กฎเหล็กคุมสื่อออนไลน์ รับศึก ‘เลือกตั้ง’ ปี’62

หมายเหตุ – ความเห็นจากนักการเมือง นักวิชาการ กรณีจะมีการออกกฎเหล็กคุมเข้มหาเสียงทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์รับเลือกตั้งปี’62


 

สามารถ แก้วมีชัย
อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย (พท.)

ทราบว่าขณะนี้ร่างระเบียบ กกต.ว่าด้วยการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ อยู่ในขั้นตอนการของยกร่างกฎหมาย ซึ่งการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นเรื่องใหม่ เพราะยังไม่เคยมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มา เข้าใจว่าระเบียบดังกล่าวน่าจะเป็นการควบคุมเรื่อง 1.ระยะเวลาว่าใช้ได้ถึงเมื่อใด 2.ค่าใช้จ่าย 3.เนื้อหาถ้อยคำที่ใช้ในการหาเสียงที่จะต้องไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง หลอกลวง หยาบคาย เสียดสี เป็นต้น

Advertisement

ทั้งนี้ เมื่อทุกอย่างชัดเจนทุกพรรคการเมืองก็คงจะได้ถือปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน แต่ส่วนตัวมองว่ามีหลายเรื่องที่ค่อนข้างจะควบคุมลำบาก เช่น แอพพลิเคชั่นไลน์กลุ่ม ซึ่งอาจจะเป็นช่องว่างในการใช้สื่อเหล่านี้กระทำผิดได้ เพราะควบคุมและตรวจสอบได้ยาก อย่างไรก็ตาม หากถามว่ายากต่อการปฏิบัติหรือไม่ คำตอบก็ไม่ยาก แต่อาจจะเป็นปัญหากับคนที่ไม่รู้ ยกตัวอย่าง หากกำหนดว่าห้ามหาเสียงเกิน 6 โมงเย็นก่อนวันเลือกตั้ง แต่หัวคะแนน คนช่วยสนับสนุน อาจจะเผลอไปแชร์ข้อมูลเกินเวลาที่กฎหมายกำหนดได้ ตรงนี้ก็ต้องระมัดระวัง

ทั้งนี้ ยอมรับว่ามีความเป็นห่วงว่าการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์อาจเป็นช่องว่างที่ใช้ช่องทางนี้ใส่ร้ายป้ายสีกันง่ายขึ้น ซึ่งสิ่งนี้เป็นปัญหาที่ กกต.ต้องไปคิดหาวิธีแก้ไข เพราะในทางปฏิบัติอาจมีปัญหาได้ กติกาที่ออกมาต้องรอบคอบ ชัดเจน และเป็นมาตรฐานเดียวกัน อย่าเลือกปฏิบัติ

Advertisement

สดศรี สัตยธรรม
อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

โซเชียลมีเดียเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งถ้าหากว่ายังไม่มีการปลดล็อกคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ยิ่งจำเป็นต้องให้มีการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย เพราะเงื่อนไขของคำสั่งดังกล่าวทำให้พรรคการเมืองมีเวลาหาเสียงน้อยลง หรือแทบไม่ให้โอกาสพรรคการเมืองได้มีการหาเสียงเลือกตั้งเลย แต่ถ้าหากปลดล็อกแล้วและมีข้อห้ามการหาเสียงก็เห็นด้วยหากจะควบคุมแต่ต้องเป็นธรรม

แต่มองว่าการคุมเข้มการหาเสียงผ่านทางโซเชียลน่าจะใช้ในช่วง 7 วันก่อนการเลือกตั้งมากกว่า ในช่วงนี้ควรให้นักการเมือง พรรคการเมือง ได้ใช้โซ
เชียลมีเดียแถลง ชี้แจงนโยบายต่างๆ ให้ประชาชนได้รับทราบ เพราะสมัยที่ทำหน้าที่เป็น กกต.และรับผิดชอบงานด้านพรรคการเมืองนั้น จะพบสำนวนคดีในเรื่องการหาเสียงในช่วง 7 วันก่อนวันเลือกตั้งมากกว่า ส่วนการใส่ร้ายป้ายสีกันทางโซเชียลนั้น ไม่มีในลักษณะเหล่านี้เลย

อย่างไรก็ตาม คำสั่ง คสช. 53/2560 มีเงื่อนไขจำกัดเกี่ยวกับการหาเสียง ทำให้พรรคการเมืองไม่มีโอกาสแสดงหรือชี้แจงว่าแต่ละพรรคมีแนวนโยบายอย่างไรกันบ้างที่จะทำในอนาคต มองว่าควรเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียอย่างเท่าเทียมกันในการหาเสียงเลือกตั้ง ถ้าหากพบว่ามีการใส่ร้ายป้ายสีกันก็ว่าไปตามกระบวนการของกฎหมาย แต่ถ้าหากควบคุมมากเกินไปมันก็ไม่น่าจะเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง

