กระแส ‘พลังดูด’ พิสูจน์จุดยืน ‘ปชต.’

หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการกรณีการเดินสายประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรตามจังหวัดต่างๆ และกลุ่มสามมิตรชักชวนอดีต ส.ส.พท.และแกนนำ นปช.เพื่อร่วมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งนายกรัฐมนตรีอีกสมัยหลังการเลือกตั้งนั้น


 

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

สถานการณ์นี้มีความชัดเจนทุกอย่างถึงกระบวนการเดินไปสู่การเลือกตั้งภายใต้พลังดูดของเครือข่ายที่ถูกวางเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ หรือกลุ่มสามมิตร แต่สิ่งที่มีความกังวลใจกันคือ การดูดแกนนำ นปช. ส่วนหนึ่งที่ทุกคนมองคือ แกนนำ นปช.ก็พร้อมให้ดูดด้วย ทำให้เห็นว่าหลักการการต่อสู้ของ นปช. โดยเฉพาะแกนนำ ไม่ได้รักษาอุดมการณ์ ทั้งหมดกลายเป็นเพียงวาทกรรมปลุกระดมมวลชนมาต่อสู้ เพื่อให้ตัวเองชนะ อุดมการณ์ทางการเมืองของแกนนำไม่มีความชัดเจน รวนเร ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ นี่คือปัญหา

Advertisement

ปรากฏการณ์นี้ทำให้เข้าใจว่า กลุ่มก้อนทางการเมืองลักษณะนี้เป็นการจัดตั้งชั่วคราว พูดง่ายๆ ว่าเป็นการสร้างสามัญสำนึกทางการเมืองแบบจอมปลอม พอถึงสถานการณ์หรือเงื่อนไขทางการเมืองหนึ่ง ตัวเองก็พร้อมที่จะเปลี่ยน เช่น ตอนนี้ดูเหมือนว่ากระแสพรรคเพื่อไทยกำลังตกต่ำ

เนื่องจากกระบวนการที่ คสช.วางไว้ทั้งหมด กล่าวคือ คสช.อยากสืบทอดอำนาจภายใต้เงื่อนไขการตั้งพรรค แล้วทำอย่างไรก็ได้ที่จะให้พรรคของตนชนะ ตัวเองเข้าสู่อำนาจทางการเมือง

และผลักพรรคเพื่อไทยให้เป็นฝ่ายค้าน สถานการณ์นี้ทำให้ นปช.ส่วนหนึ่งเห็นว่า ถ้าอยู่พรรคเพื่อไทยต่อไปจะไปไม่รอด อาจชนะ แต่ไม่ได้เป็นรัฐบาล จึงพร้อมที่จะถูกดูด

Advertisement

นอกจากนี้ เข้าใจว่า นปช.หลายคนมีปัญหาทางเศรษฐกิจ อาจมีการยื่นข้อเสนอเป็นจำนวนเงินที่มากพอสมควร ทำให้เห็นว่าการเมืองไทยกำลังจะกลับไปสู่ธุรกิจการเมืองแบบเดิม

คือเข้าสู่อำนาจทางการเมืองเพียงเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง สิ่งนี้บอกเราว่า การเมืองไม่เปลี่ยน การปฏิรูปทางการเมืองที่ผ่านมาล้มเหลว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเองต้องการแก้ปัญหานี้ แต่แก้ไปก็กลับมัดคอตัวเอง สิ่งที่ตัวเองดูดก็ยังใช้วิธีการเดิม

การดูดทำให้พลังมวลชนแตกแยก และขวัญหนีดีฝ่อ มวลชนที่เคยเป็นแนวร่วม นปช. คิดว่าแกนนำต่อสู้ภายใต้อุดมการณ์ แต่พอเกิดสถานการณ์เช่นนี้จึงไม่รู้จะไปอย่างไรต่อ เกิดสภาวะที่ไม่มั่นคง ซึ่งจะไปกระทบกับสถานะของพรรคเพื่อไทยในอนาคตว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

