นักวิชาการวิเคราะห์ปม”วัฒนา”ร้องนานาชาติ “สะเทือน” หรือ”ไร้ผล?”

ความเห็นกรณีการเคลื่อนไหวของ น.ส.วีรดา เมืองสุข บุตรสาวนายวัฒนา เมืองสุข เดินสายร้องเรียนต่อองค์กรระหว่างประเทศเพื่อขอความช่วยเหลือนายวัฒนา ซึ่งอยู่ระหว่างถูกควบคุมตัวและดำเนินคดีโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะส่งผลในวงกว้างอย่างไรหรือไม่

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ

หากถามว่าเป็นช่องทางที่ถูกต้องที่สุดหรือไม่ คงตอบได้ยาก แต่เป็นช่องทางเดียวที่มีเหลืออยู่ ตอนนี้กลไกในประเทศทั้งหมดไม่สามารถปกป้องคนที่อยู่ในฐานะอย่างนายวัฒนาได้ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน องค์กรอิสระอื่นๆ หรือพรรคการเมืองเอง ไม่สามารถที่จะเป็นที่พึ่งได้ ฉะนั้นช่องทางเดียวที่เหลืออยู่คือการไปหาองค์กรระหว่างประเทศ และคาดหวังว่าองค์กรระหว่างประเทศจะสื่อสารไปยังรัฐบาลไทยให้หยุดการกระทำนี้

ส่วนผลกระทบต่อรัฐบาลในระยะสั้น คงไม่มี เพราะอย่างมากที่องค์กรระหว่างประเทศจะมีปฏิกิริยาคือการออกแถลงการณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากเท่าไร แต่ส่วนตัวมองว่ารัฐบาลไทยควรจะต้องมองให้เห็นภาพรวมว่าเรื่องนี้ไม่ได้มีนัยยะแค่การออกแถลงการณ์เท่านั้น หรือการให้สัมภาษณ์เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนายวัฒนา หรือคนที่ถูกควบคุมตัวไปในลักษณะเดียวกัน แต่ต้องมองให้เห็นว่าการมีปัญหาในลักษณะนี้ จะทำให้ประเทศไทยถูกมองโดยเครือข่ายองค์กรระหว่างประเทศ หรือเครือข่ายองค์กรสถานทูตต่างๆ ที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอยู่แล้ว และจะทำให้เห็นว่าประเทศไทยมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน

เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลต่อการประเมินความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ หรือประเมินความร่วมมือจากประเทศต่างๆ กับรัฐบาลไทย

Advertisement

ผลระยะยาวจะอยู่ที่ตรงนั้น แต่ผลระยะสั้นคงจะไม่สามารถกดดันรัฐบาลได้

ผลในระยะยาวอื่นๆ ที่จะตามมาอีก เช่น การที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐออกรายงานสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย แม้ตัวรายงานเองจะไม่ได้มีการลงโทษประเทศไทย แต่อย่าลืมว่าในการเจรจาข้อตกลงทางการค้าต่างๆ ระหว่างไทยกับสหรัฐ หลายเรื่องมีการลงนามข้อตกลงที่ว่าไทยต้องไม่มีการปฏิบัติการที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนในประเทศ เช่นเดียวกับข้อตกลงกับประเทศอื่นๆ ที่มีเงื่อนไขในลักษณะนี้กำกับอยู่ เช่น การให้สิทธิพิเศษทางการค้า เงื่อนไขคือไทยต้องไม่มีการละเมิดสิทธิผู้ใช้แรงงาน หรือกรณีสหภาพยุโรป (อียู) เองก็มีเงื่อนไขที่จะไม่เจรจาหากมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ ไม่มีการเลือกตั้ง หรือไม่มีรัฐบาลพลเรือน ส่วนตัวคิดว่ารัฐบาลไม่ได้มองภาพใหญ่ คิดเพียงว่าจับตัวนายวัฒนาไป ต่างประเทศก็ออกแถลงการณ์กดดันแล้วจบแค่นั้น แต่ภาพใหญ่มีผลกระทบมากกว่านั้น