วิรัตน์ กัลยาศิริ
หัวหน้าคณะกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

ปัจจุบันต้องยอมรับความจริงว่า วิทยุโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ มีคนชมคนฟัง คนอ่านลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะตัวที่เข้ามาแทนที่ที่สำคัญคือ
โซเชียลมีเดียทั้งหลาย เนื่องจากสามารถสื่อได้ทันทีทันใด ทันเวลา สามารถส่งได้เองและกระจายข่าวได้เองโดยไม่ต้องรอคนกลางอื่นใด โซเชียลมีเดียจึงมีคุณอนันต์และมีโทษมหันต์ พร้อมทั้งมีกลุ่มบุคคล คณะบุคคล โดยร่วมมือกับคนในต่างประเทศหรือต่างแดนหรือใช้สถานีนอกประเทศ นอกราชอาณาจักร แพร่ข่าวเพื่อส่งเสริมพวกของตัว ทำลายพวกของคนอื่น โดยการใส่ร้ายตัดต่อ แต่งเติม ทำซ้ำหรือเอาข่าวเก่าเมื่อหลายปีที่แล้วกลับมาเล่นใหม่ให้ดูเสมือนเป็นข่าวในปัจจุบัน

รวมทั้งการตัดแต่งคลิปการตัดแต่งภาพและเสียงของคู่แข่งขันมีมาหลายปีแล้วตั้งแต่ในยุคแรกที่ยังไม่แพร่หลายทางโซเชียลมีเดีย ผู้ที่แก้สามารถแก้ได้ทันท่วงที แต่กรณีโซเชียลมีเดีย ซึ่งแพร่กระจายไปเร็วนับเป็นวินาทีหากกระจายไปแล้วกระจายไปได้ทั้งโลกจึงเป็นเรื่องที่สกัดกั้นไม่ทัน และห้ามไม่ให้แพร่หลายเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ทันกาล ไม่ทันเวลา ยิ่งมีฐานมาจากต่างประเทศการสกัดกั้นภายในประเทศจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากและไม่ทันเวลา ดังนั้น มาตรการที่น่ากลัวประการหนึ่งก็คือ การใช้บุคคลซึ่งไม่ปรากฏชื่อ ไม่ปรากฏนามแล้วใส่ร้ายคู่แข่งขัน โดยอ้างว่าไม่ใช่เป็นการกระทำของตนของพรรคตน ของพวกตน และกรณีที่มีฐานที่มาจากต่างประเทศก็เป็นเรื่องที่ยากที่จะสกัดกั้น

เพราะฉะนั้นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็คงต้องหามาตรการควบคุมเรื่องนี้โดยพรรคใดมีส่วนรู้หรือมีส่วนได้ คนของพรรคใดมีส่วนกระทำเช่นนี้ต้องยุบพรรคทิ้งนอกจากการติดคุกติดตะราง

สิ่งที่ต้องทำควบคู่คือพรรคการเมืองคุณภาพ โดยเฉพาะกรรมการบริหารพรรคคุณภาพ แปลว่าคิดเองทำเองไม่ฟังคำสั่งจากผู้ใด ไม่ทำเพื่อประโยชน์ใคร แต่ทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ เพื่อประโยชน์ของคนไทยทุกคน ไม่ใช่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพื่อประโยชน์ของคนไทยทุกคนไม่ใช่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จิตสำนึกของนักการเมือง จิตสำนึกของพรรคการเมือง จึงเป็นเรื่องที่เพิ่งสำเหนียกให้มากที่สุด นอกจากนี้ สิ่งที่ใกล้เคียงกับโซเชียลมีเดียคือโพลจากสำนักทั้งหลาย

กกต.ชุดนี้ต้องหามาตรการดูแลอย่าให้มีการชี้นำและต้องสกัดหรือห้ามก่อนที่ถึงวันเลือกตั้งอย่างน้อย 15 วัน ทั้งนี้ การหาเสียงทางโซเชียลมีเดียน่าจะต้องสั่งระงับโดยสิ้นเชิงก่อนถึงวันเลือกตั้งอย่างน้อย 15 วัน เพราะหากให้เวลาน้อยกว่านั้นเกรงว่าพรรคที่ได้รับความเสียหายหรือผู้สมัครที่ได้รับความเสียหายจะแก้ข่าวหรือชี้แจงความจริงไม่ทันเวลา

