รายงาน : สภาพัฒน์เคลียร์ปมร้อน ‘รวยกระจุก จนกระจาย’

หมายเหตุ – เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการ สศช. ในฐานะโฆษก สศช. แถลงข่าวการชี้แจงประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย หลังจากที่มีในสื่อสังคมออนไลน์มีการอ้างอิงข้อมูลจากซีเอส โกลบอล เวลท์ รีพอร์ต 2018 (พ.ศ.2561) ระบุว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก

สศช.ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการติดตามสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทยมาอย่างต่อเนื่อง ขอชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน เพราะข้อมูลที่รายงานออกมาสร้างความตระหนกให้แก่นักธุรกิจ นักลงทุน และประชาชนพอสมควร เกิดข้อสงสัยว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำตามรายงานจริงหรือไม่ โดยรายงานดังกล่าวไม่ได้มีการเรียงลำดับว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำมากที่สุด แต่ตัวเลขของประเทศไทย
ที่ออกมาที่ 90.2% ในรายงานดังกล่าวเป็นตัวเลขที่สูงที่สุด จึงมีการนำข้อมูลมาอ้างอิง

หากพิจารณาตามรายงานนี้ข้อมูลความเหลื่อมล้ำของประเทศที่พัฒนาแล้วก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงเช่นกัน โดยอังกฤษอยู่ที่ 74.7% สหรัฐอยู่ที่ 85.2% สวีเดนอยู่ที่ 68.5% เป็นต้น อย่างไรก็ดี จากการที่ได้ติดตามดูจากความคิดเห็นต่างๆ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่รับทราบว่าเป็นการวัดความเหลื่อมล้ำในรายงานดังกล่าวแตกต่างจากมาตรฐานที่ สศช.ใช้อ้างอิงเพื่อวัดสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำ และข้อมูลที่ออกมาจากรายงานดังกล่าวไม่อาจจะสะท้อนสถานการณ์ของประเทศไทยได้ทั้งหมด

ขอยืนยันว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก สำหรับกรณีการวัดความเหลื่อมล้ำของซีเอส โกลบอล เวลท์ รีพอร์ต เป็นการวัดการกระจายความมั่งคั่ง (Wealth Distribution) โดยใช้ข้อมูลการกระจายความมั่งคั่ง ซึ่งจากรายงานดังกล่าวประเทศที่มีข้อมูลวัดการ
กระจายความมั่งคั่งสมบูรณ์มีเพียง 35 ประเทศ และทั้ง 35 ประเทศส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ ฝรั่งเศส อิตาลี สวีเดน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และจีน

Advertisement

ในส่วนของประเทศไทยนั้น ข้อมูลวัดการกระจายความมั่งคั่งไม่มีการจัดเก็บ เนื่องจากในการจัดเก็บข้อมูลดังกล่าวจำเป็นต้องมีความชัดเจนของคำจำกัดความและข้อมูลข้อเท็จจริงของสินทรัพย์ที่มีความชัดเจน เช่น การถือครองที่ดิน 40 ไร่ และการถือครองที่ดิน 200 ตารางวา มีความแตกต่างกันด้านปริมาณ แต่ต้องพิจารณาด้านมูลค่า เช่น ที่ดิน 200 ตารางวานั้น อยู่ในย่านสีลมใจกลางกรุงเทพฯ ขณะที่ที่ดิน 40 ไร่ อยู่ในชนบทห่างไกล เป็นต้น ส่วนกรณีประเทศไทยควรจะมีการจัดเก็บหรือไม่นั้น ขณะนี้เริ่มมีแนวคิดที่จะจัดเก็บข้อมูลส่วนนี้ แต่เป็นเรื่องที่มีความละเอียดมากซึ่งจะต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาว่าจะสามารถจัดเก็บข้อมูลอย่างไร เพื่อให้มีความถูกต้องและครบถ้วน

