รายงาน : ร่างแก้ไขเพิ่มเติม‘พ.ร.ป.กกต.’ ยกเครื่อง‘ผู้ตรวจการเลือกตั้ง’

หมายเหตุร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) (ฉบับที่..) พ.ศ. …. จำนวน 11 มาตรา ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เข้าชื่อ 36 ชื่อ เพื่อขอแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ซึ่งสาระสำคัญคือการเพิ่มเติมคณะกรรมการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง ซึ่งเดิมกฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของ กกต.

บันทึกหลักการและเหตุผล
หลักการ
แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 ดังต่อไปนี้

1) เพิ่มบทนิยามคําว่า “คณะกรรมการคัดเลือก” (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 4)

2) กําหนดให้มีคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง (เพิ่มมาตรา 28/1)

Advertisement

3) กําหนดให้ผู้อํานวยการสํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจําจังหวัดเป็นผู้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ผู้แทนแต่ละหน่วยงานมาเป็นคณะกรรมการคัดเลือก (เพิ่มมาตรา 28/2)

4) กําหนดให้ผู้อํานวยการสํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจําจังหวัด ตรวจสอบเอกสารการสมัคร และจัดทําบัญชีรายชื่อผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง (เพิ่มมาตรา 28/3)

5) กําหนดให้คณะกรรมการคัดเลือกดําเนินการตรวจสอบคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามประวัติและพฤติการณ์ของผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง (เพิ่มมาตรา 28/4)

Advertisement

6) กําหนดให้คณะกรรมการคัดเลือกพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง ให้เหลือจํานวนสิบหกคน โดยวิธีการลงคะแนนลับ (เพิ่มมาตรา 28/5)

7) กําหนดให้บรรดาการดําเนินการใดๆ เกี่ยวกับการคัดเลือกและการแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง ซึ่งได้ดําเนินการอยู่ในวันก่อนวันที่ พ.ร.ป.นี้ใช้บังคับ ให้เป็นอันสิ้นผลไปนับแต่วันที่ พ.ร.ป.นี้มีผลใช้บังคับ และให้ดําเนินการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับ (มาตรา 8 และมาตรา 10)
เหตุผล
โดยที่ผู้ตรวจการเลือกตั้งเป็นตําแหน่งที่มีหน้าที่และอํานาจในการตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ดําเนินการเลือกตั้ง และการกระทําความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือการกระทําใดที่จะเป็นเหตุทําให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ดังนั้น เพื่อให้การคัดเลือกบุคคลในการแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ควรกําหนดให้มีคณะกรรมการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งที่มีองค์ประกอบที่หลากหลายและมีความเป็นอิสระ จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง

พระราชบัญญัตินี้ มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

เหตุผลและความจําเป็นในการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อให้การคัดเลือกบุคคลในการแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม โดยจะส่งผลให้การเลือกตั้งซึ่งเป็นกระบวนการสําคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งการตรา พ.ร.ป.ฉบับนี้ สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

มาตรา 1 พ.ร.ป.นี้ เรียกว่า “พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….”

มาตรา 2 พ.ร.ป.นี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้เพิ่มบทนิยามคําว่า “คณะกรรมการคัดเลือก” ระหว่างบทนิยาม คําว่า “กรรมการ” และคําว่า “กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง” ในมาตรา 4

“คณะกรรมการคัดเลือก” หมายความว่า คณะกรรมการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัดและกรุงเทพมหานคร”

มาตรา 4 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 28/1

“มาตรา 28/1 ในการดําเนินการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง ให้มีคณะกรรมการคัดเลือกในแต่ละจังหวัดยกเว้นกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยบุคคลดังต่อไปนี้

(1) ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ

(2) ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัด เป็นกรรมการ

(3) อัยการจังหวัดซึ่งเป็นหัวหน้าสํานักงานอัยการจังหวัด เป็นกรรมการ

(4) ผู้บังคับการตํารวจภูธรจังหวัด เป็นกรรมการ

(5) ประธานหอการค้าจังหวัด เป็นกรรมการ

(6) ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด เป็นกรรมการ

ให้ผู้อํานวยการสํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจําจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้พนักงานของสํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจําจังหวัดที่ได้รับมอบหมายจํานวนสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ ในกรุงเทพมหานคร ให้มีคณะกรรมการคัดเลือก ประกอบด้วยบุคคลดังต่อไปนี้

