รายงาน : สื่อไทย’61 สู่ปี’62 ฝ่ามรสุม Disrupt

นับถอยหลังสู่ปี 2562 กันด้วยความระทึกในดวงหทัยอีกครั้ง

ปี 2561 เป็นปีแห่งวิกฤตของธุรกิจอุตสาหกรรมหลายแขนง

เป็นวิกฤตจาก “ดิจิทัล ดิสรัปชั่น – Digital Disruption” เมื่อคลื่นลูกใหม่ของเทคโนโลยีใหม่ซัดสาดเข้ามาไล่คลื่นเก่า

ความปั่นป่วนนี้จะต่อเนื่องไปถึงปีหน้าที่รออยู่ในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า

Advertisement

ดิสรัปต์ Disrupt คือกระบวนการที่เทคโนโลยีใหม่ เข้ามากลืนกินทุกอย่างที่ขวางหน้า

ธุรกิจต่างๆ ถ้าจะไปต่อ ต้องพลิกตัวเองจากฝ่ายถูกกระทำ ให้เป็นฝ่ายกระทำในการเปลี่ยนแปลง

ชิงความได้เปรียบท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่สดใส ของการเมืองยุครัฐประหาร เกือบ 5 ปี ที่เริ่มต้นเมื่อปี 2557

Advertisement

ซึ่งสำหรับบ้านเรา ถือเป็นปัจจัยเร่งทำให้การดิสรัปต์ เป็นไปอย่างรวดเร็ว

สื่อในด้านหนึ่งก็คือธุรกิจ ที่กำเนิดได้ด้วยความเชื่อถือไว้วางใจของสังคม ให้เป็นปากเสียง นำเสนอข่าวสารและความคิดเห็น

หล่อเลี้ยงตัวเองด้วยการโฆษณา จึงเชื่อมโยงกับสังคมในด้านเศรษฐกิจไปพร้อมกัน

ถ้าเศรษฐกิจมีปัญหา ไม่เฟื่องฟูสดใส จะฉุดให้สื่อวูบตามไปด้วย

เมื่อปี 2560 ก่อนหน้า “บ้านเมือง” หนังสือพิมพ์รายวันที่โดดเด่นอีกฉบับจะลาโรง “ฉลามเขียว” อดีตคอลัมนิสต์ไทยรัฐ ที่ย้ายมาประจำบ้านเมือง เคยเขียนคอลัมน์ชี้ว่า วงการสื่อที่เข้าไปร่วมในศึกการเมือง ซึ่งส่งผลรุนแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ

สุดท้ายก็ล่มสลาย กลายเป็นเหยื่อการกระทำของตนเอง

ส่องมองวงการสื่อ ภาพที่เด่นชัดใน 4 ปีที่ผ่านมา บางสื่อต้องลาแผง ยุติบทบาท และส่วนมากต้องปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างรวดเร็ว

ที่กระทบหนักสุด คือ นิตยสาร หรือแม็กกาซีน ที่เน้นการโฆษณาสินค้า

แม็กกาซีนระดับไฮโซปิดตัวเองเป็นแถวๆ บางเล่มมีบทบาทระดมทุน เสนอภาพลักษณ์สวยงามของการชุมนุมทางการเมืองในช่วง “ชัตดาวน์”

รวมถึงนิตยสารระดับ Mass ที่มียอดจำหน่ายสูงอย่าง “คู่สร้างคู่สม” ที่ชิงปิดตัวเองไป

ทิศทางการเปลี่ยนแปลง หลังจากปิดตัวเอง บางแห่งทรานส์ฟอร์มจากสื่อกระดาษหรือ Print
มาเป็นออนไลน์ ซึ่งถือเป็น New Media

ส่วนนิตยสารแนวการเมือง ที่เป็นตัวหลักในตลาด 3 ฉบับได้แก่ มติชนสุดสัปดาห์, สยามรัฐ
สัปดาหวิจารณ์ และเนชั่นสุดสัปดาห์

ปรากฏว่าเนชั่นสุดสัปดาห์ในสังกัดเครือเนชั่น ที่มีปัญหาการดำเนินงานทางธุรกิจ และเปลี่ยนมือจากผู้ดำเนินการเดิม มาเป็นกลุ่มใหม่

ในมรสุมภายในของเนชั่น เนชั่นสุดสัปดาห์ได้ปิดตัวเองลงไปก่อน เมื่อเดือนมิถุนายน 2560
หลังจากออกวางแผงมา 25 ปี

ล่าสุด มีข่าวว่า “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” อีกตำนานของแม็กกาซีนการเมืองที่รับใช้ผู้อ่านมา
หลายยุค จะยุติการออกจำหน่ายในปีใหม่ 2562 หลังจากอยู่ยงมา 66 ปี

นิตยสารการเมือง 3 ฉบับ จะเหลืออยู่เพียง มติชนสุดสัปดาห์

ส่วนหนังสือพิมพ์รายวัน ก็อยู่ในสถานการณ์หนักหน่วงเช่นกัน สถานการณ์บังคับให้ต้องเพิ่ม
ช่องทางออนไลน์ ในการเสนอข่าว

ระหว่างการเปลี่ยนผ่าน ก็ต้องประคองทั้งสองสื่อเอาไว้ด้วยกัน

เศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ทำให้ต้องลดต้นทุน และเกิดการเปลี่ยนมือกลุ่มทุนผู้ดำเนินการ