สำหรับสาเหตุที่พรรคเพื่อไทยแจ้งสมาชิกให้หลีกเลี่ยงการโต้ตอบประเด็นการถูกดูดนั้น มองว่าขณะนี้พรรคเพื่อไทยมีความกลัว แต่พยายามสื่อสารเพื่อรักษาขวัญกำลังใจของคนที่ยังอยู่

ในขณะเดียวกันก็พยายามหาคนมาทดแทนคนที่ถูกดูดไป พรรคเพื่อไทยอยู่ในภาวะตกที่นั่งลำบาก กระบวนการทั้งหมดถูกสร้างขึ้นเพื่อให้พรรคเพื่อไทยตกเป็นฝ่ายค้านเท่านั้น ถึงชนะการเลือกตั้งก็ไม่ได้เป็นรัฐบาล

เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยอ่านเกมออกตั้งแต่ต้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ การใช้กลไกราชการ กองทัพ นักกฎหมาย สถาบัน องค์การต่างๆ เข้ามาทำให้เพื่อไทยไม่สามารถเป็นรัฐบาลได้

และมาเจอสถานการณ์นี้ ทำให้แกนนำหลายคนพยายามที่จะบอกลูกพรรคว่าอย่าสื่อสารอะไรมากเกินไปเพราะยิ่งสื่อสารเยอะ ยิ่งเป็นผลลบกับพรรค แล้วค่อยทำงานเงียบๆ หาคนมาทดแทนและพยายามสื่อสารกับนายทักษิณ ชินวัตร เพราะต้องยอมรับว่านายทักษิณยังได้รับความนิยม


 

ธเนศวร์ เจริญเมือง
คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การดูดมันเป็นการเปิดลู่ทางทางการเมือง เหมือนในต่างประเทศที่เป็นการชวนกันไปชวนกันมาเป็นปกติ แต่พอเป็นคำว่าดูดก็มีความหมายในทางลบ เป็นพลังบางอย่างที่ต้องใช้เงินใช้อะไร

แต่ที่ต่างประเทศมันไม่รุนแรงเท่าเราเพราะระบบการเมืองที่ต่อเนื่องโดยไม่มีรัฐประหารเปิดโอกาสมีความแข่งขันกันสูง นักการเมืองมีเสรีภาพในการย้ายพรรคได้ ประชาชนมีเสรีภาพในการตัดสินใจที่จะเลือกได้หรือไม่ก็ได้ ทำให้การดูดลดน้อยลง

สำหรับประเทศไทยตลอด 70 ปีที่ผ่านมา เรามีรัฐประหารหลายสิบครั้งสลับกับการเลือกตั้งเลยเกิดปรากฏการณ์นี้ พอรัฐประหารเกิดกระแสต่ำเลยต้องเกิดการเลือกตั้ง เกิดการแข่งขันกัน การชวนแทบเป็นไปไม่ได้ การดูดจึงสูงกว่าเพราะว่าคนไม่รู้จักนักการเมืองใหม่ๆ รัฐประหารเลยเปิดโอกาสให้นักการเมืองแสดงความสามารถจึงเกิดการดูดคนเก่าเพราะมีชื่อเสียงมีทุนทางสังคมอยู่แล้ว

มาถึงกรณีพรรคเพื่อไทยในแง่ที่สามารถชนะการเลือกตั้งหลายสมัย การดูดจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญของฝ่ายตรงข้ามมากๆ ที่ต้องเอาชนะให้ได้ ต้องดูดให้ได้ ถือว่าคนที่เคยชนะมาก่อนมีทั้งชื่อเสียงเก่าในฐานะผู้ชนะและมีชื่อเสียงของพรรคเดิมที่เคยอาศัย