ดังนั้น คิดว่าต่อจากนี้ คสช.ก็ยังจะคงทำในสิ่งที่เคยทำมาต่อไป เพราะเข้าใจว่าตัวเองมีอำนาจรัฐ ซึ่ง คสช.จะต้องมองพลวัตของเรื่องนี้ให้ดี เพราะปฏิกิริยาของประเทศต่างๆ หรือแม้แต่สื่อมวลชนและประชาชนในประเทศไทยเองก็ดี มองกรณีการจับกุมควบคุมตัวนายวัฒนา แตกต่างค่อนข้างมากกับนักการเมืองรายอื่น เพราะการควบคุมตัวนายวัฒนาได้มีผู้แทนของสถานทูตไปสังเกตการณ์ด้วย ซึ่งไม่เคยมีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นกับกรณีอื่นๆ เพราะฉะนั้นเรื่องของนายวัฒนาได้ถูกยกระดับไปอีกขั้นหนึ่ง ทำให้ประเทศไทยถูกมองอย่างไม่สบายใจมากขึ้นในเวทีโลก แต่รัฐบาลกลับไม่เข้าใจพลวัตของเรื่องนี้ ยังคิดว่าเรื่องนี้ไม่ต่างอะไรจากการจับนาย

Advertisement

จาตุรนต์ ฉายแสง หรือนายพิชัย นริพทะพันธุ์ เพราะรัฐบาลยังมองว่าเป็นเรื่องเดียวกันอยู่

ขณะที่สายตาโลกไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องเดียวกันและมองว่าเป็นการละเมิดเสรีภาพของพลเมืองไปแล้ว

ยุทธพร อิสรชัย รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

การเดินสายเรียกร้องต่างชาติของลูกสาวนายวัฒนาเป็นสิ่งที่ทำได้ ในแง่การเคลื่อนไหวอะไรต่างๆ แล้ว วันนี้การเมืองในประเทศไทย การจะใช้ช่องทางเรียกร้องในประเทศอาจจะทำได้ยาก ด้วยบทบัญญัติของกฎหมาย เช่น มาตรา 44 รวมถึงสถานการณ์ที่อยู่ในช่วงของการรัฐประหาร เพราะฉะนั้นการออกมาเรียกร้องต่างชาติก็เป็นยุทธศาสตร์ใช้โลกล้อมประเทศ เป็นทิศทางที่มองแล้วคิดว่ามีโอกาสทำได้ และมีข้อได้เปรียบมากกว่าใช้ช่องทางภายในประเทศ

แต่สุดท้ายไม่น่าจะมีผลอะไรมากนัก เรื่องการปล่อยตัวหรือไม่ น่าจะเป็นที่ตัวนายวัฒนามากกว่า ถ้าอยู่ภายใต้ข้อตกลงหรือกติกาที่ คสช.ยอมรับได้ก็อาจได้รับการปล่อยตัวในที่สุด

ผลของการเรียกร้องกับต่างชาติที่จะเกิดหรือผลกระทบที่ตามมา คิดว่าคงไม่เยอะ น่าจะเป็นมาตรการกดดันในเชิงระหว่างประเทศ เช่น กลุ่มกรรมาธิการยุโรป ซึ่งติดตามสถานการณ์การเมืองไทยมาตลอดในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา และมีการออกแถลงการณ์ต่างๆ ทั้งจากยุโรปและอเมริกามาเป็นระยะๆ ดังนั้น อาจจะมีลักษณะการกดดันจากปัจจัยแวดล้อมระหว่างประเทศบ้าง แต่คงจะไม่ถึงขั้นส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

จึงคิดว่าจะสร้างความกดดันให้รัฐบาลไม่มากนัก เพราะท้ายที่สุดอำนาจอธิปไตยก็เป็นหลักสำคัญของกฎหมายระหว่างประเทศ หากประเทศไทยไม่ได้มีลักษณะดำเนินการขัดบทบัญญัติกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น การทำสงคราม การเป็นภัยคุกคามต่อรัฐอื่น เป็นเพียงแค่ปัจจัยทางการเมืองภายใน ก็คงไม่ถึงขั้นกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ อาจจะเป็นเรื่องการใช้ปัจจัยแวดล้อมกดดัน การแสดงท่าที การออกแถลงการณ์ การมีมาตรการคว่ำบาตรในบางเรื่องเท่านั้น แต่ประเภทคว่ำบาตรรุนแรงเหมือนกรณีเกาหลีเหนือคงไม่ถึงขั้นนั้น และคงไม่ถึงขั้นมาตั้งเงื่อนไขอะไรได้ เพราะเป็นเรื่องการเมืองภายใน คงไม่มีผลในเชิงระหว่างประเทศ