มานะ ตรีรยาภิวัฒน์
คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ผมมองว่าการเคลื่อนไหวผ่านออนไลน์หรือเฟซบุ๊กเกิดขึ้นตลอดเวลาอยู่แล้ว เพราะว่าวันนี้แพลตฟอร์มสื่อไม่ได้อยู่แค่ตัวทีวีหรือวิทยุ แต่อยู่ในสื่อออนไลน์ด้วย แต่ข้อแตกต่างระหว่างการหาเสียงในสื่อโซเชียลมีเดียกับสื่อดั้งเดิมก็คือ โซเชียลมีเดียจะมีการปฏิสัมพันธ์เป็นการสื่อสารสองทางได้มากกว่า มันไม่ใช่การเอาแต่นำเสนอนโยบายหรือการนำเสนอเพื่อขายตัวผู้สมัครเพียงอย่างเดียว แต่ควรเป็นช่องทางเพื่อพูดคุยทำความรู้จักหรือเข้าใจปัญหาของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละชุมชนหรือแต่ละกลุ่มเป้าหมายซึ่งมีความหลากหลายมาก

ขณะเดียวกันการนำเสนอนโยบายแทนที่จะเป็นการยัดเยียดก็ควรจะเป็นการรับฟังผู้มีสิทธิเลือกตั้งในที่ต่างๆ แล้วค่อยเอาไปประมวลผลหรือเอาไปปรับในเรื่องของนโยบายได้อีกทีหนึ่ง คือมองเป็นกระบวนการมากกว่าการเป็นแค่ช่องทางสื่อสารทางเดียวแบบเดิม

สำหรับการควบคุมการหาเสียงทางช่องทางออนไลน์ในตอนนี้ คิดว่าการหาเสียงเวลานี้อาจจะยังไม่ได้เปิดช่องอย่างเต็มที่ ด้วยตัวกฎหมายก็มีอยู่แล้ว เช่น ในเรื่องของกฎหมายการหมิ่นประมาท กฎหมายอาญา กฎหมายแพ่ง เพียงแต่การใช้ช่องทางนี้ในช่วงที่ยังไม่เปิดช่องควรเป็นลักษณะรับฟังความเห็นของกลุ่มเป้าหมายหลักๆ มากขึ้น แทนที่จะรีบชี้แจงนโยบายหรือขายผู้สมัครเพียงอย่างเดียว ควรใช้เพื่อระดมปัญหาของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ และหลังจากนั้นค่อยมานำเสนอถึงแนวทางแนวนโยบายของการแก้ไขปัญหาอีกทีหนึ่งก็ได้

สำหรับกรณีของคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พรรคอนาคตใหม่ ก็มองว่าอาจจะต้องมีการสู้กันในเชิงข้อเท็จจริงต่อไปว่าข้อมูลที่เขากล่าวเป็นเท็จหรือไม่อย่างไร ในเรื่องของคดีก็สามารถดำเนินการได้ แต่อย่าลืมว่าตรงนี้เป็นช่องทางหนึ่งที่ใช้สำหรับสื่อสาร เพราะฉะนั้นถ้าไปปิดมากเกินไปก็อาจก่อให้เกิดปัญหาในอนาคตได้ว่าทำไมไปปิดคนนั้น ปิดนักการเมืองคนนี้หรือแม้แต่ผู้ที่จะรับสมัครลงเลือกตั้งต่อไปในอนาคตก็อาจจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเป็นแพลตฟอร์มหนึ่ง แต่ละคนต้องมีความรับผิดชอบในตัวเอง ถ้าเกิดผิดกฎหมายตรงไหนก็ดำเนินการตามกฎหมายในข้อนั้น แต่ไม่ควรไปจำกัดสิทธิกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือคนใดคนหนึ่ง

ฐิติพล ภักดีวานิช
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

จริงๆ การหาเสียงหรือการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองไม่ว่าจะออนไลน์หรือไม่ควรจะดำเนินมาได้ตั้งนานแล้ว ในความเห็นของผม การที่ คสช.ยังคงไว้ซึ่งคำสั่งและข้อห้ามต่างๆ ที่ห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าการเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เรื่องเสรีและเป็นธรรม ไม่ได้หมายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในวันเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว เพราะตอนนี้สิ่งที่เราเห็นคือมีการเตรียมการส่วนหนึ่งจากองค์กรระหว่างประเทศหรือผู้สังเกตการณ์จากหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นหน่วยงานระหว่างประเทศ เข้ามาสังเกตการณ์เพื่อให้การเลือกตั้งยุติธรรม รวมถึงเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกถึงความคิดเห็นที่ยังไม่มี และพรรคการเมืองต่างๆ ก็ยังไม่มีอิสระแท้จริงในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นการหาเสียง การพูดคุย การสื่อสารต่างๆ