จากการตรวจสอบซีเอส โกลบอล เวลท์ รีพอร์ต พบว่าในส่วนของประเทศไทย ผู้จัดทำรายงานใช้การประมาณการทางเศรษฐมิติ บนสมมุติฐานว่าการกระจายความมั่งคั่งมีความสัมพันธ์กับการกระจายรายได้ (Income Distribution) ซึ่งการคำนวณในลักษณะดังกล่าวในรายงานระบุไว้ชัดเจนว่าการประมาณการ วัดการกระจายความมั่งคั่งของ 133 ประเทศที่นอกเหนือจาก 35 ประเทศที่มีข้อมูลสมบูรณ์เป็นการประมาณการอย่างหยาบ (Rough Estimate) สำหรับประเทศที่มีข้อมูลการกระจายรายได้แต่ไม่มีข้อมูลการถือครองความมั่งคั่ง (Wealth Ownership) ในกรณีของประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่ม 133 ประเทศที่ไม่มีข้อมูลการถือครองความมั่งคั่งแต่มีข้อมูลการกระจายรายได้

ในการประมาณการการกระจายความมั่งคั่งของประเทศไทย ผู้จัดทำรายงานได้ใช้ข้อมูลในปี 2006 (พ.ศ.2549) ในขณะที่ข้อมูลของประเทศอื่นๆ เป็นข้อมูลของปีที่มีความแตกต่างหลากหลายกันไป ซึ่งต่างจากชุดข้อมูลของธนาคารโลกที่ส่วนใหญ่จะเปรียบเทียบในช่วงปีเดียวกัน ดังนั้น การวัดการกระจายความมั่งคั่งตามที่ปรากฏในรายงานดังกล่าว อาจไม่สามารถสะท้อนสถานการณ์ของประเทศไทยได้อย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับการวัดจากข้อมูลสำรวจจริงตามมาตรฐานของธนาคารโลกที่ประเทศไทยดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2531

Advertisement

สำหรับการวัดสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย จะใช้วิธีการวัดตามมาตรฐานของธนาคารโลกที่ใช้ในการวัดความเหลื่อมล้ำของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา โดยวัดจากดัชนีค่าสัมประสิทธิ์จีนี (GINI Coefficient Index) ทั้งด้านรายได้และด้านรายจ่าย ซึ่งดัชนีจีนีจะมีค่าระหว่าง 0-1 หรือ 100% หากดัชนีจีนีมีระดับต่ำจะแสดงถึงการกระจายรายได้และรายจ่ายที่อยู่ในระดับดีกว่าดัชนีจีนีที่มีระดับสูง ประเทศส่วนใหญ่จะมีค่าดัชนีจีนีอยู่ในระหว่าง 0.2-0.50 หรือ 20-50%

การจัดอันดับความเหลื่อมล้ำของประเทศต่างๆ ที่ดำเนินการโดยธนาคารโลกในปี 2558 ปีล่าสุดที่มีการเผยแพร่รายงาน พบว่าประเทศไทยมีดัชนีจีนีด้านรายได้อยู่ที่ 0.36 หรือ 36.0% เปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ไทยยังถือว่ามีการกระจายรายได้และรายจ่ายที่อยู่ในระดับน้อยกว่า เช่น อังกฤษ มีดัชนีจีนีอยู่ที่ 0.33 หรือ 33% แต่ไทยถือว่ามีการกระจายรายได้และรายจ่ายที่อยู่ในระดับดีกว่า ขณะที่สหรัฐมีดัชนีจีนีอยู่ที่ 0.415 หรือ 41.5%

นอกจากนี้ ค่าดัชนีจีนีด้านรายจ่ายของประเทศไทยในปี 2556 อยู่ในอันดับที่ 46 จาก 73 ประเทศ และปรับตัวดีขึ้นเป็นอันดับที่ 40 จาก 67 ประเทศในปี 2558 โดยจำนวนประเทศในแต่ละปีจะไม่เท่ากันเนื่องจากข้อจำกัดด้านข้อมูลของประเทศต่างๆ ซึ่งมีทั้งประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศที่กำลังพัฒนาในภูมิภาคต่างๆ ของโลก

