จัดทัพรับศักราชใหม่ ปีแห่งการเลือกตั้ง 62

แม้ปี 2561 จะถูกวางไว้ให้เป็น “ปีแห่งการเลือกตั้ง” ตามโรดแมปที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลั่นวาจาเอาไว้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน

เป็นพฤศจิกายนที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ได้รายงานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังถกนอกรอบกับ กกต.และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

เป็นพฤศจิกายนที่มี “ปัจจัย” มาจากการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) หรือ “กฎหมายลูก” ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งอีก 2 ฉบับสุดท้าย คือร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และมีผลบังคับใช้ต่อจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง กับ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในช่วงเดือนมิถุนายน

นั่นก็เท่ากับว่า การเลือกตั้งทั่วไปต้องเกิดขึ้นภายในอีก 150 วันตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตรา 268 ของรัฐธรรมนูญ หรืออย่างช้าที่สุดในเดือนพฤศจิกายน

Advertisement

แต่ทว่าสิ่งที่ปรากฏขึ้นกลับมิใช่เดือนพฤศจิกายน อย่างที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลั่นวาจาเอาไว้ และต้องผิดคำมั่นสัญญาในเรื่องวันเลือกตั้งอีกครั้ง

เมื่อถึงคราวพิจารณาวาระสอง และสาม ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญที่มีนายวิทยา ผิวผ่อง เป็นประธาน กลับมีมติเสียงข้างมากขยายระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกไปอีก 90 วัน

ทั้งนี้ สนช.ได้ยกคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ในการกำหนดกระบวนการทางธุรการของพรรคการเมืองมาเป็นเหตุในการยืดการบังคับใช้กฎหมายออกไป 90 วัน โดยมองอย่างเป็นห่วง และกังวลแทนพรรคการเมืองว่า จะมีเวลาเตรียมตัวสู่การเลือกตั้งไม่ทัน โดยที่บรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ไม่ได้ร้องขอ

Advertisement

จึงทำให้จากที่คาดหมายกันว่า จะมีผลบังคับใช้ในเดือนมิถุนายน แต่กว่าจะมีผลจริงกลับเลยเถิดไปไกลถึงวันที่ 11 ธันวาคม หรือเกือบครึ่งปีจากกำหนดเดิม

ที่สำคัญกำหนดวันการเลือกตั้งจึงติด “โรคเลื่อน” ล่วงเลยข้ามไปเป็นต้นปี 2562 อีกด้วย

แม้ว่ารัฐบาล คสช.จะปฏิเสธความเกี่ยวข้องอย่างไร แต่พลันที่มีการเปิดตัว 4 รัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. 1.นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม 2.นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 3.นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ 4.นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ ทุกฝ่ายก็ถึงบางอ้อ

เพราะสาเหตุที่ต้องมีการยืดเวลาการบังคับใช้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ออกไปอีก 90 วัน ก็มีจากความไม่พร้อมของ “พรรคทหาร” อย่างที่ใครต่อใครออกมาตั้งคำถามนั่นเอง

ท่ามกลาง “สปอตไลต์” ที่สาดส่องไปยังท่าทีต่อข้อวิจารณ์ของความพยายามใน “การสืบทอดอำนาจ” ของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง พรรคการเมืองต่างๆ ที่อยู่ที่ตั้งมานานก็เริ่มมีความเคลื่อนไหว

โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวในการจัดทัพ เมื่อ คสช.มีคำสั่งที่ 13/2561 เพื่อ “คลายล็อก” ให้เริ่มต้นหาสมาชิกได้เตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้ง

พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเก่าแก่เริ่มต้นก่อนใคร จัดการศึก “ภายใน” ที่คาราคาซังมานาน ด้วยวิธีการ “หยั่งเสียง” เลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ แม้จะมีผู้เสนอตัวท้าชิง 3 คน แต่เป็นที่ทราบกันโดยทั่วกันอยู่ว่า ศึกครั้งนี้เป็นเรื่องระหว่างพวกที่จะเอาหรือไม่เอา “เดอะมาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

