วิเคราะห์ : การเมือง แข่งดุ เลือกตั้ง ส่อเดือด จับตา จุดหักเห

แปลกแต่จริง
แม้จวบจนถึงวันนี้ก็ยังมีข่าวว่าการเลือกตั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตอกย้ำว่าจะเกิดขึ้นแน่ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เองก็ยืนยันหลายครั้งว่า วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 แน่
แต่กลับยังมีกระแสข่าวเขย่าโรดแมป ระบุว่า อาจไม่แน่ก็เป็นไปได้
กระแสข่าวหันเหไปที่การจัดการเลือกตั้งซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง         หรือ กกต.
เกรงว่า กกต.จะไม่พร้อมในการจัดการ ทั้งเรื่องกฎระเบียบการหาเสียง การกำหนดวงเงินใช้จ่ายในการ     หาเสียง การพิมพ์บัตรเลือกตั้ง และอื่นๆ
รวมทั้งเกรงว่า พรรคการเมืองอีกหลายพรรคที่จดทะเบียนไม่ทัน หรือเพิ่งได้รับการรับรองไม่พร้อม
ข่าวคราวที่สะพัดออกมานี้ หากต้องการสร้างความชัดเจนว่าเลือกตั้งตามกำหนดแน่ คสช.และรัฐบาลคงต้องแสดงความชัดเจนออกมาอีกหลายหน เพราะในความเป็นจริง ต้องยอมรับว่าประเทศไทยสมควรจะเลือกตั้งได้แล้ว
การเดินทางไปเยือนประเทศเยอรมนีล่าสุดของ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะ ก็บ่งชี้เช่นนั้นว่า ต่างชาติเองก็รอให้ประเทศไทยมีการเลือกตั้ง
แต่ละชาติต้องการทำการค้ากับไทย และการเลือกตั้งคือปัจจัยเกื้อหนุนให้การค้าดังกล่าวขับเคลื่อนไปโดยไร้อุปสรรค
การยืนยันการเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีหน้า จึงจำเป็น
และการทำให้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 มีการเลือกตั้งจริงๆ ก็จำเป็น

ความจริงแล้ว องค์ประกอบที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งนั้นมีความพร้อมอยู่มาก
รัฐธรรมนูญประกาศแล้ว กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทยอยใช้ โดยวันที่ 11 ธันวาคมนี้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะมีผล
ขณะที่พรรคการเมืองก็ออกสตาร์ตกันอย่างคึกคัก
แม้ในเบื้องต้นจะแลดูว่าพรรคเพื่อไทยมีภาษีเหนือกว่าพรรคอื่นๆ กระทั่งมีเสียงจาก ทักษิณ ชินวัตร แสดงความมั่นใจว่า “ชนะแบบถล่มทลาย”
แต่เมื่อพรรคพลังประชารัฐเปิดตัวเดินเครื่องอย่างจริงจัง โดยมี ส.ส.ระดับชาติ รวมถึงนักการเมืองระดับ   ท้องถิ่นตบเท้าเข้าสมัคร
ในจำนวนนี้ มีอดีต ส.ส.จากพรรคเพื่อไทยเองเข้าไปสมทบอยู่ 28 คน
และยังมีอดีต ส.ส.จากพรรคอื่นๆ อาทิ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติพัฒนา ชาติไทยพัฒนา เป็นต้น ก็เข้าไปอยู่กับ “พลังประชารัฐ”
ทำให้หลังพรรคพลังประชารัฐเปิดตัว การคาดการณ์ผลเลือกตั้งจากเดิมที่เอียงไปทางพรรคเพื่อไทย ต้องกลับมาทบทวนหลายตลบ
ณ วันนี้ ความเชื่อเรื่องพรรคเพื่อไทยจะชนะแบบถล่มทลายถูกเขย่า
เพราะหลายปัจจัยส่งเสริมให้พรรคพลังประชารัฐมีรัศมีเจิดจ้าเทียบเท่ากับพรรคเพื่อไทย
แม้โพลนิด้าที่สำรวจจะออกมาว่า คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ น่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุด
มากกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
แต่อีกไม่กี่วันต่อมาก็มีโพลมหาวิทยาลัยรังสิตสำรวจระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ มาแรงขึ้นนำ
ประชาชนกลุ่มตัวอย่างหนุนให้เป็นนายกฯอีกรอบ
ดังนั้น ข้อสันนิษฐานเดิมว่าเมื่อมีการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยจะนอนมา อาจจะไม่แน่
เพราะคู่แข่งอย่างพรรคพลังประชารัฐก็สัมแดงฤทธิ์ให้เห็นแล้วเช่นกัน

