ส่อง‘วันเลือกตั้ง’ ‘24 มี.ค.’เหมาะหรือไม่

หมายเหตุ – ความเห็นต่อกรณี นายไชยา ยิ้มวิไล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ระบุว่ามีการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 มีนาคม 2562 จะรับรองผลการเลือกตั้งภายใน 150 วัน ได้หรือไม่

 ผศ.ดร.ยอดพล เทพสิทธา

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

Advertisement

จากการคาดการณ์เบื้องต้นว่าจะมีการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 มีนาคม เลื่อนจากเดิมในวันที่ 24 กุมภาพันธ์นั้น ต้องถามกกต.ว่าสามารถทำทุกอย่างให้เสร็จทันหรือเร็วกว่านั้นได้หรือไม่ ส่วนตัวผมมองว่ามันมีโอกาสที่จะไม่ทันสูงมาก เนื่องจากต้องมีการรับรองผลให้เสร็จภายใน 45 วัน ปกติเราจะใช้เวลา 45 วัน เต็มเพดาน หากกำหนดวันเลือกตั้งเป็น 24 มีนาคม แล้วบวก 45 วัน จะเท่ากับจะต้องรับรองผลให้เสร็จในเดือนเมษายน มีโอกาสที่ กกต.จะทำงานทำไม่ทันสูงมาก เพราะมีปัจจัยเยอะ
ทั้งนี้ การรับรอง ส.ส.ปัจจัยไม่ได้อยู่ที่ กกต.ทำงานเร็วหรือช้าเท่านั้น แต่มันยังมีปัญหามากกว่านั้น เช่น อาจจะมีปัญหาเกิดขึ้นในระหว่างการเลือกตั้งมากน้อยแค่ไหน ถ้าสมมุติว่าเขตหนึ่งเกิดมีผลคะแนนออกมาก้ำกึ่ง มีการขอให้นับคะแนนใหม่ แล้วการนับคะแนนออกมาใหม่แล้วผลไม่ตรงกับรอบแรกก็จะต้องมีการดำเนินคดีว่าใครผิดหรือถูก หรือบางเขตอาจจะมีการร้องเรียนเรื่องการซื้อสิทธิขายเสียง นอกจากนี้อาจจะมีพรรคการเมืองบางพรรคที่เสียเปรียบหรือไม่ได้เปรียบอย่างที่คาดหวังไว้ ก็อาจจะอาศัยช่องทางตรงนี้ร้องเรียนไปเรื่อยๆ แล้วพอมีการสอบสวนเรียกให้มาให้ถ้อยคำ แล้วเกิดไม่มาหรือดึงระยะเวลาไปเรื่อยๆ เหล่านี้ถามว่าถ้า กกต.ให้ความมั่นใจว่าทำทันภายในระยะเวลาที่เหลืออยู่ก็สามารถทำได้ แต่ถ้า กกต.ไม่สามารถรับรองผลการเลือกตั้งได้ภายใน 45 วัน การเลือกตั้งจะไม่มีผลทันที นอกจากนี้อาจจะยังมีปัญหาอีกคือจะสามารถเปิดประชุมสามัญเพื่อหานายกรัฐมนตรีได้ทันหรือไม่ เพราะจากเดิมวันเลือกตั้งคือวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ทำให้มีเวลาอีก 1 เดือนที่สามารถทำอะไรหลายอย่างได้
ผมว่าปัญหาตอนนี้ไม่ใช่เร็วหรือช้า ปัญหามันคือเราต้องการวันเลือกตั้งที่แน่นอนว่าเป็นวันไหน ยังไงแน่ เพื่อไปดูกรอบว่าการเลือกตั้งที่กำหนดในตอนนี้ไปได้กับข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญหรือไม่ วันนี้มันยังไม่มีความแน่นอน คือจนถึงวันนี้ยังไม่มีความชัดเจนเลยว่าจะเป็นวันไหนกันแน่ ส่วนตัวผมเชื่อว่าการเลือกตั้งสามารถทำได้ตามกำหนดเดิม โดยกรอบเดิมวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เป็นกรอบที่ดีที่สุดแล้ว และถ้าคำนวณระยะเวลาที่ คสช.อยู่ในอำนาจ เป็นระยะเวลา 4 ปี กับอีก 9 เดือน นั่นหมายความว่าอีก 3 เดือน ครบ 5 ปี ผมคิดว่านานเกินไป และมีการเลือกตั้งมาเรื่อยๆ จนถึงตอนนี้
ถึงที่สุดแล้วตอนนี้ผมคิดว่าถ้าหากมีการเลื่อนวันเลือกตั้งขึ้นมาเป็นกลางเดือนกุมภาพันธ์ ผมคิดว่าฝ่ายพรรคการเมืองเขาก็ทำได้เพียงแต่ขอให้กำหนดมาให้แน่นอนว่าจะเลือกวันไหน
สิ่งที่ คสช.ทำทุกอย่างมันถูกขยายเวลามาเรื่อยๆ จนมันจะถึงเพดานที่รัฐธรรมนูญกำหนดแล้ว สุดท้ายมันอาจจะขัดรัฐธรรมนูญ ทำให้การเลือกตั้งไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ถ้าพูดตรงๆ เป็นเพราะ
คสช.เคยชินกับการใช้อำนาจตาม ม.44 แก้ปัญหามาโดยตลอด แต่ ม.44 ไม่สามารถใช้ได้ในกรณีนี้ คือไม่สามารถแก้เงื่อนไขในรัฐธรรมนูญได้

