รายงานหน้า2 : บัตรเลือกตั้งไม่ติดโลโก้ ระวัง!ประชาชนสับสน

หมายเหตุมุมมองความเห็นจากนักวิชาการ กรณีมีข้อเสนอบัตรเลือกตั้งไม่ต้องใส่โลโก้และชื่อพรรคการเมือง ในการประชุมพรรคการเมืองร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธาน เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม

สุขุม นวลสกุล

อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง

ผมมองว่าข้อเสนอไม่ใส่ชื่อและโลโก้พรรคในบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง เขาคงคิดว่าจะทำให้สะดวกขึ้น เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้แบ่งเป็น 350 เขต และมีเบอร์ไม่เหมือนกันเลย ถ้าจะพิมพ์ทั้งชื่อและโลโก้พรรคก็จะทำให้ต้องพิมพ์บัตรเลือกตั้งแยกเป็น 350 ชุด ดังนั้น คงคิดถึงเรื่องสะดวกมากกว่า ไม่ได้คิดถึงเรื่องจะโกงการเลือกตั้ง

Advertisement

ส่วนกรณีคนมองว่าการเลือกตั้งจะไม่โปร่งใสนั้น ผมมองว่าวันนี้ยังไม่มีการเลือกตั้งคนก็มองว่าไม่โปร่งใสอยู่แล้ว ตั้งแต่การแบ่งเขตเลือกตั้งด้วยซ้ำ ดังนั้น พอเลือกตั้งเสร็จคำกล่าวหาว่าไม่โปร่งใส ไม่เป็นธรรมมันจะตามมาอีกเป็นขบวน รัฐบาลที่ได้รับเลือกเข้ามาอาจจะถูกกล่าวหาว่า เข้ามาแบบไม่ชอบธรรมได้

สำหรับกรณีต่างประเทศ อย่างในประเทศที่มีคนเยอะ หรือคนมีการศึกษาน้อย เช่น อินเดีย จะมีการพิมพ์ภาพโลโก้หรือสัญลักษณ์พรรคลงไปด้วย ส่วนประเทศไทยคนได้รับการศึกษามีเกิน 90 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มคนสูงอายุยิ่งไม่น่าห่วงเขามีความเชี่ยวชาญเพราะผ่านเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้ง อีกทั้งคนกลุ่มนี้จำแม่นด้วยซ้ำว่าจะลงอะไร แต่ผมก็ยังมองว่าอะไรที่ทำดีแล้วจะเปลี่ยนมาทำให้คนสับสน หรือเกิดความระแวงสงสัยทำไม

ดังนั้น ผมจึงมองว่าควรจะต้องพิมพ์โลโก้ไปด้วย เพราะแน่นอนว่าถ้ามีโลโก้จะทำให้คนลงคะแนนมีความชัดเจนว่าลงให้พรรคอะไร ผู้สมัครคนไหน ไม่เหมือนกับเบอร์อย่างเดียว ยิ่งตอนนี้เขตเลือกตั้งทุกเขต เบอร์ผู้สมัครของแต่ละคนมันไม่เหมือนกันหมดทุกเขต หมายความว่าพรรคหนึ่งจะอยู่คนละเบอร์ในแต่ละเขต พอข้ามเขตก็กลายเป็นอีกเบอร์หนึ่ง ก็มีโอกาสทำให้เกิดความสับสนได้ ยิ่งในเขตเลือกตั้งที่ติดต่อกันด้วย

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ในอดีตที่ผ่านมาก็มีการเลือกตั้งหลายครั้งที่ไม่มีการลงชื่อพรรค เช่น ในปี 2522 มีเบอร์ผู้สมัครอย่างเดียวไม่มีโลโก้หรือชื่อพรรค เพราะการเลือกตั้งขณะนั้น ส.ส.ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมืองใด แล้วแต่ละพรรคก็ใช้ชื่อเป็นกลุ่มการเมือง ซึ่งผมก็ไม่เห็นว่าจะมีผลยังไงเกิดขึ้น

ดังนั้น ข้อเสนอที่ไม่ใส่ชื่อและโลโก้พรรคในบัตรลงคะแนนเลือกตั้งปี 62 จึงไม่ใช่ครั้งแรก แต่สาเหตุที่ครั้งนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์มาก เพราะมันมีความระแวงอยู่พอสมควร สาเหตุสำคัญคือไม่ไว้ใจ คิดว่าทำแบบนี้ขึ้นมาเพื่อยกประโยชน์ให้บางพรรค หรือยกประโยชน์ให้คนที่
ย้ายพรรค