อีกทั้งต่างชาติให้ความสำคัญมากที่สุดคือผลประโยชน์แห่งชาติตัวเอง หากผลประโยชน์แห่งชาติยังคงมีอยู่กับประเทศไทย ก็คงไม่ใช้มาตรการรุนแรงแน่นอน อาจจะมีเพียงเรื่องภาพลักษณ์ประชาธิปไตยไทยที่ไม่ค่อยสวยงาม

จากกรณีนี้มองว่าท่าทีของรัฐบาลควรใจกว้าง ผ่อนปรนเรื่องการแสดงความคิดเห็น เพราะยิ่งมีลักษณะของการปิดกั้นต่างๆ โอกาสที่คนจะพยายามต่อต้านหรือออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยจะมีมากขึ้น

นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก

ใครก็ตามออกมาเคลื่อนไหวและมีมุมมองที่แตกต่าง โดยหลักแล้วต้องยอมรับฟังและเปิดกว้าง กรณีนายวัฒนาเคลื่อนไหวตามสิทธิพลเมือง เมื่อถูกควบคุมตัว ลูกสาวซึ่งเป็นคนในครอบครัวก็มีสิทธิจะออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้อง ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ใครจะไปกำหนดว่าต้องทำแบบนั้นแบบนี้ แต่นี่คือพ่อของเขา เป็นสิทธิที่เขาจะออกมาเรียกร้อง ตรงกันข้ามหากไม่ออกมาเรียกร้อง นั่นแหละว่าผิดปกติ

จากกรณีนี้การที่รัฐบาลออกมาพูดว่ามีการเขียนบทให้ลูกสาวนายวัฒนาเคลื่อนไหว เหมือนกับพยายามผูกโยงว่ามีการเมืองอยู่เบื้องหลัง ก็ต้องบอกว่า น.ส.วีรดาทำในฐานะลูกสาวต้องปกป้องบุพการี ดังนั้น จึงคิดว่ารัฐบาลออกมาพูดแบบนี้ไม่ค่อยเป็นธรรมกับเด็ก เป็นการเอาเรื่องในครอบครัวไปโยงการเมือง และไม่เป็นประโยชน์ต่อการสื่อสารของรัฐบาลเอง

การที่ลูกสาวของนายวัฒนาต้องไปเรียกร้องกับองค์กรต่างชาติ เพราะองค์กรในประเทศไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้

เรื่องนี้กระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลหรือไม่ ต้องบอกว่าขณะนี้รัฐบาลกำลังสื่อสารไปยังนานาชาติว่า ประเทศไทยกำลังจำกัดสิทธิและเสรีภาพของพลเมือง ใครก็ตามที่ออกมา

พูดในสิ่งที่ไม่ตรงกับรัฐบาลจะถูกจับกุมตัวไปปรับทัศนคติ เป็นการสื่อสารที่ไม่เป็นผลดี ถ้าเราบอกประชาคมโลกว่าเราเป็นประชาธิปไตย ก็ต้องให้เสรีภาพในการพูดแก่ประชาชน แต่การคุมตัวนายวัฒนาเท่ากับสื่อสารไปในทางตรงกันข้าม และยิ่งจะทำให้ต่างชาติกดดันประเทศไทยให้คืนประชาธิปไตย

ความจริงไม่ต้องให้ลูกสาวนายวัฒนาไปร้องนานาประเทศ เพราะสื่อต่างชาติก็นำเสนอข่าวที่รัฐบาลกำลังดำเนินการกับนายวัฒนาอยู่แล้ว

การที่นายวัฒนาไม่รับประทานอาหารก็เป็นสิทธิของนายวัฒนา เป็นวิธีการกดดันแบบหนึ่งให้รัฐบาลตัดสินใจ หรือให้องค์กรต่างชาติเข้ามาดูแลเรื่องนี้ ถือว่าเป็นสิทธิของนายวัฒนา รัฐบาลไม่มีสิทธิไปบังคับให้ใครกินข้าวได้ ส่วนเรื่องจะบานปลายหรือไม่ก็อยู่ที่รัฐบาลเอง

หากจะสื่อสารกับโลกว่าเราเป็นประชาธิปไตย ก็ต้องปล่อยตัวนายวัฒนา เพราะนายวัฒนาแค่คิดแตกต่าง ไม่ได้ไประดมใครมาสู้กับรัฐบาล หากไม่ปล่อยตัวจะกลายเป็นปัญหาของรัฐบาลเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image