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการคำนวณค่าดัชนีจีนี โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติ จากตัวอย่างประมาณ 52,010 ครัวเรือน สำรวจทุกๆ 2 ปี พบว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทยลดลงต่อเนื่อง โดยค่าดัชนีจีนีในรายงานปี 2560 ดัชนีจีนีด้านรายได้ของประเทศไทยคิดเป็น 0.453 หรือ 45.3% ลดลงจากปี 2550 ที่ดัชนีจีนีอยู่ที่ 0.499 หรือ 49.9% ขณะที่ด้านรายจ่ายคิดเป็น 0.364 หรือ 36.4% ลดลงจาก 0.398 หรือ 39.8% ในปี 2550 ทั้งนี้ สถานการณ์ด้านความแตกต่างของรายได้ระหว่างกลุ่มประชากรที่มีรายได้สูงที่สุด 10% แรก และกลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อยที่สุด 10% แรก ช่องว่ารายได้มีแนวโน้มแคบลงอย่างต่อเนื่อง โดยลดลงจาก 25.10 เท่า ในปี 2550 เป็น 19.29 เท่าในปี 2560 และความแตกต่างของรายจ่ายระหว่างกลุ่มประชากรที่มีรายจ่ายสูงสุดและกลุ่มประชากรที่มีรายจ่ายน้อยที่สุด ลดลงจาก 11.70 เท่าในปี 2551 เป็น 9.32 เท่าในปี 2560 เช่นกัน

จากข้อมูลทั้ง 2 ส่วนข้างต้น แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทั้งในส่วนของรายได้และรายจ่ายระหว่างประชากรกลุ่มต่างๆ ของไทยมีแนวโน้มดีขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในประเทศยังมีความจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการดำเนินการผ่านมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ เพื่อให้ประชากรในกลุ่มที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีการกระจายรายได้จากกลุ่มประชากรที่มีรายได้สูงไปสู่ประชากรกลุ่มต่างๆ ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี การลดความเหลื่อมล้ำและความแตกต่างของรายได้ เป็นเรื่องสำคัญที่ภาครัฐให้ความสำคัญและมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมมากขึ้นผ่านกลไกของภาครัฐและความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างอาชีพและรายได้ การจัดสวัสดิการทางสังคม ทั้งในด้านการศึกษา สาธารณสุข และที่อยู่อาศัย โดยในส่วนของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของประเทศไทย จะมีการพัฒนาศูนย์กลางเศรษฐกิจแต่ละพื้นที่หรือจังหวัดรองของประเทศไทยเพื่อเป็นการสร้างโอกาสในการสร้างรายได้ให้ชุมชนต่างๆ คาดหวังว่าในอนาคต

อีกเรื่องสำคัญในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ คือ การแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า ซึ่ง สศช.ได้มีการพัฒนาฐานข้อมูลบิ๊กดาต้าคนจน นำข้อมูลจากกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 32 ล้านราย และนำรวมกับข้อมูลการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กระทรวงการคลัง 11.4 ล้านราย จะทำให้ทราบว่าประชากรที่ขาดโอกาสอยู่พื้นที่ใดของประเทศมีปัญหาหรือติดขัดด้านใด โดยมีข้อมูลที่ตรงกันราว 1-2 ล้านราย กลุ่มนี้อาจจะเป็นกลุ่มที่ภาครัฐอาจจะเข้าไปช่วยเหลือก่อนและทำให้ภาครัฐสามารถใช้มาตรการเฉพาะในการแก้ปัญหาและช่วยเหลือได้แทนที่จะใช้มาตรการแบบหว่านแหทั่วไป ขณะนี้
ได้เริ่มนำมาใช้แล้ว ยกตัวอย่าง กรณีการลงพื้นที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทาง สศช. ได้มีการรายงานข้อมูลให้ก่อนที่จะลงพื้นที่ อย่างไรก็ตาม อาจจะต้องมีการสอบทานเพิ่มเติม เพราะปัจจุบันสามารถชี้ได้ว่าพื้นที่ใดมีปัญหา แต่ในเชิงลึกว่าปัญหาคืออะไรต้องมีการลงพื้นที่ทั้งภาครัฐ ราชการและภาคการศึกษา

สศช.ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยมีการกระจายรายได้ในด้านความแตกต่างของรายได้ระหว่างประชากรกลุ่มประชากรที่มีรายได้สูงที่สุด 10% แรก และกลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อยที่สุด 10% แรก ไม่เกิน 15 เท่า ภายในปี 2580 หรือมีดัชนีจีนี ด้านรายได้ในระดับ 0.36 หรือ 36% จะสะท้อนว่าประเทศไทยมีช่องว่างรายได้ระหว่างประชากรที่มีรายได้สูงและประชากรที่มีรายได้น้อยลดลงและการกระจายรายได้ที่ดีมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image