วิเคราะห์ : ไฮไลต์ หลังเลือกตั้ง โค้งสุดท้าย ฝุ่นตลบ ก่อนตั้ง รบ.ใหม่

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยปฏิทินการเมืองสู่การเลือกตั้งและการตั้งรัฐบาลใหม่อีกครั้งคราวนี้ยึดเอาวันที่ 11 ธันวาคม เป็นจุดเริ่มต้นวันที่ 11 ธันวาคม คือวันที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 เริ่มบังคับใช้
จากวันนั้นนายวิษณุร่ายยาว
นับจากวันที่ 11 ธันวาคมไป 150 วัน กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งให้เสร็จสิ้น หมายความว่าไม่เกินวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 เลือกตั้งต้องจบ
ดังนั้น โรดแมปที่วางไว้จึงปรากฏดังนี้
วันที่ 16-27 ธันวาคม 2561 กกต.จัดการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ระดับอำเภอ ก่อนเข้าสู่การเลือกระดับจังหวัด ต่อด้วยการเลือกระดับประเทศ
ขณะเดียวกัน จะมีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่ง กกต.เป็นผู้ยกร่างและเสนอต่อรัฐบาลนำขึ้นทูลเกล้าฯ
เมื่อมี พ.ร.ฎ.ออกมาแล้ววันใด ภายใน 5 วันหลังจากนั้น ให้ กกต.ออกประกาศยืนยันวันเลือกตั้ง
ขณะนี้ยังยืนยัน วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562

วันที่ 2 มกราคม 2562 กกต.ส่งรายชื่อผู้เข้ารอบการคัดเลือก ส.ว.จำนวน 200 คน ให้ คสช.คัดเลือกเหลือ  50 คน และสำรอง 50 คน
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2562 คณะกรรมการสรรหา ส.ว.ต้องส่งรายชื่อผู้เข้ารอบการคัดเลือก ส.ว.ทั้งหมด 400 คน ให้ คสช.คัดเหลือ 194 คน สำรอง 50 คน และมี ส.ว.ที่มาจากผู้บัญชาการเหล่าทัพโดยตำแหน่ง 6 คน
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ สนช.จะหยุดการพิจารณาร่างกฎหมายทั้งหมด ยกเว้นมีความจำเป็น รัฐบาลจะใช้อำนาจออกกฎหมายนั้นเป็นพระราชกำหนด หรือใช้อำนาจตามมาตรา 44
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ จัดการเลือกตั้ง
เดือนมีนาคม 2562 กกต.จะพิจารณาข้อร้องเรียน การให้ใบเหลือง-ใบแดงในการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ กกต.ต้องประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.ภายในวันที่ 24 เมษายน 2562 เป็นวันสุดท้ายตามที่กฎหมายกำหนด
น่าสังเกตว่า กฎหมายกำหนดกรอบเวลาให้ กกต.พิจารณาอย่างเต็มที่
นั่นคือให้เวลาถึง 60 วัน

วันที่ 27 เมษายน 2562 เป็นวันสุดท้ายที่ คสช.ต้องพิจารณารายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกเป็น ส.ว.รวม 250 คน แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ
พอเข้าเดือนพฤษภาคม 2562 สนช.จะสิ้นสุดลง 1 วัน ก่อนเปิดการประชุมรัฐสภา
ตามกำหนดเวลาการเปิดประชุมรัฐสภาจะสิ้นสุดภายในวันที่ 8 พฤษภาคม 2562
เมื่อเปิดรัฐสภาแล้ว จะมีการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา ต่อด้วยการเลือกนายกฯ
เมื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกฯแล้ว จะต้องจัดตั้ง ครม. รัฐบาลเก่าและ คสช.จะสิ้นสุดลงเมื่อ ครม.ชุดใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณตนเข้ารับหน้าที่
คาดว่าทุกอย่างจะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2562
และนับจาก ครม.ถวายสัตย์ปฏิญาณตนไปแล้ว 15 วัน ครม.ชุดใหม่จะแถลงนโยบายต่อรัฐสภา
แล้วเริ่มการทำหน้าที่อย่างเป็นทางการ

