วิพากษ์ไทม์ไลน์ ‘ปลดล็อก’ หลังมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ส.ส.

หมายเหตุ ความคิดเห็นของนักวิชาการและนักการเมือง กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่าจะปลดล็อกทางการเมืองภายหลังมี พ.ร.ฎ.การเลือกตั้ง ส.ส.ในช่วงเดือนธันวาคมนี้


ย้อนอ่าน : “บิ๊กตู่” เผยถกปลดล็อกพรรคการเมือง ธ.ค.นี้ หลังพ.ร.ฎ.เลือกตั้งประกาศใช้

 

Advertisement

ชัยเกษม นิติสิริ
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.)

ผมคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยากทำอะไรก็ตามใจ เพราะท่านมีอำนาจอยู่ในมืออยู่แล้ว แน่นอนการยังไม่ปลดล็อกทางการเมือง จะส่งผลให้พรรคการเมืองมีปัญหา
อย่างเช่นที่มีปัญหาอยู่แล้วในตอนนี้ และที่จะมีปัญหาหนักเข้าอีก

แม้รัฐบาลจะยืนยันมาโดยตลอดว่า กำลังเตรียมการเข้าสู่การเลือกตั้ง แต่ที่แล้วมาก็มีการอ้างเหตุผลหลายประการ เพื่อทำในสิ่งต่างๆ ส่งผลให้การเลือกตั้งต้องขยับออกไปอีก

ดังนั้น หากครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์จะปลดล็อกทางการเมืองภายหลังมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ก็ตามใจท่าน เพราะเราว่าอะไรท่านก็ไม่ฟังอยู่แล้ว พวกเราไม่มีทางเลือกอื่นอยู่แล้ว

Advertisement

แต่ถามว่าการเลื่อนปลดล็อกการเมืองนั้น สมควรหรือไม่ ถ้าท่านคิดว่าทำอย่างนั้นแล้วเกิดความสบายใจ กินได้นอนหลับ ก็ตามใจท่าน เพราะเวลานี้ พล.อ.ประยุทธ์ก็บอกว่าได้ผ่อนปรนให้พรรคการเมืองแล้ว โดยให้พรรคการเมืองได้ดำเนินกิจกรรมในบางส่วนแล้ว

หลายพรรคการเมืองทำตัวเหมือนศรีธนญชัย ออกไปหาสมาชิก โดยไปเดินสายในที่ต่างๆ เพราะไม่สามารถทำอย่างอื่นได้ การปลดล็อกทางการเมืองนั้นสำคัญมาก เพราะเราไม่สามารถใช้เวลาเพียง 1-2 วันเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน เกี่ยวกับนโยบายต่างๆ จึงต้องให้เวลาประชาชนได้ทำความเข้าใจ เพื่อจะตัดสินใจเลือกผู้แทน

แน่นอนว่าพรรคการเมืองที่มีอยู่จะเสียเปรียบพรรคการเมืองที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ เพราะพรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์นั้นมีรัฐมนตรีสังกัดอยู่ ซึ่งเดินสายออกไปในที่ต่างๆ แม้จะบอกว่าไม่ได้หาเสียง แต่พฤติการณ์กลับต่างออกไป

แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะยังไม่ตัดสินใจทางการเมือง แต่ก็มีพรรคที่พร้อมสนับสนุนอยู่ข้างหลังหลายพรรค ซึ่งเชื่อว่าประชาชนไม่โง่ เขาดูออกอยู่แล้วว่าควรจะเลือกใคร ทุกอย่างอยู่ในสายตาประชาชนด้วยกันทั้งสิ้น

ดังนั้น ยิ่งรัฐบาลและ คสช.มีลูกเล่นมากเท่าไหร่ ผมก็ยิ่งรู้สึกชอบใจมากเท่านั้น

ขณะที่พรรคการเมืองต่างๆ จะต้องเตรียมการเท่าที่ทำได้ให้มากที่สุด เพราะเมื่อถึงเวลาจริงๆ เราจะมีเวลาน้อยมากสำหรับพบปะและหาเสียงกับประชาชน จึงต้องเตรียมการเพื่อให้ทุกอย่างกระชับรัดกุม ให้ประชาชนเข้าใจง่าย และเวลาที่ยืดเยอะมากกว่า 4 ปีนั้นจะทำให้ประชาชนเรียนรู้และเข้าใจทุกอย่างมากขึ้น

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

คิดว่านายกฯ ต้องประเมินสถานการณ์พอสมควรในการวางไทม์ไลน์การปลดล็อกที่พรรคแนวร่วม คสช. ได้ช่วงชิงความได้เปรียบได้มากที่สุด เพราะเมื่อพิจารณาสถานการณ์หลายๆ อย่างในตอนนี้