อีกทั้งพอเรามีพัฒนาการเลือกตั้งขึ้นมา อย่างการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็มีลักษณะเบอร์เดียวทั้งประเทศ ทำให้คนไม่สับสน แต่พอกลับมาทำให้สับสนเลยถูกวิจารณ์ได้ ซึ่งการเลือกตั้งมันมีการพัฒนา เมื่อพัฒนาไปสู่สิ่งที่ชัดเจนขึ้นแล้ว มันก็ไม่ควรย้อนกลับไปใช้แบบเก่าอีก ถือเป็นการถอยหลัง ความจริงแล้วถ้าพูดถึงทั้งโดยระบบมันก็ถอยหลังไปเยอะเหมือนกัน

ฉะนั้น ผมมองว่ามันควรจะก้าวไปข้างหน้าอะไรที่ทำดีแล้วชัดเจนแล้ว ก็ไม่ควรกลับไปทำให้สับสนอีก อย่างไรก็ตาม มันก็มีความเป็นไปได้หากมีการเรียกร้องแล้ว กกต.อาจจะรับฟังแล้วใส่ชื่อพรรคหรือโลโก้ก็ได้ เพราะถ้าจะทำจริงๆ ก็ทำทัน

พนัส ทัศนียานนท์

อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ครั้งนี้ตามที่รองเลขาธิการ กกต.แถลงว่า บัตรเลือกตั้งไม่มีชื่อพรรคและไม่มีโลโก้พรรค คงให้มีแต่ชื่อและหมายเลขผู้สมัครนั้น ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงในเบื้องต้นมองว่ามีเจตนาไม่ต้องการให้ผู้ไปออกเสียงเลือกตั้งสามารถเลือกพรรคได้โดยง่าย คือทำให้เกิดความสับสน เพราะมีแต่ชื่อและหมายเลข ถ้าคนไม่ท่องชื่อและหมายเลขจนจำขึ้นใจว่าผู้ที่ตนต้องการเลือกอยู่หมายเลขอะไร โอกาสที่เลือกผิดมีมาก และอาจจะเลือกคนที่ตนไม่ตั้งใจจะเลือกก็เป็นไปได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุอาจจะจำผิดจำถูก
เบื้องต้นถ้าหากสิ่งนี้เป็นการวางแผนเพื่อที่จะเอาเปรียบ เอาชนะในการเลือกตั้งก็คงจะมุ่งหมายไปที่พรรคที่น่าจะเป็นที่รู้จักของประชาชนมากที่พอเห็นโลโก้ก็คุ้นเคยกับโลโก้นั้นๆ เมื่อไม่มีโลโก้โอกาสที่จะเลือกผิดก็มีมากขึ้น นั่นก็หมายความว่าพรรคที่ขณะนี้อาจจะมีคะแนนนำอยู่โดยฟังจากเสียงของประชาชน ก็อาจจะแพ้ได้ด้วยเหตุนี้ หรือถึงไม่แพ้ คะแนนอาจจะลดน้อยลงไปมากทีเดียว เพราะการมีโลโก้จะช่วยจำง่ายที่สุด เเละในโลโก้มีชื่อพรรคอยู่ด้วยทำให้จำง่าย ยังแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของแต่ละพรรค ทั้งรูปแบบและสีสันที่แตกต่างกัน อย่างบางพรรคมีสีธงชาติและมีชื่อย่อของพรรค บางพรรคก็มีสีสัญลักษณ์ของพรรคตัวเอง สำหรับพรรคที่มีอยู่ดั้งเดิม เป็นพรรคเก่า เป็นพรรคใหญ่ เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปดีอยู่แล้ว โอกาสที่คนจะจำได้มีอยู่มาก โดยไม่จำเป็นต้องไปดูแม้กระทั่งชื่อหรือหมายเลข ทำให้จำง่าย

ข้อดีของการไม่มีโลโก้ ผมยังมองไม่เห็น ในต่างประเทศเท่าที่ทราบโดยเฉพาะประเทศอินเดียมีคนไม่รู้หนังสืออยู่มาก บัตรเลือกตั้งจะใช้ภาพสัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนของพรรคที่อยากจะเลือก