จากปฏิทินที่นายวิษณุนำเสนอ มีจุดไฮไลต์หลายประการน่าจับตา
ประการแรก คือ ระยะเวลาการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งเดิมหวั่นกันว่าจะไม่มีเวลา แต่สำหรับในสายตาของนายวิษณุแล้วมองว่า หลังจากมี พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งแล้ว พรรคการเมืองต่างๆ จะมีเวลารณรงค์หาเสียง เลือกตั้ง 60 วัน
ถือว่ามากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา
ประการที่สอง คือ ระยะเวลาการประกาศผลรับรอง ส.ส.หลังจากการเลือกตั้ง ซึ่งครั้งนี้กฎหมายเปิดทางให้ กกต.มีเวลาถึง 60 วัน
นั่นคือ หากการเลือกตั้งจัดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 กกต.มีเวลาประกาศรับรองผล ส.ส.ได้ถึงวันที่ 24 เมษายนปีเดียวกัน
ในขณะนี้กฎหมายที่ใช้ในการเลือกตั้ง ทั้งรัฐธรรมนูญ ทั้งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ล้วนเป็นของใหม่สำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้ง
นอกจากนี้ เครื่องมือสื่อสารในการหาเสียงเลือกตั้งยังมีของใหม่เกิดขึ้น นั่นคือ ออนไลน์
คาดการณ์กันได้ว่า หลังการเลือกตั้งผ่านพ้น และมีการประกาศผลคะแนนกันแล้ว การร้องเรียนตามเขตเลือกตั้ง และการร้องเรียนจากพรรคต่างๆ น่าจะมีมากโข
เพราะทุกอย่างคือเครื่องชี้วัดสำหรับพรรคการเมืองและนักการเมือง
ชนะหรือแพ้เลือกตั้ง
ได้จัดตั้งรัฐบาล หรือไปนั่งอยู่ฝ่ายค้าน
ประการสุดท้าย คือ อำนาจของ คสช. และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ยังมีอำนาจเต็มไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่
คสช.และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงปฏิบัติหน้าที่เป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มไปตลอดช่วงการเลือกตั้ง และหลังเลือกตั้ง
เช่นเดียวกับอำนาจการใช้ ม.44 ก็ยังคงมีอยู่ไปจนกว่ารัฐบาลใหม่จะเริ่มปฏิบัติการ

Advertisement

จากไฮไลต์ที่ป้ายลงไปบนปฏิทินทำให้มองเห็นเหตุการณ์หลังเลือกตั้งได้ว่ายังมีโอกาสปั่นป่วนตลอดเวลา
โดยเฉพาะในช่วงการพิจารณารับรองผล ส.ส. ซึ่งมีมากถึง 60 วัน
และในช่วงการจับมือกันจัดตั้งรัฐบาลภายหลังผลการเลือกตั้งปรากฏออกมาแล้ว
อย่าลืมว่า การเมืองของไทยแบ่งเป็น 2 ขั้วอยู่ในขณะนี้
นั่นคือขั้วพรรคพลังประชารัฐ กับขั้วพรรคเพื่อไทย
ทั้งพลังประชารัฐ และเพื่อไทย มีจุดยืนและแนวทางการบริหารประเทศที่แตกต่างกันสิ้นเชิง
ดังนั้น การต่อสู้แย่งชิงอำนาจผ่านการเลือกตั้งจึงมีแนวโน้มดุเดือด
ทั้งช่วงเวลาหาเสียงเลือกตั้ง 60 วัน ทั้งช่วงเวลา 60 วัน ที่รอการประกาศรับรองผลเลือกตั้ง
รวมทั้งห้วงเวลาที่พรรคการเมืองเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี
ทุกจังหวะก้าวยังคงเสี่ยงต่อความวุ่นวาย ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ต้องเฝ้าจับตามอง

อย่างไรก็ตาม คำแถลงของนายวิษณุ โดยเฉพาะคำยืนยันว่ารัฐบาลมุ่งมั่นสนับสนุนให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ตามโรดแมปเดิม ย่อมส่งผลดีต่อความไว้เนื้อเชื่อใจ
มั่นใจว่า คสช.และรัฐบาล ยังคงปักหมุดเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 เหมือนเดิม แม้ว่าจะขยับการ “ปลดล็อก” พรรคการเมืองให้หาเสียงได้จากเดิมหลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ เป็นหลังจากมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง
การยืนยันว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งตามกำหนดเดิม ย่อมส่งผลดีให้เกิดขึ้นแก่ประเทศ
เป็นการส่งสัญญาณที่ดีให้ทั่วโลกได้รับทราบว่าประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่การปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ข่าวดีทางการเมืองเช่นนี้ ย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ สังเกตได้จากการเปิดตัวโครงการใหญ่ของกลุ่มธุรกิจในประเทศไทย
อาทิ การเปิดตัวไอคอนสยามเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ในห้วงเวลานี้ ทั้ง คสช.และรัฐบาล ควรจะช่วยกันส่งสัญญาณข่าวดีดังกล่าวให้กระจายไปทั่วโลก
หยุด และอย่า ทำให้เกิดความสับสน
ยิ่งถ้า คสช.และรัฐบาลยอมปลดล็อกให้ฝ่ายการเมืองหาเสียงได้ ยิ่งถ้า คสช.และรัฐบาลเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ต่างประเทศเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้ง
ยิ่งตอกย้ำความเชื่อมั่นในการเลือกตั้ง และสร้างความศรัทธาให้แก่รัฐบาลชุดใหม่
ถ้า คสช.และรัฐบาล ร่วมกันส่งสัญญาณดีเช่นนี้ออกไป
ความหวังที่จะให้การเมืองและเศรษฐกิจไทยฟื้นคืนกลับสู่สภาพปกติได้ย่อมเร็วขึ้นทันตา

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image