เมื่อถามว่าการดูดจะส่งผลกระทบกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ คำตอบก็มีสองข้อคือ อันดับแรก ขึ้นอยู่กับว่าการดูดขนาดนี้มันเป็นข่าวกระพือโหมขนาดไหน ถูกมองจากสังคมแง่ใด ต่อมาคือ คนไทยยังห่วงใยผูกพันรักใคร่กับพรรคเก่ามาเท่าใด

ที่ทราบกันตอนนี้ ฝ่ายหนึ่งบอกว่าดูดครั้งนี้ชนะแน่นอน เพราะฝ่ายที่ดูดบอกว่าได้ตัวดีเด็ดไปมาก ขณะที่ฝ่ายเพื่อไทยออกมาพูดว่าประชาชนยังมีความรักใคร่ห่วงใยต่อพรรค

ไม่ว่าใครจะย้ายไปไหนเพียงขอให้คนของเพื่อไทยได้ลงเราจะเลือก เลยเป็นการวัดดวงว่า ตกลงแล้วผู้มีชื่อเสียงถูกดูดไปหมด คนใหม่ๆ ขึ้นมาใครจะเป็นยังไง ผมสังเกตว่าเพื่อไทยเรียกร้องให้เลือกตั้งตลอดเหมือนไม่มีความกลัว อยากเห็นการเลือกตั้งเร็วๆ ให้มาวัดดวงกันเลยว่าคนเก่าที่จากไปกับคนใหม่ที่เข้ามาใครจะแน่กว่าใคร

ยังมีปรากฏการณ์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. จะลงเลือกตั้งอย่างแน่นอน ได้แก่ การเดินสายไปต่างประเทศเพื่อที่จะแสดงตนให้เห็นว่าผู้นำอังกฤษ ฝรั่งเศส ที่คนไทยนิยมได้ให้การต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์

ต่อมาท่านยังพูดทั้งนอกและในประเทศว่าจะมีการเลือกตั้ง

และการที่ท่านลงไปคุยกับประชาชน ที่พูดกับผู้ปกครองนักฟุตบอลทีมหมูป่าอะคาเดมี่ที่ถ้ำหลวงก็พูดแบบหาเสียง และลงท้ายว่าอย่าลืมไปเลือกตั้ง นี่ไม่ใช่การพูดเพื่อแสดงว่าฉันรักประชาธิปไตย

แต่เป็นการย้ำเตือนว่าผมอยู่ในนั้นด้วยนะ สุดท้ายคือ ครม.สัญจร ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าเป็นการหาเสียงที่เข้มข้นมาก ต้องการคะแนนทุกหยดทุกเม็ดจากประชาชนในทุกจังหวัด

กลยุทธ์ทุกอย่าง เช่น การขอบคุณผู้ช่วยชีวิต จนถึงการนำทีมหมูป่าออกมาแถลงข่าวเป็นการบอกอ้อมๆ ว่าเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จจากรัฐบาล แต่ทุกครั้งที่มีปัญหาทางลบจะบอกว่านี่เป็นความผิดของรัฐบาลก่อน

ผมยังตั้งข้อสังเกตว่า เนื่องจากมีคนตำหนิตลอดว่านายกฯคนนอกมันไม่ดียังไง ผมว่าการทุ่มเททั้งหมดข้างต้นสะท้อนว่าท่านต้องลงเป็นหัวหน้าพรรคใดพรรคหนึ่งแน่นอน

สำหรับ กกต. อีก 2 ท่านที่ไม่ได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งนั้นก็คงดูๆ กันอยู่ใช่คนของเราหรือไม่ ต้องการความแน่นอนมากกว่านี้ มันเหมือนการเล่นฟุตบอล ขนาดแม้แต่วันเลือกตั้งยังไม่แน่นอน แต่ท่าทีตอนนี้มันไปแน่นอน ท่วงทำนองลีลาการหาเสียงออกมาชัดเจน

