ได้สุดโต่งมากนัก

เรื่องแยกกลุ่มก้อนทางการเมืองจากอุดมการณ์ต่างๆ ของแต่ละฝ่ายพอจะเห็นชัดอยู่ แต่เรื่องเศรษฐกิจยังไม่เห็นฝ่ายต่างๆ งัดนโยบายอะไรขึ้นมาเลย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจของประชาชนมากพอสมควร ซึ่งฝ่ายอนุรักษนิยมอาจติดลบในแง่ที่ถูกมองว่าไม่เป็นประชานิยม ขณะที่ฝ่ายเสรีประชาธิปไตยจะมีชุดวิธีคิดที่สนับสนุนคนรากหญ้าเป็นหลัก ตรงนี้จะเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญมากที่จะเปลี่ยนกระแสตอบรับจากประชาชน

ส่วนที่คนมองว่าพรรคใหม่ที่เกิดขึ้นมีโอกาสจะเป็นพรรคลูกของพรรคเก่าหรือไม่ ผมมองว่ามีความเป็นไปได้อยู่ แต่ต้องดูรายละเอียดเพิ่มเติมว่าถึงเวลาจริงๆ แล้ว จุดยืนแต่ละฝ่ายจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน ถ้ามองย้อนไปก่อนจะมีกลุ่มสามมิตร ผมมองว่าคะแนนถูกเทไปหากลุ่มเสรีประชาธิปไตยมากหน่อย แต่พอดูท่าทีจริงๆ แล้วของกลุ่มสามมิตรหรือพรรคพลังประชารัฐก็มีนโยบายที่น่าสนใจที่ควรสานต่อและอาจช่วยดึงดูดความสนใจจากประชาชนได้

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ค่อนข้างที่จะวิเคราะห์ลำบาก เพราะพยายามเล่นตัวอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ หรือ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ถ้าดูท่าทีของนายชวน หลีกภัยแล้ว ก็ยังคงต่อต้านพรรคเพื่อไทยและชม พล.อ.ประยุทธ์ ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังยืนยันว่าจะไม่เข้าร่วม เหมือนแบ่งรับแบ่งสู้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับกระแสของคนในพรรคว่าถ้ามีจุดยืนใกล้เคียงกับนายชวน หลีกภัย ก็อาจจะมีการเปลี่ยนหัวหน้าพรรคที่ต้องการเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ หรือ คสช. ในเกมการเลือกตั้งครั้งนี้ตัวแปรสำคัญน่าจะอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์ ว่าจะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯต่อไปได้หรือไม่

คิดว่าประชาชนจะคงมีทางเลือกมากขึ้นในด้านของตัวเลือกพรรคการเมือง แต่ถ้าถามถึงแนวคิดใหม่ๆ มีมากขึ้นหรือเปล่า คงตอบว่าไม่ เพราะผมยังไม่เห็นความแตกต่างหรือการเสนอชุดความคิดใหม่ๆ อาจเป็นเพราะยังไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง บางคนเลยยังไม่ได้ปล่อยของออกมาให้ได้เห็น


ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

นักวิชาการอิสระ

การเมืองไทยสามารถแยกกลุ่มทางการเมืองจากอุดมการณ์ได้ อย่างน้อยในรอบนี้ เราแบ่งพรรคการเมืองเป็นกลุ่มเสรีประชาธิปไตยและอนุรักษนิยมได้ ถ้าเอาเรื่องอุดมการณ์ให้เอาประชาธิปไตยเป็นตัวตั้ง อย่างน้อยพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย และพรรคอนาคตใหม่ มีแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยคล้ายๆ กัน แต่ละพรรคอาจมีรายละเอียดแตกต่างกัน ความเข้มข้นอาจต่างกัน เช่น ประชาธิปัตย์อาจเสรีประชาธิปไตยที่รู้สึกว่าการครอบงำของกลุ่มทุนเป็นปัญหา ขณะที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้พูดถึงปัญหาด้านการครอบงำ ในความที่มีอุดมการณ์คล้ายๆ กัน ก็ไม่จำเป็นว่าแต่ละพรรคจะต้องเหมือนกันหมด

ส่วนใหญ่พรรคที่เกิดขึ้นใหม่ไม่ใช่พรรคลูกของพรรคการเมืองเก่า อย่างประชาธิปัตย์หรือเพื่อไทยไม่ได้มีท่าทีว่าจะมีพรรคลูก อย่างพรรคของคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ สมาชิกอาจเคยอยู่ในประชาธิปัตย์ แต่ก็ไม่ได้ถือว่าพรรคของคุณสุเทพจะเป็นพรรคลูกของประชาธิปัตย์ เพราะชัดเจนว่าพรรคของคุณสุเทพสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ชัดเจนว่าถ้ามีนายกฯคนนอกทางพรรคก็พร้อมจะเป็นฝ่ายค้าน การแตกตัวจากพรรคการเมืองเก่า ไม่ได้หมายความว่าเป็นพรรคลูก เป็นการแตกตัวด้วยอุดมการณ์ที่แตกต่างกันมากกว่า

คิดว่าไม่น่าเป็นไปได้ที่ประชาธิปัตย์จะจับขั้วกับพรรคหนุน คสช. ถ้ามีการผลักดันให้มีนายกฯคนนอก ประชาธิปัตย์พร้อมที่จะเป็นฝ่ายค้าน ช่วงที่ผ่านมาประชาธิปัตย์แสดงท่าทีที่แตกต่างจากรัฐบาล คสช.หลายครั้งแล้ว

อย่างไรก็ตาม ประชาชนมีทางเลือกในการเลือกพรรคการเมืองได้มากกว่าเดิม ภายใต้ข้อจำกัด เช่น พรรคการเมืองยังเถียงกันเรื่องการกำหนดนโยบายไม่ได้ เพราะฉะนั้นเป็นการได้เลือกมากขึ้นภายใต้ข้อจำกัดที่มากขึ้นด้วย เช่น คนที่ชอบเรื่องประชาธิปไตยมากๆ ตอนนี้มีพรรคใหม่ๆ เช่น พรรคอนาคตใหม่ สำหรับคนที่ชอบนายกฯคนนอก มีพรรคของคุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แต่ตอนนี้ก็มีทางเลือก เช่น พรรคของคุณสุเทพ ที่บอกว่านายกฯคนนอกเป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็น พล.อ.ประยุทธ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image