ที่เด่นๆ ได้แก่เครือเนชั่น ต้นปี 2561 การเข้ามาของทุนกลุ่มใหม่ ทำให้ สุทธิชัย หยุ่น – เทพชัย หย่อง ผู้ก่อตั้ง ต้องล่าถอยจากเนชั่นที่ตัวเองปลุกปั้นมา 40 กว่าปี

ข้ามมาปลายปี 2561 สื่อใหญ่อย่างไทยรัฐ เปิดให้พนักงานเออร์ลี่รีไทร์ ผู้อาวุโสหลายคนอาจต้องเปลี่ยนสถานะและบทบาท

การขยับตัวของยักษ์ใหญ่อย่างไทยรัฐ เป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะลงทุนขยายกิจการไปหลายด้าน

โดยเฉพาะการเปิดกิจการเคเบิลทีวี ตามมาด้วยการประมูลทีวีดิจิทัล จนเกิดไทยรัฐทีวีช่องสีเขียว
ผลคือ รายจ่ายมหาศาล ขณะที่ตัวเลขโฆษณาจำกัดจำเขี่ยเพราะผลจากเศรษฐกิจ

ส่วนค่ายอื่นๆ ไม่ว่าภาษาไทยภาษาอังกฤษ ก็ต้องปรับโครงสร้าง นำกำลังคนไปทำสื่อดิจิทัล หรือดึงคนเข้ามาเสริมทัพ

ส่วนทีวีดิจิทัล หลังจากเปิดประมูลอย่างอลังการ 24 ช่อง ในปี 2556 และออกอากาศในปี 2557 ตัวเลขรายได้ฟุบหนัก เวลาผ่านไป 5 ปี ตอนนี้ยุติดำเนินการไป 2 ช่อง เหลือ 22 ช่อง มีการเปลี่ยนทุน เปลี่ยนทีมในหลายช่อง แต่ทุกช่องยังต้องต่อสู้อย่างหนัก จะหนักมากหรือน้อยเท่านั้น

ตัวเลขของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ระบุว่า ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ช่องรายการที่ได้รับความนิยมสูงสุด หรือเรตติ้งสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 ช่อง 7 เอชดี, อันดับ 2 ช่อง 3 เอชดี, อันดับ 3 โมโน 29, อันดับ 4 เวิร์กพอยท์ทีวี, อันดับ 5 ช่องวันเอชดี

ส่วนอันดับ 6 คือ ช่อง 8 ของอาร์เอส, อันดับ 7 ไทยรัฐทีวี, อันดับ 8 ช่อง 3 เอสดี, อันดับ 9
อมรินทร์ทีวี และอันดับ 10 ช่อง NOW

ส่วนผลกำไรเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ช่องที่ได้กำไรสูงสุด 4 ช่องแรก ประกอบด้วย ช่อง 7, เวิร์กพอยท์, โมโน และอาร์เอส หรือช่อง 8

ขณะที่ช่อง 3 ค่ายระดับหัวแถว ที่แบกทีวีดิจิทัลไว้ 3 ช่อง ก็เจอมรสุมหนัก แม้ความนิยมยังอยู่
หัวตาราง และโดดเด่นด้วยละครออเจ้า-บุพเพสันนิวาส แต่ตัวเลขรายได้วูบลงไปมาก ทำให้เกิดข่าวใช้มาตรการเกษียณอายุ เพื่อลดจำนวนพนักงานลงไป

แวดวงสื่อออนไลน์ ปี 2561 สื่อหลักที่มาทำสื่อออนไลน์ ต่างให้น้ำหนักกับการทำออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ อันดับ 1 ของเว็บไซต์ข่าว ยังคงเป็นข่าวสดออนไลน์ ที่มีผู้อ่านวันละ 8 แสน – 1 ล้านยูนีคไอพี โดยไทยรัฐออนไลน์แรงขึ้นและแซงได้เป็นระยะ

อันดับ 3-4 มีมติชนออนไลน์กับผู้จัดการออนไลน์สลับกันไปมา ตามสภาพของข่าวสาร

การแข่งขันยังคงดำเนินต่อไปอย่างดุเดือด

ปี 2562 มีสถานการณ์ใหม่ ได้แก่การเลือกตั้งในต้นปี

แม้กฎกติกาออกแบบมาเพื่อกลุ่มอำนาจเดิม และคาดหมายว่า นายกฯคนต่อไป ยังอาจจะเป็นคนเดิม

แต่ก็สร้างความคึกคัก จากข่าวสารการเคลื่อนไหวต่างๆ ที่มีมากขึ้น ความกล้าในการวิพากษ์วิจารณ์ที่มากขึ้น และความคาดหวังว่าบรรยากาศน่าจะเปิดกว้างมากขึ้น และเข้าใกล้สภาพปกติมากขึ้น

งานของสื่อ มีปัจจัยที่ขาดหายไปไม่ได้ คือ ต้องมีสิทธิเสรีภาพ มีอิสระพอสมควร

หากปี 2562 ปัจจัยเหล่านี้ยังไม่กลับมา หรือกลับมาครึ่งๆ กลางๆ สภาพของสื่อในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร คงพอจะวาดภาพกันได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image