ส่วนการที่พรรคเพื่อไทยยังแสดงความมั่นใจที่จะชนะการเลือกตั้งครั้งหน้า มองว่านักการเมือง หรือนักสู้ที่ดีต้องมีการให้กำลังใจตัวเองหรือให้กำลังใจคนเลือกตั้งว่าต้องมีการต่อสู้ต้องมีความหวัง

ผมมองว่าพรรคเพื่อไทยที่เคยชนะหลายครั้งต้องมีความมั่นใจพอสมควร ที่น่าสนใจคือประชาชนไทยก็มีประสบการณ์มาเป็นสิบปีตั้งแต่ปี 2544 ที่เพื่อไทยได้ชัยชนะ ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนผู้เลือกตั้งมีความแน่นอน คิดว่าคงไม่ใช่ราคาคุย เพียงแต่จะคะแนนเยอะมากมั้ยต้องดูอีกที

ขณะที่นายทักษิณ ชินวัตร เองก็ส่งสัญญาณออกมาจากเนื้อเพลงที่ว่า ?ไปดีเถิดนะพี่ขออวยพร? มันมีความหมายสองทาง คือจะไปก็ไปเถอะจะได้รับคนใหม่ๆ เข้ามา

หรืออีกทางคือ คนรักกันก็ไม่น่าจากกันไปเลย คิดว่าเขาพยายามมองในแง่ดี พรรคการเมืองไม่ใช่การล่ามโซ่เอาไว้ สุดท้ายแล้วสังคมไทยก็กลับไปหาระบอบประชาธิปไตยอย่างเดิมจะไปอยู่ที่ไหนกับใครก็ขอให้ประชาชนได้ตัดสินใจ

ผมขอให้ประชาธิปัตย์ได้คิดแบบนี้ ขอโอกาสให้ได้มีการเลือกตั้ง ให้ประชาชนได้มีสิทธิในการเลือกผู้แทนฯ สู้เชิงระบบและสู้ด้วยใจ

ส่วนคำถามที่ว่า การเดินหน้าดูดทุกฝ่ายจะสลายขั้วทางการเมืองได้จริงหรือ และจะทำให้การเมืองไทยเป็นเอกภาพหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของพรรคใหม่ที่คิดตั้งรัฐบาลไม่ว่าจะเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ หรือใครก็ตาม ว่าจะมีประสิทธิภาพในการนำเสนอนโยบายที่ถูกอกถูกใจประชาชนหรือไม่

และจะสามารถทำให้เห็นผลภายในระยะเวลาที่ชัดเจนไหม จะแก้ปัญหาคนส่วนใหญ่ได้หรือเปล่า แม้ว่าผู้สมัครจะมาจากหลายทิศหลายกลุ่ม

แต่เมื่อความนิยม การสนับสนุนที่กว้างขวางของประชาชนที่มีต่อหัวหน้าพรรคและนโยบายพรรคอย่างแข็งแกร่ง มันได้ปิดความขัดแย้งต่างๆ หมดเลย หากทำที่บอกมาได้ความแตกต่างทางการเมืองจะหายไปเยอะมาก และการเมืองไทยจะไปโลดเลยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

เรื่องประชานิยมในทางรัฐศาสตร์มันเป็นวาทกรรม หากพูดออกมาอย่างไม่ดี มันคือการเอาอกเอาใจประชาชนจนไม่มีคุณธรรมศีลธรรม หรือความแข็งแกร่งทางการเมือง คือสปอยล์ให้ประชาชนเสียไปเลย

แต่ความหมายจริงๆ มันไม่ใช่ พรรคที่ดีต้องทำประโยชน์ให้ประชาชนเงยหน้าอ้าปากได้ ดูแลตัวเองได้ มันควรเป็นประชานิยมในความหมายแบบนี้ เราไม่เคยแยกแยะคำนี้

