รายงานหน้า 2 : วิพากษ์พรรคหาเสียง 70 วัน ‘พอหรือไม่’ลงสนาม‘เลือกตั้ง’

หมายเหตุนักวิชาการ นักการเมือง แสดงความคิดเห็นเรื่องกรอบระยะเวลาให้พรรคการเมืองต่างๆ หาเสียง 70 วัน ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งปลดล็อกพรรคการเมืองจะมีเวลาเพียงพอให้พรรคการเมืองหาเสียงหรือไม่

วราวุธ ศิลปอาชา
แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.)

จริงๆ ระยะเวลาในการหาเสียงเลือกตั้งใหญ่ปกติจะอยู่ที่ 45-60 วัน กี่รอบๆ ที่ผ่านมา เมื่อมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งพรรคการเมืองก็จะมีเวลาประมาณเท่านี้ แต่ทั้งนี้ต้องอยู่บนเงื่อนไขที่รัฐบาล คสช.จะต้องคลายล็อกให้แต่ละพรรคการเมืองได้มีเวลาปรับปรุงระบบภายในของพรรคเสียก่อน โดยเฉพาะในช่วงเวลา 90 วันระหว่างรอให้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะมีผลบังคับใช้จริง

สมมุติว่า หากมีการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง โดยที่ยังไม่มีคลายล็อกบางส่วนให้ แต่ละพรรคจะไม่มีเวลาได้เตรียมตัว หรือเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งได้เลย ทั้งการหาสมาชิกพรรค ประชุมใหญ่ปรับปรุงข้อบังคับพรรค รวมไปถึงการทำนโยบายพรรค ที่พรรคจะต้องลงพื้นที่รับฟังความเห็นประชาชนด้วย แต่ถ้ายังติดเงื่อนไขตามคำสั่ง คสช.ที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คนอยู่ แต่ละพรรคก็ไม่สามารถลงพื้นที่ทำนโยบายใหม่ๆ ออกมาได้เลย

Advertisement

ขณะเดียวกัน การทำนโยบายของพรรคการเมืองตามกฎหมายใหม่ แต่ละพรรคจะต้องส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาด้วยว่า กระทบกับงบประมาณแผ่นดิน หรือสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่ด้วย ถึงจะนำไปใช้หาเสียงกับประชาชนได้ ซึ่งในความเป็นจริงวันนี้ จะเห็นว่ามีพรรคใหม่เกิดขึ้นมาก พรรคเก่าก็อยู่กันครบ ดังนั้น หากมีเวลาน้อยเกินไปแล้ว กกต.จะพิจารณาให้ทุกพรรคได้ทันหรือไม่

ผมเชื่อว่าอีกไม่กี่วันข้างหน้า เมื่อร่าง พ.ร.ป.ที่เหลืออีก 2 ฉบับ ทั้งกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.กับกฎหมายลูกว่าด้วยการได้มา ซึ่ง ส.ว.มีผลบังคับใช้ คสช.จะคลายล็อกให้ทำไปทีละสเต็ปเพื่อให้แต่ละฝ่ายเตรียมตัว ซึ่งแต่ละพรรคที่จะลงสนามเลือกตั้งคงเตรียมตัวทัน แต่ตนเป็นห่วงส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ กกต.เพราะจะเป็นผู้ที่จะทำงานหนักสุด เพราะแค่เรื่องตรวจสอบความซ้ำซ้อนของสมาชิกในแต่ละพรรคก็หนักมากแล้ว ไหนจะต้องสกรีนนโยบายพรรคอีก

สามารถ แก้วมีชัย
อดีต ส.ส.เชียงราย
และคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญพรรคเพื่อไทย (พท.)