ความแข็งแกร่งของพรรคพลังประชารัฐนี้ ในมุมมองของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แล้วเห็นว่าได้เปรียบกว่าพรรคอื่น
ด้วยวาทะ “รัฐธรรมนูญดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” นั้นได้แสดงมุมมองทางการเมืองที่เฉียบคมมาก
ยิ่งสมทบด้วยวาทะของ รณฤทธิชัย คานเขต จากกลุ่มบ้านริมน้ำ ที่ระบุว่า “250 ส.ว.พร้อมสนับสนุน” ก็ยิ่งตอกย้ำความแข็งแกร่งของพลังประชารัฐ
ล่าสุด กกต.ได้ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง โดยได้ประกาศเขตเลือกตั้ง 350 เขตใหม่ออกมาแล้ว
เขตเลือกตั้งใหม่ที่ประกาศออกมา บางเขตถูกครหาว่า กกต.ได้จัดเขตด้วย “สูตรพิสดาร”
จากเดิมที่ กกต.เสนอแบ่งเขต 3 รูปแบบ แล้วส่งให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแสดงความเห็นกลับมา
บางเขตกลับปรากฏรูปแบบที่ 4 ซึ่งสมาชิกประชาธิปัตย์จากสุโขทัยมองว่าเป็นเขตที่จัดด้วย “สูตรพิสดาร”
และตามมาด้วยคำถามที่ว่า “ใครขอมา”
และ “อยากชนะจนต้องทำถึงขนาดนี้เชียวหรือ”
และ อัปลักษณ์!

ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นอนาคตอันใกล้ว่า การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีหน้า ต้องแข่งขันดุเดือด และช่วงชิงชัยชนะกันอย่างสุดฤทธิ์
คู่ต่อสู้ที่พอมองเห็น น่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐที่เป็นดาวรุ่งพุ่งแรงกับพรรคเพื่อไทยซึ่งถือเป็นแชมป์เก่า
การเปิดตัวของพรรคพลังประชารัฐ ได้สั่นคลอนความเชื่อที่ว่าพรรคเพื่อไทยจะกวาด ส.ส.เรียบ
แม้การเลือกตั้งจริงๆ ยังไม่เกิดขึ้น กำหนดวันเลือกตั้งจริงๆ ก็ยังไม่มีความแน่นอน
แต่สิ่งที่แน่นอนแล้วคือการช่วงชิงชัยชนะทางการเมืองนั้นรุนแรง
การแข่งขันชิงชัยมีความเป็นไปได้ว่า ดุเดือด
มองสำหรับพรรคพลังประชารัฐนั้น ในสายตาฝ่ายการเมืองแล้ว ท่ามกลางความดุเดือดยังมีความได้เปรียบอยู่มาก
ส่วนพรรคเพื่อไทยที่เป็นคู่แข่ง อาจจะต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคขวากหนามในสนามเลือกตั้งมากกว่า
แต่เมื่อทุกฝ่ายเดินหน้าเข้าสู่กติกาการเลือกตั้ง การต่อสู้แย่งชิงคะแนนเสียงย่อมเป็นไปอย่างเต็มที่
มีการงัดกลยุทธ์ด้านกฎหมาย และอื่นๆ ออกมาห้ำหั่นใส่กันอย่างเต็มกำลัง
ทุกๆ จังหวะการแข่งขันจึงเต็มไปด้วยจุดหักเห
และเป็นจุดหักเหที่พร้อมจะทำให้ฝ่ายชนะกลายเป็นแพ้
หรือฝ่ายแพ้พลิกกลับมาเป็นฝ่ายชนะก็ได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image