จนกระทั่งรัฐประหารเกิดขึ้นมาและเปลี่ยนคำใหม่เป็นประชารัฐยิ่งเสียหายหนักอีก ถ้าประชารัฐดีใช่ไหม ประชานิยมไม่ดีใช่ไหม ตอนนี้อาจจะทำยิ่งกว่าที่ทักษิณทำคือ แจก หว่าน ทำทุกอย่างเพียงให้ได้คะแนน เป็นประชานิยมทางลบมาก


 

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องธรรมชาติของคนที่มุ่งแสวงหาอำนาจทางการเมือง จะทำแบบนี้เป็นปกติ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองวิธีที่ง่ายที่สุด ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะดำเนินการก็คือ การตั้งพรรคทหาร โดยอาศัยตั้งพรรคนอมินีขึ้นมา แล้วก็ใช้กระบวนการดูด ส.ส.ในพื้นที่ต่างๆ มีฐานเสียง เคยเป็น ส.ส. มาแล้ว แล้วก็มีแนวโน้มที่จะได้รับเลือกเข้ามาอีก จะอาศัยปัจจัยนี้ดึงเข้าพรรคพลังประชารัฐ

เพราะตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา เราก็เห็นได้ชัดตลอดว่ามีการเตรียมการอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจต่อให้ คสช. จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยากนัก

ขณะเดียวกันอยากให้มองดูบทเรียนสำคัญสังคมไทยก็เคยผ่านประสบการณ์แบบนี้มาด้วย ไม่ต้องย้อนไปไกล เอาแค่ปี 2535 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) พยายามจะสืบทอดอำนาจผ่านการตั้งพรรคสามัคคีธรรมขึ้นมา แต่บริหารประเทศไม่ได้ สุดท้ายก็ไปไม่รอด ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ที่จะตั้งพรรคทหาร หรือพรรคนอมินีขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจ

ขณะที่ผลกระทบพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่โดนดูด ส.ส.ในพื้นที่ภาคอีสาน และภาคอื่นๆ นั้น ผมมองเรื่องนี้ว่าในประสบการณ์ของพรรค พท. ตั้งแต่พรรคไทยรักไทย (ทรท.) พรรคพลังประชาชน (พช.) ไม่ว่าจะมีสมาชิกถูกตัดสิทธิทางการเมือง ทั้งสมาชิก 111 และ 109 หรือถูกดูดก็ตาม พรรค พท.จะมีการสร้างสมาชิกพรรครุ่นใหม่ๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ ทดแทนเสมอ จึงไม่น่าห่วงเท่าพรรคการเมืองอื่นๆ ที่ไม่มีการสร้างสมาชิกรุ่นใหม่มากกว่า

ในความเป็นจริงผมอยากให้ประชาชนหันมามอง และทบทวนปัจจัยที่สำคัญกว่ากระบวนการการดูด ส.ส. แกนนำกลุ่มการเมือง

นั่นคือ การเลือกนโยบายสาธารณะของพรรค หรือเลือกที่ตัวบุคคล เราจะสามารถก้าวพ้นตัวบุคคลได้หรือไม่ แล้วก้าวไปสู่ปฏิรูปการเมืองได้จริงๆ

ดังนั้น เราต้องหันมาร่วมกันผลักดันนโยบายสาธารณะให้เป็นวาระแห่งชาติ และเป็นวาระสำคัญของพรรคการเมือง มากกว่าไปมองกระบวนการดูด ส.ส.อย่างที่กำลังดำเนินการกันอยู่

อย่างไรก็ตาม กระบวนการดูด ส.ส. เข้าสู่พรรคพลังประชารัฐ เพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจ คสช. หลังการเลือกตั้ง ประชาชนจะเอาด้วยหรือไม่ และการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะกลายเป็นการเลือกตั้งเชิงอุดมการณ์ที่สำคัญของสังคมไทย

ระหว่างเลือกการสืบทอดอำนาจ หรือเลือกหลักการประชาธิปไตย!?!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image