ตั้งแต่เพลงประเทศกูมี การเปิดตัวของพรรคแนวร่วมพรรคเพื่อไทย ตระกูลเครือข่ายทักษิณที่มีกระแสค่อนข้างกว้างขวาง รวมถึงการเดินคารวะแผ่นดินของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งเป็นพรรคแนวร่วมหลักของ คสช. ไม่ได้รับการตอบรับจากชนชั้นกลางเท่าที่ควร ซึ่งผิดความคาดหมายของพรรคมาก

ประการต่อมาคือ การแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคใต้ ซึ่งแม้เป็นพื้นที่ของ ปชป. แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีแนวร่วมของนายสุเทพอยู่ด้วย กรณีปัญหาปาล์ม ปัญหายางพารา รัฐบาลแก้ไขไม่ได้ทั้งหมด

ส่งผลให้เสียงการตะโกนไปอยู่ที่ความไม่พอใจ คสช. เพราะฉะนั้น จึงมีผลต่อการประเมินสถานการณ์ว่าจะปลดล็อกช่วงจังหวะไหน ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามที่เราคาดการณ์เอาไว้ ว่าอยากให้เกิดบรรยากาศประชาธิปไตยและทุกพรรคได้แสดงวิสัยทัศน์ หาเสียง ทำกิจกรรมทางการเมือง แต่ คสช.ต้องประเมินสถานการณ์ของตัวเองตรงนี้ด้วยว่า จังหวะไหนที่พอจะกู้ภาพลักษณ์ หรือคะแนนนิยมที่ตกต่ำขึ้นมาได้บ้างเพื่อเตรียมพร้อมสู่การเลือกตั้ง

ถ้าดูจากมิติทางกฎหมาย ดีไม่ดี การเลือกตั้งอาจมีการเลื่อนสุดไปถึงเดือนพฤษภาคมได้ เพราะการประเมินต้องพิจารณาหลายๆ อย่าง ทั้งคะแนนเสียง ความพร้อม พรรคแนวร่วม โดยเฉพาะแนวร่วมที่จะหนุน คสช.ขึ้นมาเป็นรัฐบาล นี่สำคัญมาก

การออกมาระบุว่า จะปลดล็อกพรรคการเมืองหลังมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ทำให้พรรคอื่นๆ ไม่สามารถหาเสียงได้เต็มรูปแบบ ไม่สามารถเสนอนโยบายได้ แต่ในขณะเดียวกัน พรรคพลังประชารัฐ และแนวร่วมเครือข่าย กลับมีแนวโน้มหาเสียงได้ เป็นลักษณะ 2 มาตรฐาน

ในขณะที่ กกต.เองกลับละเลยต่อการแก้ปัญหาเรื่องนี้ โดยอ้างว่ายังไม่ได้ปลดล็อก พรรคอื่นทำไม่ได้ แต่พรรคที่มีความใกล้ชิดรัฐบาล อย่างพรรคพลังประชารัฐ พรรค รปช. สามารถออกไปหาเสียงได้ เรื่องนี้ไม่เป็นธรรมกับพรรคอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นเครือข่ายพันธมิตร คสช.

เชื่อว่าท่ามกลางสถานการณ์การเลือกตั้งครั้งหน้า จะมีการร้องเรียน มีแนวโน้มการทุจริต คอร์รัปชั่น จากร่องรอยประวัติศาสตร์การเมืองของเราบอกเลยว่าถ้าบรรยากาศเป็นแบบนี้ ผลและสถานการณ์การเลือกตั้งจะเป็นไปในลักษณะนั้น

จึงไม่แปลกที่ต่างชาติหรือองค์กรระหว่างประเทศจับตาเป็นพิเศษ อยากขอเข้ามาร่วมตรวจสอบการเลือกตั้ง เขาประเมินสถานการณ์แล้ว พบว่าทิศทางแบบนี้มีโอกาสที่จะเกิดการเลือกตั้งที่ไม่แฟร์สูง

การที่ นายดอน ปรมัตถ์วินัย ออกมาปฏิเสธไม่ให้ต่างชาติเข้าร่วมสังเกตการณ์ สร้างความคลางแคลงใจให้คนทันที เพราะถ้าโปร่งใสก็ต้องให้ตรวจสอบได้

ยุทธพร อิสรชัย
อาจารย์สาขาวิชารัฐศาสตร์ มสธ.