Advertisement

เนื่องจากห่างเหินการเลือกตั้งมานานเกือบ 5 ปีน่าจะให้โอกาสพรรคการเมืองทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคการเมืองที่ตั้งใหม่ที่ควรจะมีโอกาส และเวลาในการที่จะไปพบปะประชาชน รวมถึงการลงไปพูดคุยกับประชาชนเรื่องนโยบายของพรรค ดังนั้นควรจะให้เวลามากกว่านี้ ไม่ใช่ไปนึกเอาเองว่าประชาชนจะต้องรู้ทุกอย่าง หากสถานการณ์เป็นประชาธิปไตย ทุกอย่างเป็นปกติ มีพัฒนาการยืนยาวมา คุณจะให้เวลาเพียง 30 วันก็ไม่ว่า แต่วันนี้เหมือนต้องไปรื้อฟื้นใหม่หมดทั้งเรื่องของกฎหมาย เช่น บัตรเลือกตั้งใบเดียว เรื่องนโยบาย และเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย ล้วนแต่ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจให้กับประชาชน ต้องถามกลับไปว่าทำไมต้องให้เวลาน้อย บางทีเวลาพรรคมีจำนวนมาก หากไล่ดูคือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลใช้บังคับรอไปอีก 90 วัน ในช่วง 90 วันที่รอก็ควรปลดล็อกให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมต่างๆ รอไปก่อน ไม่ใช่แค่คลายล็อก แล้วเมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับก็จะสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่

ส่วนกรณีที่ให้เวลา 70 วัน แต่ปิดกั้นการหาเสียงกับเมื่อก่อนที่ให้เวลาเพียง 45 วันแต่สามารถหาเสียงได้อย่างเต็มที่นั้น ตรงนี้เป็นเรื่องที่น่าสงสัยว่าเพราะเหตุใด ทุกวันนี้พรรคการเมืองทำงานตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญพรรคการเมือง มีกติกาอยู่แล้วว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง เมื่อกฎหมายการเลือกตั้งมีผลใช้บังคับประมาณเดือนธันวาคม 61 จะให้เลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 62 ควรให้พรรคการเมืองสามารถรณรงค์พบปะประชาชนได้ ไม่ใช่รวบรัดให้ทำกิจกรรมการเมืองด้วย และรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งพร้อมกันไปด้วยแบบนี้จะไม่ทัน

ชำนาญ จันทร์เรือง
ว่าที่รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.)

คําพูดมันย้อนแย้ง เพราะหาก คสช.ไม่ใช้คำสั่งที่ 53/2560 ไปแช่แข็งพรรคการเมืองจะใช้เวลาหาเสียงกี่วันก็ได้ 45 วันก็ได้ เพราะโดยทั่วไปเมื่อยุบสภาแล้วก็จะใช้เวลา 45-60 วัน เป็นหลักการในรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมา แต่กรณีนี้ไม่เหมือนกรณีอื่นเนื่องจากพรรคการเมืองโดนระงับไม่ให้ทำกิจกรรมทางการเมือง ไม่สามารถประชุมพรรค หรือทำกิจกรรมอื่นได้ แล้วมันจะไปพออะไร แค่กำหนดประชุมเพื่อมีมติเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรค เลือกหัวหน้าพรรคยังทำไม่ได้เลย ไม่สมเหตุผลกับการอธิบาย เชื่อว่าถึงอย่างไรพรรคการเมืองก็คงสามารถใช้เวลาที่มีหาเสียงจนได้ แต่มองว่าเป็นลักษณะของการได้เปรียบเสียเปรียบ การกลั่นแกล้ง เลือกปฏิบัติ ซึ่งไม่สามารถคิดหลักการพรรคการเมืองเก่า-ใหม่ได้ เพราะพรรคการเมืองก็คือพรรคการเมือง หลายพรรคยื่นจดแจ้งจัดตั้งพรรคกับ กกต.ไปแล้ว แต่ผลการตรวจสอบคุณสมบัติและความถูกต้องก็ยังไม่ออกมา อย่างพรรค อนค.ประชุมไปเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม และยื่นเอกสารไปช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา วันนี้ผลยังไม่ออกมาเลย ยังคงใช้คำว่า ว่าที่ อยู่ตลอดก็เป็นเรื่องตลก ต้องรอ คสช.ที่มีอำนาจรัฐอยู่ในมือซึ่งได้เปรียบในทุกอย่าง

แต่จะยิ่งแย่ ถ้า คสช.มีอำนาจรัฐอยู่ในมือทุกอย่างแล้วยังแพ้การเลือกตั้งเหมือนการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในมาเลเซีย แล้วอย่างนี้จะเอาความสง่างาม เอาการยอมรับมาจากไหน