ผมเชื่อว่าครั้งนี้ผู้ที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งน่าจะตั้งใจเลือกพรรคมากกว่าเลือกคน เพราะมันเป็นการต่อสู้ของสองข้างอย่างชัดเจน ขณะนี้มันแยกเป็น 2 ข้าง จะเลือกข้างประชาธิปไตยหรือเลือกข้างเผด็จการ ฉะนั้น ถ้าแต่ละพรรคมีโลโก้เป็นสัญลักษณ์ของตนเอง คนจะไปเลือกตั้งก็เลือกง่าย เพราะเขาตั้งใจไปเลือกพรรคอยู่แล้ว
ที่ผ่านมาผมจำไม่ได้ชัดเจนว่ามันมีโลโก้ด้วยหรือเปล่า แต่อย่างน้อยต้องมีชื่อพรรคแน่นอน ที่สำคัญที่มันแตกต่างจากครั้งนี้โดยสิ้นเชิงคือ ในการเลือกตั้งที่ผ่านมาทั้งประเทศจะกำหนดให้หมายเลขของพรรคกับหมายเลขผู้สมัครเป็นหมายเลขเดียวกัน จึงไม่ยาก อยากเลือกพรรคไหนก็ท่องไป อย่างพรรคประชาธิปัตย์หมายเลข 16 ก็ท่องไปแค่ไหน แค่กาให้ตรงช่อง คนชื่ออะไรอาจจะไม่สำคัญเลยด้วยซ้ำ และผมค่อนข้างมั่นใจว่าการเลือกตั้งครั้งนี้คนกาเลือกตัวบุคคลมีเปอร์เซ็นต์น้อยมาก

เท่าที่ฟังว่า กกต.อ้างว่าถ้ามีโลโก้ด้วยคงทำได้ไม่ทัน ผมคิดว่าเป็นแค่ข้อแก้ตัว ถ้าจะทำจริงๆ ก็ทำทัน ฉะนั้น แนวความคิดที่ว่าจะเป็นการป้องกันการซื้อสิทธิขายเสียง มันฟังไม่ขึ้น แม้จะไม่มีโลโก้พรรค ไม่มีแม้แต่หมายเลข ถ้าจะซื้อขายสิทธิกันจริงๆ มันก็ซื้อได้ เจตนาที่แท้จริงคือ ไม่ต้องการให้มีการเลือกพรรค เพราะระบบเลือกตั้งที่ออกแบบมา ในเบื้องต้นก็เห็นได้ชัดว่าให้เลือกเพียงใบเดียว เมื่อก่อนให้เลือก 2 ใบ สามารถเลือกคนกับพรรคแยกกันก็ได้ เลือกนาย ก. พรรค เอ แล้วเลือกนาย ข. แทนที่จะเป็นพรรค บี แต่เลือกพรรค ซี ไปเลยก็ได้ เพราะมันแยกบัตรเป็น 2 ใบ แม้ไม่ชอบพรรคก็สามารถเลือกคนที่ชอบได้

แต่ระบบนี้กลายเป็นว่าบังคับให้คนเลือกบัตรใบเดียว ซึ่งเป็นบัตรเลือก ส.ส.เขตด้วย ฉะนั้น เจตนาแทนที่จะให้เลือกพรรค ให้พิจารณาจากตัวบุคคล คล้ายให้กลับไปเหมือนการเลือกตั้งสมัยเก่า เลือกที่ตัวบุคคลมากกว่าเลือกพรรค แต่เรื่องเลือกตั้งของเมืองไทยที่ผ่านมาหลายครั้งหลายคราว โดยเฉพาะ 4-5 ครั้งที่ผ่านมา แนวโน้มของคนไทยส่วนใหญ่จะเลือกพรรค ไม่ว่าจะเป็นใครถ้าพรรคเลือกเขาเขาก็เลือก จึงมีมอตโต้ พรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรค ถ้าเขาไว้วางใจพรรคก็เลือกพรรคไม่สนใจว่าพรรคจะเลือกใครมา

อีกประการคือ การออกแบบระบบเลือกตั้งแบบนี้มาเพื่อที่จะทำลายความคุ้นเคยของคนไทยที่เลือกเป็นพรรค ซึ่งจริงๆ มันเป็นสากลแล้ว ในต่างประเทศก็เลือกพรรคเป็นหลัก คือดูนโยบายพรรคไหนที่ถูกใจก็เลือกพรรคนั้น ส่วนตัวบุคคลอาจจะรู้จัก แต่ไม่พอใจเท่าไหร่ เขาก็ยังเลือกพรรค
ในต่างประเทศ ผมคิดว่ามีแต่จะทำในทางตรงกันข้าม เพื่อช่วยให้ผู้ออกเสียงเลือกตั้งใช้สิทธิได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีปัญหาอุปสรรคใดๆ ทั้งสิ้น เขาสามารถใช้สิทธิได้ตรงตามเจตนารมณ์ของตนเอง สิทธิเลือกตั้งเป็นสิทธิทางการเมือง เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ให้การเลือกตั้งไม่เกิดการผิดพลาดหรือผิดพลาดให้น้อยที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image