ผมคิดว่าอาจจะทำให้ระยะเวลาในการหาเสียงลดน้อยลง และส่งผลกระทบแน่นอน เพราะตอนแรกในเรื่องของโรดแมปกำหนดเอาไว้ว่าหลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ ซึ่งหมายความว่า 90 วันหลังประกาศใช้ก็จะมีการประกาศปลดล็อก ซึ่งถ้าหากล่าช้าไปอีก ผมคิดว่าข้อวิจารณ์ที่ ณ ปัจจุบันมีจำนวนมากอยู่แล้วก็จะยิ่งเพิ่มจำนวนขึ้นไปอีก

จริงอยู่ว่า พ.ร.ฎ.กำหนดให้มีวันเลือกตั้งก็คือ การรับรองในเรื่องของวันเลือกตั้งที่เป็นทางการตามกฎหมาย แต่ว่าตรงนี้ก็ต้องสอดรับกับโรดแมปหรือข้อต่างๆ ที่ได้มีการคาดหมายกันในสังคมก่อนหน้านี้ด้วย

เพราะจะเกี่ยวข้องกับความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาลและของสภา ซึ่งจะมาหลังจากการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นในวันนี้เราจะเห็นได้ว่าข้อวิจารณ์เรื่องของการปลดล็อก-ไม่ปลดล็อกนั้นมีมานานแล้ว และบรรดาพรรคการเมืองใหม่กับพรรการเมืองเก่าก็มีความแตกต่างกันในเรื่องของการทำกิจกรรมทางการเมือง

แต่ในระยะยาว ถ้าหากบรรดาข้อวิจารณ์เหล่านี้ยิ่งถูกขยายตัวออกไป รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็จะมีโอกาสสูงที่จะถูกตั้งคำถามในเรื่องของความชอบธรรมได้ เพราะเมื่อถึงเวลานั้นก็จะมีพรรคที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ พรรคที่ชนะการเลือกตั้งและพรรคที่แพ้การเลือกตั้ง
ซึ่งจะก่อให้เกิดคำถามตามมา

ดังนั้น ประเด็นข้อวิจารณ์เหล่านี้ก็จะถูกขมวดปมเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นรอบใหม่หลังการเลือกตั้ง ถึงความชอบธรรมของรัฐบาลที่จะเข้ามาหลังการเลือกตั้ง

ในแง่ของการหาเสียงของพรรคการเมือง แน่นอนว่าทุกวันนี้พรรคการเมืองทุกพรรคก็หาเสียงกันอย่างไม่เป็นทางการ สำหรับพรรคที่ถูกข้อกำหนดห้ามจากคำสั่ง คสช.ที่ 53/60 ก็คือบรรดาพรรคการเมืองเก่า

ส่วนพรรคการเมืองใหม่ก็หาเสียงอย่างเป็นทางการได้โดยการรับสมัครสมาชิกพรรคหรือการทำกิจกรรมต่างๆ กันอย่างกว้างขวาง

แต่กระนั้นก็ตาม แม้ว่าพรรคการเมืองเก่าจะหาเสียงอย่างไม่เป็นทางการ แต่ก็ยังคงไม่มีการรับรองตามกฎหมาย เมื่อไม่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย ผมเชื่อว่ายังไงก็ถูกกระทบอยู่ดี

เพราะกิจกรรมบางอย่างที่จะต้องได้รับการรับรองตามกฎหมายก็ไม่สามารถทำได้ อย่างไรเสีย ถ้าไม่เร่งปลดล็อกเชื่อว่าจะได้รับผลกระทบแน่นอนในเรื่องระยะเวลาของการหาเสียงที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างพรรคเก่าและพรรคใหม่

สดศรี สัตยธรรม
อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

สําหรับกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ระบุว่า จะปลดล็อกหลังมี พ.ร.ฎ.การเลือกตั้ง ส.ส.นั้น เข้าใจว่า พล.อ.ประยุทธ์คงมีเหตุผลของท่านในการที่จะปลดล็อก หากว่ามีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ระยะเวลาการหาเสียงของพรรคการเมืองจะเหลือประมาณเดือนเศษเท่านั้น จะมีเวลาน้อยมากๆ เว้นแต่ว่านายกฯจะขยายวันเลือกตั้ง ส.ส.ออกไปเป็นเดือนพฤษภาคม 2562 ถ้าต่อเวลาออกไปก็คงให้โอกาสพรรคการเมืองได้มีเวลาหาเสียงเลือกตั้งได้ แต่เชื่อว่าทุกพรรคคงไม่มีใครอยากให้การเลือกตั้งเลื่อนไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2562 จึงคิดว่าระยะเวลาการหาเสียงไม่น่าจะมีปัญหาสำหรับพรรคการเมืองต่างๆ