ยอดพล เทพสิทธา
คณะนิติศาสตร์ ม.นเรศวร

ในการเสนอนโยบายหรือการหาเสียงของพรรคการเมืองไม่สามารถทำได้ภายใน 60 วัน แต่ถ้าพรรคใหญ่อย่างเพื่อไทย (พท.) ประชาธิปัตย์ (ปชป.) หรือชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ทำได้อยู่แล้ว แต่พรรคอื่นทำไม่ได้แน่ๆ เว้นแต่จะมีการเตรียมไว้แล้ว ฉะนั้นถ้าจะปลดล็อกต้องปลดทั้งหมด แต่ถามว่าให้เวลาหาเสียง 60 วันทันไหม ทัน แต่กระบวนการอื่นคือไม่ใช่

อย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีการพูดว่าเป็นการเมืองแค่ 45 วันก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ต้องไม่ลืมว่า ก่อนหน้านั้นไม่มีการล็อกพรรคการเมือง หรือห้ามดำเนินกิจกรรมการเมือง ซึ่งเขาอาจมีวิธีการหาเสียงวิธีอื่นที่ไม่ใช่การหาเสียงโดยตรง แต่ขณะนี้ยังติดล็อกทุกอย่าง พรรคการเมืองไม่สามารถทำอะไรได้ จะประชุมพรรคการเมืองยังลำบาก แล้วจะทำนโยบายได้อย่างไร

นี่ไม่ใช่แค่หาเสียง 60 วันจะทันไหม แต่นโยบายที่นำไปหาเสียงจะทำทันหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ฉะนั้น หากไม่ปลดล็อกพรรคการเมืองทุกอย่างจบทันที อย่างไรก็ตาม ถ้ากำหนดวันเลือกตั้งไว้ช่วงเดือน ก.พ.62 ระยะเวลาปลดล็อกที่เหมาะสมคือภายในเดือนหน้า เพราะจะให้เวลาเพียง 60 วัน สำหรับทำนโยบายหรือทำทุกอย่างคงทำไม่ได้

การที่นายวิษณุ เครืองาม บอกว่าเวลาหาเสียง 60 วันเหลือเฟือ ยิ่งบอกว่าสามารถหาเสียงทางโซเชียลมีเดียอะไรได้หมด และทำทันด้วย ถ้าเป็นคนธรรมดาที่ไม่รู้กฎหมาย ผมไม่โทษ แต่เขาพูดในฐานะรองนายกฯเป็นผู้มีอำนาจรัฐ เขาต้องกำหนดกรอบโดยคำนึงถึงการเลือกตั้งที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย อย่างกลุ่มสามมิตรที่หาเสียงได้เป็นอิสระ ออกไปเดินสายบอกว่าจะสนับสนุนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถามว่าทำไมกลุ่มนี้ทำได้แล้วกลุ่มอื่นทำไม่ได้ อย่าง ปชป.ก็จะถูกฟ้อง พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ถูกเรียกไปรายงานตัว อย่างนี้ทุกพรรคมีเวลา 60 วันเท่ากันจริงหรือไม่

เราบอกว่าจะเปลี่ยนระบบการเลือกตั้ง มีระบบไพรมารี ต้องไม่ลืมว่าระบบนี้เรานำมาจากต่างประเทศที่เขาสู้กันในพรรคตั้งแต่นโยบายของกลุ่มการเมืองในพรรคที่แตกต่างกัน และเขาทำกันนานเป็นปี แต่เราทำเพียง 60 วัน ดังนั้นถ้าเป้าหมายของ คสช.ที่อ้างกันทุกวันว่าจะปฏิรูปการเมือง อยากให้คนหนุ่มสาวหรือคนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาททางการเมือง คือเลือกตั้งมากขึ้น คุณต้องเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองทุกพรรคสามารถเข้าไปดำเนินกิจกรรมทางการเมืองทุกประเภทได้ และตั้งแต่วันนี้ด้วย ให้เขาลงพื้นที่ไปแนะนำตัวได้ บอกว่านี่เป็นนโยบายทางการเมืองของพรรคเขา