กิจกรรมทางการเมืองมันไม่ใช่แค่การหาเสียงเพียงอย่างเดียว พรรคการเมืองควรจะมีโอกาสทำทุกอย่างได้ในการสื่อสารกับคนที่กำลังจะมาเป็นสมาชิกพรรค แต่ตอนนี้สิ่งที่ คสช.ทำอยู่ก็คือการห้าม ถ้าพูดถึงเรื่องห้ามก็คือห้ามพรรคการเมืองเก่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง คสช.ไม่ได้ห้ามกิจกรรมทางการเมืองแต่ห้ามกิจกรรมทางการเมืองที่ต่อต้าน คสช. อย่างการออกมาพูดว่ากลุ่มสามมิตรสามารถทำได้ไม่ผิดเพราะไม่ใช่สมาชิกพรรคการเมือง แต่กิจกรรมที่ทำนั้นมันก็เกี่ยวข้องกับการเมืองและส่งผลต่อการเลือกตั้ง ผมมองว่าเป็นการตีความที่ไม่ยุติธรรมหรือเป็นธรรมกับพรรคการเมืองอื่นๆ ทำให้พรรคที่สนับสนุนทหารได้เปรียบ เพราะฉะนั้นการปิดด้านเสรีภาพไม่ว่าจะเป็นช่องทางไหนมันก็เป็นการปิดโอกาส จริงๆ ควรให้โอกาสใช้ทุกช่องทางรวมถึงช่องทางออนไลน์

เป็นสิ่งหนึ่งจะช่วยกระตุ้นให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใช้สื่อพวกนี้เยอะมีความตื่นตัวหรืออยากเลือกตั้งมากขึ้น ในขณะเดียวกัน คสช.เองก็ไม่ได้ต้องการให้ผลการเลือกตั้งออกมาต่อต้านทหาร แนวโน้มของกลุ่มคนรุ่นใหม่ก็ไม่ได้ต้องการทหารอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นของไทยไม่ได้เป็นการเตรียมพร้อมที่จะกลับไปสู่ประชาธิปไตยแต่เป็นการเลือกตั้งเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับทหารในการคงอยู่ซึ่งอำนาจเท่านั้น ดังนั้น หากไม่มีการให้อิสรภาพหรือเสรีภาพกับพรรคการเมืองต่างๆ ในการใช้ช่องทางออนไลน์ เพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ผมว่าก็เป็นสิ่งที่คนไทยน่าจะตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านี้ได้แล้วว่า ประเทศเราเดินหน้าไปทางไหน

อย่างในกรณีของคุณธนาธรสะท้อนให้เห็นถึงการสร้างความหวาดกลัวในการแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะทางการเมืองหรือประเด็นอะไรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ คสช.และทหาร สิ่งนี้เรียกว่าเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก มองว่าไม่ได้เป็นสิ่งที่ถูกต้องต่อการสร้างประชาธิปไตยของประเทศ

สำหรับการควบคุมในเบื้องต้นมี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เป็นกลไกอย่างหนึ่งที่ใช้ควบคุม แต่การควบคุมหรือการที่จะห้ามไม่ให้ใครไลฟ์สดโดยตรงในเวลานั้นมันเป็นไปไม่ได้ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นจากการไลฟ์สดไปแล้ว เกิดพูดอะไรที่ทำให้ส่งผลต่อ คสช. ก็อาจจะนำกฎหมายมาใช้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการใช้กลไกทางกฎหมายเพื่อกำจัดศัตรูทางการเมือง เพราะถ้าเราพูดถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือสิทธิทางการเมืองของคนที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญหรือตามข้อตกลงระหว่างไทยกับองค์กรระหว่างประเทศ คือเราทุกคนมีสิทธิที่จะวิจารณ์นักการเมืองหรือพรรคการเมืองอะไรต่างๆ คสช.ไม่มีสิทธิที่จะบอกว่าตัวเองไม่ใช่พรรคการเมืองเพราะทำหน้าที่ในงานของการเมืองอยู่ จะบอกว่าตัวเองเป็นทหารเข้ามาผมว่าไม่สามารถพูดอย่างนั้นได้

ดังนั้น ข้อเสนอสำหรับ คสช.คือควรจะยกเลิกการควบคุมการทำกิจกรรมทางการเมืองและยุติการใช้เครื่องมือทางกฎหมายมาดำเนินการกับพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่อยู่ตรงข้ามกับ คสช. ผมว่าน่าจะเป็นลักษณะนี้มากกว่า เพราะนักการเมืองและพรรคการเมืองทุกพรรคควรจะมีสิทธิเท่าเทียมกันในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเพื่อเป็นตัวเลือกให้ประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image