(1) ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานกรรมการ

(2) ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา เป็นกรรมการ

(3) ผู้แทนอัยการสูงสุด เป็นกรรมการ

(4) ผู้บัญชาการตํารวจนครบาล เป็นกรรมการ

(5) ผู้แทนหอการค้าไทย เป็นกรรมการ

(6) ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ

(7) ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย เป็นกรรมการ

ให้ผู้อํานวยการสํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจํากรุงเทพมหานครเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้พนักงานของสํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจํากรุงเทพมหานครที่ได้รับมอบหมายจํานวนสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ”

มาตรา 5 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 28/2

“มาตรา 28/2 ให้ผู้อํานวยการสํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจําจังหวัด ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ผู้แทนของแต่ละหน่วยงานตามมาตรา 28/1 กรณีไม่มีกรรมการในตําแหน่งใด ให้คณะกรรมการคัดเลือก ประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่”

มาตรา 6 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 28/3

“มาตรา 28/3 เมื่อเสร็จสิ้นการรับสมัคร ให้ผู้อํานวยการสํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจําจังหวัดตรวจสอบเอกสารการสมัคร และจัดทําบัญชีรายชื่อผู้สมัคร เข้ารับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ โดยเรียงลำดับตามตัวอักษร เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการคัดเลือกภายในห้าวันนับแต่วันปิดรับสมัคร

กรณีที่มีผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งไม่ครบจํานวนสิบหกคน ให้ผู้อำนวยการสํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจําจังหวัดประกาศขยายระยะเวลาการรับสมัครออกไปอีกสามวันนับแต่วันเสร็จสิ้นการรับสมัคร

เมื่อดําเนินการตามวรรคสองแล้วยังมีผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกไม่ครบจํานวนสิบหกคน ให้ถือว่ามีผู้สมัครเท่าที่มีอยู่”

มาตรา 7 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 28/4

“มาตรา 28/4 เมื่อคณะกรรมการคัดเลือกได้รับบัญชีรายชื่อผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งแล้ว ให้ดําเนินการตรวจสอบคุณสมบัติลักษณะต้องห้าม ประวัติ และพฤติการณ์ของผู้สมัครแต่ละรายให้แล้วเสร็จภายในสิบวัน

ในการตรวจสอบคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามดังกล่าว อาจขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งข้อมูลหลักฐานมาเพื่อประกอบการพิจารณาด้วยก็ได้”

มาตรา 8 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 28/5

“มาตรา 28/5 ภายในสามวันนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาตามมาตรา 25/4 ให้คณะกรรมการคัดเลือกพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครให้เหลือจำนวนสิบหกคน โดยวิธีการลงคะแนนลับ เว้นแต่เป็นกรณีตามมาตรา 28/3 วรรคสาม

ในการประชุมคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ต้องมีกรรมการอยู่ในที่ประชุมนั้นไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคณะกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม ให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุมแทน

ในการลงคะแนน ให้กรรมการคนหนึ่งมีสิทธิลงคะแนนได้ไม่เกินจํานวนสิบหกคน และให้ผู้ได้รับคะแนนสูงสุดเรียงลงมาจนครบสิบหกคนที่ได้รับการคัดเลือก เพื่อเสนอชื่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง

ถ้ามีผู้ได้รับคะแนนเท่ากันในลําดับใด อันเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับเลือกเกินจํานวนสิบหกคน ให้ดําเนินการลงคะแนนเลือกเฉพาะผู้ที่ได้รับคะแนนเท่ากันนั้นอีกครั้งหนึ่ง โดยให้กรรมการคนหนึ่งมีสิทธิลงคะแนนได้เท่าจํานวนที่ยังขาดอยู่

เมื่อได้ดําเนินการตามวรรคสี่แล้ว ยังมีผู้ได้รับคะแนนเท่ากันอีก อันเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับเลือกเกินจํานวน ให้ประธานกรรมการดําเนินการจัดให้มีการจับฉลากสําหรับผู้ได้รับคะแนนเท่ากัน โดยให้จัดทำสลากรายชื่อผู้ได้รับคะแนนเท่ากัน และให้ประธานกรรมการจับสลากรายชื่อเพื่อให้ครบจํานวนสิบหกคน”

มาตรา 9 บรรดาการดําเนินการใดๆ เกี่ยวกับการคัดเลือกและการแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งซึ่งได้
ดําเนินการอยู่ในวันก่อนวันที่ พ.ร.ป.นี้ใช้บังคับ ให้เป็นอันสิ้นผลไปนับแต่วันที่ พ.ร.ป.นี้มีผลใช้บังคับ

มาตรา 10 ให้ดําเนินการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ พ.ร.ป.นี้มีผลใช้บังคับ

มาตรา 11 ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งรักษาการตาม พ.ร.ป.นี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image