นางสดศรี สัตยธรรม
อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

หากวันเลือกตั้งตรงกับวันอาทิตย์ที่ 24 มี.ค.62 ถือว่าห่างจากวันที่ 24 ก.พ. ประมาณ 1 เดือน คือถ้าระยะเวลาการเลือกตั้งหากไม่เกิน 150 วัน คงไม่มีปัญหาอะไรยังอยู่ในกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด และถ้ามีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค. และการร้องเรียน การร้องคัดค้านการเลือกตั้งมีไม่มากหรือน้อยก็น่าจะประกาศผลได้ทัน คือ ไม่จำเป็นต้องใช้เวลา 60 วัน เพราะเมื่อได้จำนวน 95 เปอร์เซ็นต์ ก็สามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้ทันที เชื่อว่า กกต.จะสามารถบริหารจัดการเวลาได้ ถ้าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ กกต.สามารถสืบสวนสอบสวนได้เอง เพราะมีเครื่องไม้เครื่องมือในการตรวจสอบเองได้ สามารถเร่งรัดงานได้ เชื่อว่าทาง กกต.คงไม่อยากให้ถึงขั้นตีความ
ทางกฎหมายว่ากรอบระยะเวลา 150 วันนั้นจะรวมวันประกาศผลการเลือกตั้งด้วย
หรือไม่
ถ้าเรื่องร้องเรียนมีไม่มาก กกต.ก็สามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้ทันที ไม่จำเป็นต้องรอให้เลยวันที่ 9 พ.ค.เมื่อประกาศได้ก็จบเรื่อง ไม่ต้องมีการตีความ หาก กกต.ยิ่งทำเร็วเท่าไร ก็ยิ่งมีความได้เปรียบมากเท่านั้น เพราะ
กกต.ก็คงไม่ยอมเสี่ยงกับกรอบระยะเวลา 150 วัน อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องความร่วมมือของพรรคการเมืองและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั้งหลายว่าถ้าอยากให้ประเทศสงบก็อย่าเอาเรื่องเล็กๆ น้อยๆ มาร้องเรียนกัน
เพราะถ้า กกต.ดำเนินการไม่ทันในกรอบวันที่ 9 พ.ค. ระยะเวลาการประกาศผลก็ต้องเลยออกไป

Advertisement

 สมชัย ศรีสุทธิยากร
สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

ส่วนตัวคาดว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นในวันที่ 24 มี.ค.62 ดูจากเจตนารมณ์ของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีที่ได้หารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ชัดเจนแล้วว่าต้องการให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค. จึงสามารถเดาเจตนารมณ์ของรัฐบาลได้ว่ารัฐบาลอยากให้มีการเลือกตั้งในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้ จะเห็นได้ว่าขณะนี้รัฐบาลใช้อำนาจของตนเองในการดึงเวลาที่จะประกาศพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเลือกตั้ง เพื่อทำให้ กกต.มีเวลาจัดการได้น้อยที่สุด หากเป็นเช่นนี้ กกต.ก็จำเป็นต้องจัดวันเลือกตั้งในสิ่งในวันที่รัฐบาลต้องการ
ทั้งที่ความจริงแล้วหากดูจากข่าวจะเห็นว่า กกต.อยากจัดวันเลือกตั้งในวันที่ 10 มี.ค.62 มากกว่า เพราะสามารถประกาศผลได้ในภายในวันที่ 9 พ.ค.62 ทันตามกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่ไม่ว่าคุณจะเลือกตั้งวันที่ 10 มี.ค. หรือวันที่ 24 มี.ค. กกต.ก็ต้องประกาศผลให้ได้ภายในวันที่ 9 พ.ค.62 อยู่ดี ในกรอบนี้ไม่ได้มีผลกระทบต่องานพระราชพิธี เพราะวันที่ 9 พ.ค. ก็เป็นวันหลังจากที่มีงานพระราชพิธีแล้ว รัฐบาลรู้อยู่แล้วว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น กกต.ต้องประกาศผลการเลือกตั้งภายในวันที่ 9 พ.ค. และ กกต.ต้องทำให้ได้ภายในกรอบนี้ ไม่มีใครอยากทำผิดกฎหมาย หาก กกต.ทำเกินกรอบเวลาอาจจะผิดรัฐธรรมนูญได้
มีข้อสังเกตว่าทั้งที่รัฐบาลรู้ว่าภายในวันที่ 9 พ.ค.จะต้องประกาศผล แต่ทำไมจะต้องยืดวันเลือกตั้งออกไป เป็นวันที่ 24 มี.ค. เดาง่ายๆ ก็เพราะว่าเป็นเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่ต้องการดึงวันเลือกตั้งให้ช้าออกไป ต้องการให้พรรคการเมืองใหม่ หรือพรรคการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาลมีเวลาหาเสียงมากขึ้น รัฐบาลอาจจะยังมีโครงการต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องทำให้แล้วเสร็จ จึงต้องการที่จะยืดเวลาให้มากที่สุดเพื่อให้ตัวเองมีเวลาหาเสียงและทำโครงการต่างๆ