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

โดยหลักแล้วการทำงานการเมืองต้องทำต่อเนื่อง พรรคการเมืองต้องทำนโยบายหาเสียงตลอดเวลา ต้องทำเพื่อประชาชนทุกขณะ แม้ในเวลานี้ได้พยายามทำความเข้าใจว่าสถานการณ์ไม่ปกติ แต่เมื่อจู่ๆ มีการบอกว่าจะเปิดโอกาสให้หาเสียงประมาณ 60 วันก่อนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้น เหมือนเป็นการบีบบังคับทางอ้อมโดยใช้กฎหมายของ คสช.ให้พรรคต่างๆ ต้องเริ่มต้นเท่ากัน ปรากฏว่ากลุ่มก๊วนการเมืองบางกลุ่มที่มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลสามารถทำกิจกรรมได้ตลอดเวลา

อยากย้ำให้เห็นว่า นี่คือลักษณะการใช้กฎหมายที่เป็น 2 มาตรฐาน โดยกระบวนการกฎหมายด้วยฝีมือของนักกฎหมายในซีกของรัฐบาลที่พยายามช่วงชิงความได้เปรียบ หรือใช้กฎหมายของรัฐทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถหาเสียง รับฟังความคิดเห็น และทำนโยบายได้ทันท่วงที

ประชาชนอาจศึกษาข้อมูลนโยบายพรรคต่างๆ ได้ไม่ครอบคลุม เนื่องจากถูกปิดกั้น ไม่ได้ทำกระบวนการให้เป็นไปตามธรรมชาติ ถ้าจะให้เวลาหาเสียงเพียง 60 วัน คาดว่าจะเป็นการสื่อสารทางเดียวจากพรรคถึงประชาชน แต่หากมีระยะเวลาที่มากกว่านั้น ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นกลับมาได้ว่า นโยบายนั้นควรปรับปรุงตรงจุดไหนบ้าง มีเวลาในการวิพากษ์วิจารณ์ได้ เพื่อหาข้อสรุปเชิงนโยบายได้ดีขึ้น โดยเฉพาะช่องทางสื่อสารที่มีในปัจจุบันสามารถทำให้เกิดการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูล 2 ทางระหว่างประชาชนและพรรคการเมืองได้

การที่นายวิษณุ เครืองาม ให้สัมภาษณ์ว่า การให้เวลาครั้งนี้มีระยะเวลาหาเสียงที่เพียงพอ แตกต่างจากครั้งก่อนๆ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องทีเดียว เพราะสถานการณ์ในอดีตกับปัจจุบันไม่เหมือนกัน ขณะที่การรัฐประหารปี 49 เป็นช่วงที่ไม่นานมากก่อนนำมาสู่การเลือกตั้ง แต่ครั้งนี้ขาดช่วงนานถึง 4 ปี บริบทย่อมแตกต่างกัน นี่คือวิธีการสื่อสารที่อันตรายของนักกฎหมาย เขาพยายามนำตัวเลขมาเทียบเคียง แต่ไม่ดูบริบทหรือสถานการณ์ที่แตกต่างกันเลย

ประการต่อมา ทหารในขณะนั้นไม่ได้มีท่าทีใกล้ชิดกับกลุ่มการเมืองใดเป็นพิเศษ แตกต่างกับ คสช.ที่มีท่าทีสนิทสนมหรือมีนัยยะทางการเมืองเพื่อสืบทอดอำนาจ สิ่งนี้ถือเป็นการสื่อสารที่ผมคิดว่าเป็นการบิดเบือน โดยพยายามเทียบเคียงกับเวลา แต่ไม่อาศัยบริบทความแตกต่างของห้วงเวลา ไม่มองดูสถานการณ์ก่อนหน้านั้นกับปัจจุบันว่าแตกต่างกัน

นี่คือสิ่งที่รัฐบาลฉลาด เขาพยายามให้คนมีความรู้และนักกฎหมายที่มีความน่าเชื่อถือมาสื่อสารแทน ทั้งที่จริงแล้วเป็นการสื่อสารที่ซ่อนนัยยะอะไรไว้เยอะพอสมควร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image