แน่นอนว่า ผู้ท้าชิงมีเป้าประสงค์ “ยึดพรรค” จากขั้วอำนาจเก่าชัดเจน มาในนามของ “กลุ่มเพื่อนวรงค์” ด้วยการชู นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก ขึ้นท้าชิง โดยมีบรรดาคนใกล้ชิด นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้หนุนหลัง

แม้ว่านายอภิสิทธิ์จะชนะ แต่ก็เป็นชัยชนะที่ถือว่า สร้างรอยร้าวที่ลึกมาก จนนำไปสู่ปัญหาระหว่างการจัดตัวผู้สมัครระหว่างพวกที่จะเอาหรือไม่เอานายอภิสิทธิ์อย่างที่กำลังเผชิญอยู่

สำหรับ พรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของ “คุณหญิงหน่อย” สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง พท. แม้แกนนำพรรค อดีต ส.ส.จะถูก “พลังดูด” จากพรรคพลังประชารัฐอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังสามารถจัดทัพ พร้อมๆ กับจัดการปัญหาจาก “รัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” ได้ด้วยการแตกพรรคออก แยกกันเดินระหว่างการเลือกตั้งในฐานะ “ซีกประชาธิปไตย” แล้วไปเจอกันในสภารวมเสียงสู้กับฝ่ายถือครองอำนาจ

เป็นพรรคตระกูล “เพื่อ” ที่ตั้งใหม่มาสู้กับตระกูล “พลัง” โดยเฉพาะมีพรรคไทยรักษาชาติ ที่มี ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช เป็นหัวหน้า โดยมีแกนนำ อาทิ นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายพิชัย นริพทะพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นหัวหอกสำคัญ

มี พรรคประชาชาติ ที่มี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภา เป็นหัวหน้า โดยมี พ.ต.ท.ทวี สอดส่อง และกลุ่มวาดะห์ เป็นหัวหอก โดยเป้าหมายอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นสำคัญ

อีกทั้งยังมี พรรคเพื่อชาติ ที่มี นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ เป็นหัวหน้า โดยมีแกนนำ อาทิ นายยงยุทธ ติยะไพรัช นายจตุพร พรหมพันธุ์ เป็นแนวร่วมห่างๆ อีกพรรค โดยมี พรรคเพื่อธรรม เป็น “ถังดับเพลิงสีแดง” รองรับไว้สำหรับเหตุแห่งการยุบพรรคที่พรรคตระกูล “เพื่อ” อาจต้องเผชิญในอนาคตด้วย

ขณะที่ พรรคขนาดกลาง อันเป็น “ตัวแปร” สำคัญก็ดูหวือหวาไม่น้อย โดยเฉพาะ พรรคภูมิใจไทย ที่มี “เฮียหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล ที่มี อดีต ส.ส.แบบเขต ที่มีปัญหาจากสังกัดเดิมเรื่องพื้นที่ทับซ้อน จากหลายพรรคไหลเข้ามากเป็นพิเศษ

ขณะที่ พรรคชาติไทยพัฒนา ชู “หนูนา” กัญจนา ศิลปอาชา ขึ้นแท่นแม่ทัพหญิง โดยมี นายประภัตร โพธสุธร เป็นเลขาฯ เช่นเดียวกับ พรรคชาติพัฒนา ก็ได้ นายเทวัญ น้องชาย นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ มารับบทบาทหัวหน้าสู้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้

นอกจากนี้ ยังมี พรรคอนาคตใหม่ พรรคใหม่เชิง “อุดมการณ์” ที่เป็นการรวมตัวของเหล่าคนหนุ่มสาว โดยมี “เสี่ยเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ทายาทอาณาจักรไทยซัมมิท เป็นหัวหน้า “อาจารย์ป็อก” ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาฯ มาร่วมปลุกกระแสคนรุ่นใหม่ ประกาศไม่เอา คสช.ตั้งแต่วันแรกที่เปิดตัว

หากดูจากตัวเลขอันเป็นผลโพลจากหลายๆ สำนัก “อนาคตใหม่” ถือว่า เป็นพรรคที่มีความนิยมสูงมาก จนน่าจับตามอง

