บทนำมติชน คุมประพฤติเมาขับ

ปัญหาเมาขับ ผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขับขี่ยวดยานพาหนะขณะมึนเมา ในช่วงเทศกาล มีประชาชนเดินทางจำนวนมาก แต่ละปีก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินเสียหายจำนวนมาก รัฐรณรงค์ ปลุกทุกฝ่ายตระหนักถึงปัญหา ขณะเดียวกันก็ประกาศบังคับใช้กฎหมายเข้มข้น เพื่อป้องปราม แก้ไขปัญหา ปีนี้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประธานศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน แถลงว่า มีการควบคุมเข้มข้นระหว่างเทศกาลสงกรานต์ 11-17 เมษายน ทั้งการบังคับใช้กฎหมายจราจร ดำเนินการตามคำสั่ง คสช.ที่ 46/ 2558 เมา จับ ยึดใบขับขี่และยึดรถเป็นการชั่วคราว รวมถึงเข้มงวดการจำหน่าย และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีเป้าหมาย มุ่งลดอุบัติเหตุทางถนน สถิติการบาดเจ็บ การเสียชีวิตลงให้ได้มากที่สุด

สถิติ 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้ทำความผิดเมาขับ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ถูกจับดำเนินคดี กระทั่งศาลมีคำสั่งลงโทษ และให้คุมประพฤติ ทำงานบริการสังคม ตัวเลขทรงตัวระดับสูง กล่าวคือปี 2554 มีผู้ถูกคุมประพฤติ 6,032 คดี ปี 2555 จำนวน 5,005 คดี ปี 2556 จำนวน 4,691 คดี ปี 2557 จำนวน 3,826 คดี และปี 2558 ที่ผ่านมา 4,051 คดี พื้นที่กรุงเทพมหานคร มีผู้ถูกคุมประพฤติคดีเมาแล้วขับสูงสุดต่อเนื่อง โดยปีนี้กรมคุมประพฤติ มีนโยบายนำผู้ทำผิดเมาขับ เป็นผู้ถูกคุมประพฤติตามคำสั่งศาล มาทำงานบริการสังคมในห้องดับจิต โรงพยาบาลที่เป็นเครือข่าย เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ แทนการให้กวาดถนน ทำความสะอาดสถานที่สาธารณะ อย่างไรก็ตาม นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เห็นว่าต้องคำนึงสิทธิของคนตาย และญาติ หากไม่ยอมให้คนอื่นที่มิใช่เจ้าหน้าที่รัฐ อาจมีปัญหาการละเมิดสิทธิได้

การคุมประพฤติ มีจุดมุ่งหมาย บำบัดแก้ไข ผู้กระทำความผิด ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ พฤติกรรม การจะนำผู้เมาขับมาทำงานที่ห้องดับจิต เห็นศพคนตาย เป็นจิตวิทยา ต้องการให้เกิดความกลัว จะได้ไม่ทำความผิดซ้ำอีก แต่ข้อทักท้วงของคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็มีเหตุผลที่น่ารับฟัง นอกจากอาจกระทบการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ยังอาจเป็นการละเมิดสิทธิผู้อื่นด้วย กรมคุมประพฤติมีความมุ่งมั่น ตั้งใจดี ต้องการดัดนิสัยผู้เมาแล้วขับ ที่เป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินประชาชน แต่ก็ต้องคำนึงถึงวิธีการ การคุมประพฤติที่เหมาะสม และเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายด้วย หากเห็นว่ารูปแบบเดิม ไม่ได้ผล ก็อาจพิจารณาแนวทางใหม่ แต่ก็ต้องทำการศึกษา วิจัย มีงานที่เป็นวิชาการรองรับ มิใช่เกิดจากความคิด ความเชื่อส่วนบุคคล นอกจากจะทำให้งานไม่บรรลุผล อาจก่อให้เกิดปัญหาอื่นตามมา กรมคุมประพฤติจึงต้องระมัดระวัง ในการที่จะใช้วิธีการที่ถูกตั้งคำถาม ว่ามีความถูกต้อง เหมาะสมเพียงใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image