บทนำมติชน : สังคมเจ็บป่วย?

ผู้สนใจปัญหาสังคม มักจะกล่าวว่า สังคมไทยเจ็บป่วย เห็นได้จากอาการต่างๆ อาทิ ปัญหาการเมือง โดยยกตัวอย่างนักการเมืองทุจริตคอร์รัปชั่น เข้ามารับตำแหน่งแล้วใช้อำนาจเอื้อประโยชน์พรรคพวก ใช้นโยบายหว่านโปรยสร้างคะแนนนิยมจนประเทศเสียประโยชน์ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคม ปัญหาการศึกษา ความเสื่อมทราม และค่านิยมของสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว การแสดงออกของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ในเรื่องที่ในอดีตเคยเป็นเรื่องที่ต้องห้าม การใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ เสาะหาข้อมูลที่ไม่มีประโยชน์ หรือเผยแพร่กิจกรรมที่ไม่เป็นประโยชน์

เมื่อเปรียบเทียบว่า สังคมเจ็บป่วย การเมืองไทยเจ็บป่วย จึงต้องการแพทย์ฝีมือดีเข้ามารักษาเยียวยา ต้องใช้ยาแรง ยาที่มีประสิทธิภาพ สร้างวินัยให้คนไข้ดูแลปฏิบัติตนเอง ซึ่งเป็นเหตุเป็นผลในระดับหนึ่ง แต่ต้องยอมรับไปพร้อมกันว่า ปัญหาของประเทศ ของสังคมนั้น มีความซับซ้อนมีรายละเอียดที่แตกต่างจากอาการเจ็บไข้ได้ป่วยของบุคคล การวินิจฉัยโรคไม่อาจโมเมสรุปยกเมฆเอาตามใจใครได้ การแก้ปัญหาหรือการรักษา ก็มีกระบวนการที่แตกต่างกัน มาตรการแก้ปัญหาหรือยา ไม่ใช่เรื่องจะกำหนดตัดสินได้ตามอำเภอใจของใครคนหนึ่ง แต่จะต้องมาจากการประสานความรู้และความเห็นพ้องต้องกันของประชาชนไปพร้อมกัน

เมื่ออำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย การแก้ไขปัญหาความเจ็บป่วยต่างๆ จะต้องเริ่มต้นจากความจริงข้อนี้ ไม่มีสังคมประเทศไหนเจ็บป่วย จนต้องยุติกระบวนการที่มีความคิดเห็นของประชาชนเป็นพื้นฐาน และเปิดโอกาสให้ใครมาตั้งตัวเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เมื่อสังคมหนึ่งมีระบบการเมืองที่ให้ความสำคัญกับประชาชน มีรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายแม่บทที่ประชาชนมีส่วนร่วม มีกฎหมายสำหรับแก้ปัญหาต่างๆ มีฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ และฝ่ายตรวจสอบ

ทำหน้าที่ของตนเอง มีภาคราชการที่ตอบสนองนโยบายของฝ่ายบริหาร กลไกเช่นนี้ สามารถแก้ปัญหาที่สงสัยว่าเป็นความเจ็บป่วยต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น

Advertisement

ที่สำคัญประเทศไทยคงไม่เจ็บป่วย หากทุกฝ่ายเคารพกฎเกณฑ์ กฎหมาย และทำหน้าที่่ของตนเองอย่างตรงไปตรงมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image