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางบรรยากาศของการจัดทัพที่ทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ วันแห่งการ “ปลดล็อก” ก็มาถึง เมื่อร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ครบกำหนด 90 วันที่ สนช.ฝักถั่วยืดการบังคับใช้ในวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/2561 เรื่อง การให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง โดยให้ยกเลิกคำสั่ง คสช. 9 ฉบับ

1.คำสั่ง คสช.ที่ 10/2557 เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงินกรณี นายจาตุรนต์ ฉายแสง

2.คำสั่ง คสช.ที่ 26/2557 เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงินกรณี นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ผู้ร่วมจดจัดตั้งพรรคเกียน และ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ

3.คำสั่ง คสช.ที่ 39/2557 เรื่องการกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวของบุคคลที่มารายงานตัวกับ คสช.

4.ประกาศ คสช.ที่ 40/2557 ยกเลิกกรณีบุคคลที่ คสช.ปล่อยตัวต้องไม่เดินทางออกนอกราชอาณาจักร ห้ามร่วมชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง

5.ประกาศ คสช.ที่ 57/2557 ยกเลิกการห้ามไม่ให้พรรคการเมืองจัดประชุมดำเนินกิจกรรมทางการเมืองและระงับการจัดสรรเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง

6.คำสั่ง คสช.ที่ 80/2557 ยกเลิกการห้ามนักการเมือง 18 คน คือ 1.นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ 2.พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ 3.นายชูศักดิ์ ศิรินิล 4.นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา 5.นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ 6.นายจตุพร พรหมพันธุ์ 7.นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ 8.นางธิดา ถาวรเศรษฐ 9.นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ 10.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 11.นายจุติ ไกรฤกษ์ 12.นายศิริโชค โสภา 13.นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ 14.นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ 15.นายสุเทพ เทือกสุบรรณ 16.นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย 17.นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ และ 18.นายสมศักดิ์ โกศัยสุข เดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต ห้ามเคลื่อนไหว หรือประชุมทางการเมือง

7.คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3 /2558 คือยกเลิกการห้ามชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป 8.คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ยกเลิกการห้ามพรรคจัดประชุมใหญ่ จัดตั้งสาขาพรรค ประชุมสมาชิกพรรค และ 9.คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2561 ยกเลิกการห้ามพรรคหาเสียง หรือประชาสัมพันธ์

แม้คำสั่ง คสช.ที่ 22/2561 ดังกล่าว จะถูกวิจารณ์ว่า เป็นการ “ปลดล็อกที่ไม่ปลดล็อก” จริง เพราะโซ่ตรวนแห่งคดีจากฐานความผิดที่เกิดจากคำสั่งที่ยังคงอยู่ ขณะที่การห้ามสื่อมวลชนเสนอข่าวที่ทำให้ตีความว่ากระทบความมั่นคงของชาติ หรือความสงบเรียบร้อยก็ยังคงอยู่เช่นกัน

แต่สำหรับพรรคการเมืองถือเป็นสัญญาณสู่การเลือกตั้ง ฟากนักการเมืองค่ายพลังประชารัฐที่แกนนำพรรคประกาศว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” ต่างตีปี๊บ ขึ้นป้ายหาเสียงแนะนำตัวทันที

แม้วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะยังไม่พูด เซย์เยส แต่จากสเต็ปที่บอก “ผมสนใจการเมือง” สู่การยอมรับว่า เป็น “นักการเมือง” ชาวบ้านเขารู้ เดาทางได้ว่าพรรคพลังประชารัฐ จะมีใครเข้ามามีบทบาทนำสูงสุดภายในพรรค

เพราะแม้แต่ สมศักดิ์ เทพสุทิน ยังประกาศเลยว่าถ้าเลือกพลังประชารัฐได้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ เลย

ดังนั้นเมื่อเข้าปีใหม่ ตามไทม์ไลน์ของการตอบ “เซย์เยส” มาถึง หลังจากมี พ.ร.ฎ.การเลือกตั้ง ส.ส. ออกมา สถานการณ์ทางการเมืองจะร้อนแรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เอาหรือไม่เอา คสช.จะเป็นเดิมพันที่ทวีความเข้มข้นขึ้น

ทั้งหมดถือเป็นบรรยากาศทางการเมืองปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2562 ปีใหม่แห่งการเลือกตั้งใหญ่โดยแท้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image