ชูศักดิ์ ศิรินิล
ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.)

โดยหลักการรัฐธรรมนูญกำหนดให้การเลือกตั้ง ส.ส.ให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับมีผลใช้บังคับ ต้องให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 9 พ.ค.62 โดย กกต.ได้กำหนดวันเลือกตั้งไว้เป็นที่ยอมรับกันทุกฝ่ายว่า 24 ก.พ.62 แต่รัฐบาลได้ส่งสัญญาณให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป ปัญหาปัจจุบันคือความเห็นไม่ตรงกันในการตีความว่าการเลือกตั้งแล้วเสร็จภายใน 150 วัน จะรวมถึงการประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 60 วัน ด้วยหรือไม่ โดยฝ่ายรัฐบาล และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เห็น
เหมือนๆ กันว่าสามารถประกาศผลการเลือกตั้งหลังวันที่ 9 พ.ค.62 ก็ได้
เข้าใจว่า กกต.ต้องรับผิดชอบในการเลือกตั้ง ขอตีความในทางที่ไม่สร้างปัญหาที่อาจนำไปสู่การร้องเรียนว่าการจัดการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและเห็นว่าระยะเวลาที่เหมาะสมไม่สุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ คือ 10 มี.ค.62 โดยพรรคการเมืองมีระยะเวลาหาเสียงพอสมควร กกต.มีเวลารับรองและประกาศผลได้ภายใน 60 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และประกาศผลได้ภายใน 9 พ.ค.62 ภายในระยะเวลาตามรัฐธรรมนูญอีกเช่นกัน หากดำเนินการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.62 ตามที่ปรากฏเป็นข่าวย่อมแสดงว่า กกต.มีเวลารับรองและประกาศผลได้ไม่ถึง 60 วัน หากต้องประกาศผลให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 9 พ.ค.62 อันเป็นวันครบกำหนด 150 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดและแสดงว่า กกต. ใช้เวลาไม่ถึง 60 วัน ในการรับรองผลการเลือกตั้ง
และต้องใช้วิธีที่เรียกว่าประกาศผลไปก่อนแล้วสอยทีหลัง ฟังดูก็ดูเหมือนว่าจะทำได้ แต่ประเด็นนี้หากมีคนคิดและตั้งประเด็นว่าแล้วจะถือว่า กกต. ดำเนินการเลือกตั้งขัดต่อรัฐธรรมนูญอีกหรือไม่ เนื่องจาก กกต. มีเวลาเหลือไม่ถึง 60 วัน ในขั้นตอนการประกาศผลการเลือกตั้ง
ปัญหาการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อใดดูจะเป็นความสับสนอึมครึม มีแต่ข่าวแต่ไม่มีข้อเท็จจริงที่ชัดเจน รวมถึงไม่เป็นผลดี
เพราะประชาชนรอคอยการเลือกตั้ง เลื่อนแล้วเลื่อนอีก ถึงขณะนี้พูดกันไปถึงขั้นว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ด้วยซ้ำไป ส่วนตัวเห็นว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง การเลือกตั้งที่กำหนดไว้แต่เดิม 24 ก.พ.62 ดูจะเกิดขึ้นโดยยากลำบาก เห็นว่าความคิดและข้อเสนอของ กกต. ที่เสนอให้จัดการเลือกตั้งในวันที่ 10 มี.ค.62 นั้น น่าจะถูกต้อง เหมาะสม ไม่สุ่มเสี่ยงและรอบคอบดีแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image