ถ้าเลื่อนการเลือกตั้งเพื่อแลกกับเวลาหาเสียงพรรคการเมืองคงไม่เอาด้วย เชื่อว่าพรรคการเมืองก็ต้องการที่จะให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 เวลาที่เหลืออยู่พรรคการเมืองก็คงเร่งหาเสียง แต่จะมีปัญหากับพรรการเมืองใหม่ เพราะเวลาสั้นลง การปลดล็อกของท่านนายกฯคงไม่มีปัญหากับพรรคการเมืองที่เป็นตัวเต็งและพอมีระดับในการต่อสู้หาเสียง เพราะขณะนี้ทุกคนอยากรู้แล้วว่าจะมีเลือกตั้งที่แน่นอนในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 หรือไม่ เพราะอยากจะเข้าสู่สนามการเลือกตั้ง หากยิ่งเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก็กลัวว่าอาจจะเลื่อนออกไปเรื่อยๆ ไม่มีกำหนดชัดเจน พรรคการเมืองคงไม่อยากให้มีการเลื่อนออกไปอีก

วิรัตน์ กัลยาศิริ
หัวหน้าคณะกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

เป็นไปไม่ได้ที่จะปลดล็อกหลังพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เลือกตั้ง เพราะการปลดล็อกนั้น ต้องปลดล็อกหลังจากกฎหมายพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้คือ เมื่อครบ 90 วันนับแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งตามไทม์ไลน์นั้น พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะมีผลบังคับในวันที่ 11 ธันวาคม ดังนั้น การปลดล็อกจึงควรปลดล็อกตั้งแต่วันรุ่งขึ้นคือ วันที่ 12 ธันวาคม 2561 เป็นต้นไป

ส่วน พ.ร.ฎ.การเลือกตั้งนั้น คาดว่าน่าจะประกาศในต้นเดือนมกราคม 2562 ถ้าเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 จะต้องมีการรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างวันที่ 14-18 มกราคม 2562 หากไปปลดล็อกหลังจาก พ.ร.ฎ.การเลือกตั้งมีผลบังคับ จะทำให้พรรคการเมืองหรือผู้สมัคร ส.ส.หรือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไม่สามารถดำเนินการอะไรได้เลย ดังนั้น หากจะปลดล็อกเพื่อให้สามารถเลือกตั้งได้ควรจะต้องปลดล็อกในวันที่ 11 หรือ 12 ธันวาคม

ทั้งนี้ เพื่อให้พรรคการเมือง ผู้สมัคร และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถขับเคลื่อนได้ เช่น รณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง การจัดประชุมแกนนำ หัวคะแนน หรือรณรงค์ให้พี่น้องประชาชนสนใจเพื่อเลือกตั้งพรรคการเมืองที่ตนสังกัดได้

นอกจากนี้ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 ที่สั่งเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2560 ข้อ 8 บัญญัติให้เมื่อมีการประกาศ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 ในราชกิจจานุเบกษา ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แจ้ง คสช.เพื่อแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมาย ประกาศ คสช. หรือคำสั่งหัวหน้า คสช. อันเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการดำเนินการของพรรคการเมือง เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไป โดยให้หารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และอาจเชิญผู้แทนพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองเข้าหารือ จึงหมายความว่า ตามเจตนารมณ์ของคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 จะต้องดำเนินการปลดล็อกเพื่อให้อุปสรรคของพรรคการเมืองที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปอันเกิดจากคำสั่ง คสช. ต้องถูกยกเลิกตามข้อ 8 ดังกล่าวด้วย

เพราะฉะนั้นหากทุกฝ่ายยืนยันว่าจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 จำเป็นจะต้องมีการปลดล็อกในวันที่ 11 หรือ 12 ธันวาคม 2561 คือวันที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ เพราะถ้าจะมาปลดล็อกหลังจากวันที่มีประกาศกฤษฎีกาเลือกตั้ง อาจเป็นไปได้ว่า การเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ต้องเลื่อนออกไปอย่างแน่นอน

เพราะเมื่อประกาศใช้ พ.ร.ฎ.วันเลือกตั้ง จะต้องมีการรับสมัคร ส.ส.ภายใน 5 วัน ดังนั้น ถ้าปลดล็อกหลังจากประกาศ พ.ร.ฎ.การเลือกตั้ง พรรคการเมืองและผู้สมัครไม่สามารถเตรียมการรณรงค์ หรือเตรียมการแนะนำตนเอง แนะนำนโยบายพรรคไม่ได้ทั้งสิ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image