ทรรศนะนักกฎหมาย อย่างไร? ‘ครอบงำ’ พรรคการเมือง

หมายเหตุเป็นความเห็นนักวิชาการด้านกฎหมาย กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อยู่ระหว่างเก็บข้อมูลนักการเมือง เพื่อตรวจสอบกรณีพรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการให้บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรค มีอิทธิพลในการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคในลักษณะที่ทำให้พรรค หรือสมาชิกพรรคขาดอิสระไม่ทางโดยตรง หรือโดยอ้อม หากพบว่ามีการครอบงำจริงอาจมีผลให้พรรคการเมืองนั้นถูกยุบพรรคได้


นันทวัฒน์ บรมานันท์
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หากถามว่าการครอบงำคืออะไรก็คงต้องดูแก่นสาร เช่น ถ้าสมมุติว่าตั้งรัฐบาลขึ้นมาแล้วจึงไปสัมภาษณ์หรือบินไปพบ และออกข่าวว่าคนที่ไปพบบอกว่าให้เสนอร่างกฎหมายนี้ หรือให้โหวตเรื่องนั้น ให้ทำอย่างนี้ แล้วก็รับนโยบายหรือสิ่งเหล่านั้นมาทำตาม ก็น่าจะเรียกว่าเป็นการครอบงำ คือชี้ว่าควรจะต้องทำอย่างไรบ้าง ซึ่งคนที่ชี้ก็จะต้องสามารถชี้ได้อย่างเด็ดขาด

การครอบงำพรรคการเมืองคือ ถ้าบอกซ้ายหันก็ต้องซ้ายหัน ขวาหันก็ต้องขวาหัน แต่ตอนนี้พรรคการเมืองยังไม่ได้มีบทบาทอะไรมาก เพียงแค่อยู่ในช่วงที่กำลังจะเลือกตั้ง การไปพบเพื่อที่จะถามว่าควรจะหาเสียงอย่างไร หรือเสนอนโยบายอย่างไร จึงไม่ใช่การครอบงำ

Advertisement

ฉะนั้น การไปพบคุณทักษิณแล้วบอกว่าเป็นการครอบงำก็ไม่ถูกต้อง เพราะหากสมมุติในทางกลับกันว่า ผมเป็นนักวิชาการ หากมีนักการเมืองมาพบเพื่อขอแนวทางในการทำงาน มาถามว่าถ้าเป็นรัฐบาลควรจะทำตัวอย่างไรบ้าง และได้แนะนำไปว่าให้ทำเรื่องสวัสดิการเพิ่มขึ้นอีก 5 อย่าง แล้วนักการเมืองคนนั้นไปบอกคนอื่นว่าคุยกับอาจารย์นันทวัฒน์แล้วเสนอว่า ให้เพิ่มสวัสดิการกับประชาชนคนไทยอีก 5 อย่าง เช่นนี้จะถือว่าเป็นการครอบงำหรือไม่ ก็คงไม่ใช่ การที่นักการเมืองไปพบใครก็ตามเพื่อไปขอความคิด หรือรับฟังความคิดเห็นของใครคนใดคนหนึ่งจึงไม่ได้เรียกว่าครอบงำ เพราะการครอบงำคือต้องสั่งได้ บังคับได้ และต้องเป็นไปตามนั้น แต่กรณีนี้เป็นเพียงแค่การไปฟังแล้วเห็นว่าดีจึงนำมาใช้ นำมาแชร์ต่อ เรื่องนโยบายพูดกันเสมอว่าเป็นเรื่องการขายฝัน จะกำหนดนโยบายอย่างไรก็ได้เพื่อให้เตะตาเตะใจ ประชาชนจะได้เลือก เผอิญว่านายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล แกนนำพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) บินไปหาคุณทักษิณซึ่งเคยเป็นอดีตนายกฯ จึงมีการพยายามที่จะโยงไปว่าอาจจะเป็นเรื่อง เพราะคุณทักษิณกำลังมีประเด็นอยู่ ความจริงคุณวรวัจน์อาจไม่ได้ไปหาคุณทักษิณเพียงคนเดียว แต่อาจจะไปหาคนอื่นอีก 10 คนก็ได้ ฉะนั้นจึงไม่ควรนึกถึงคุณทักษิณเป็นประเด็นหลัก เอาไว้ถ้าพรรคเก่าของคุณทักษิณได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาล แล้วคุณทักษิณสั่งซ้ายหันขวาหัน ตอนนั้นถึงจะเรียกได้ว่าครอบงำ

พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พูดยากมาก เพราะ “ครอบงำ” เป็นคำที่มีความหมายกว้างขวางมาก การครอบงำตามที่เข้าใจแบบตรงๆ คือการเข้ามาสั่งการ บอกให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ โดยอ้อมๆ คือการใช้อิทธิพล เช่น ให้การสนับสนุนไว้แล้วขู่ว่าจะไม่ให้การสนับสนุนอีกต่อไป ไม่ว่าจะด้านการเงิน ทรัพย์สินเงินทอง หรืออะไรก็แล้วแต่ อย่างไรก็ตาม ในทางตรงกันข้าม การเสนอว่าจะให้เงินเท่านั้นเท่านี้ ต้องทำตามที่ผู้ให้เงินกำหนด หรืออาจเลยไปถึงขั้นที่การพูดหรือทำกิจกรรมใดก็ตามที่ทำให้เป็นที่เข้าใจได้ว่า ผู้พูดต้องการจะมีอิทธิพลเหนือพรรคการเมืองนั้นๆ เช่น ชี้แนะว่าควรต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ การเลือกตั้งต้องมีแผนแบบนั้น มีการกำหนด แนะนำวิธีการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินกิจการทางการเมืองของพรรคการเมือง รวมหมดทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ถือเป็นการครอบงำทั้งสิ้น

Advertisement

การตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต. เพราะการครอบงำทางการเมืองเป็นข้อห้าม ถ้าจำไม่ผิดจะอยู่ทั้งในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง สิ่งที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง กกต.มีอำนาจหน้าที่โดยตรง รวมถึงเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง สรุปคือ กกต.มีอำนาจหน้าที่คอยควบคุมการดำเนินการต่างๆ ของพรรคการเมืองทุกอย่าง

เมื่อเป็นโดยทั่วไป ถ้าไม่ใช่กรณีของนายทักษิณ ชินวัตร ใครจะเดินทางไปหาใคร เพื่อไปพบปะพูดคุยก็ไม่น่าจะถือว่าเป็นการครอบงำอะไร เป็นเพียงมารยาทในฐานะคนรู้จักคนคุ้นเคย กันแล้วไปมาหาสู่กัน ในโอกาสสำคัญต่างๆ ที่คิดว่าจะต้องไป เช่น อวยพรวันปีใหม่ อวยพรวันเกิด โดยทั่วไปไม่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นการครอบงำ แต่อาจมีผู้โต้แย้งว่าไม่ได้ไปหากันหาเฉยๆ แต่เข้าไปเพื่อรับฟังว่าจะให้ทำอะไรอย่างไรบ้าง ฝ่ายที่เขาคิดว่าเป็นการครอบงำ โดยเฉพาะฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับนายทักษิณ หรือนายทักษิณเกี่ยวข้องอยู่ด้วย อาจคิดว่าไม่ว่าจะไปติดต่อกัน อย่างไรก็แล้วแต่โอกาสที่นายทักษิณจะครอบงำคนพวกนี้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทุกนาที เพราะฉะนั้นแม้แต่การไปพบปะพูดจากัน หรืออาจเป็นเพียงแค่กิจกรรมทางสังคมโดยทั่วไปสำหรับคนอื่น แต่กรณีของนายทักษิณสันนิษฐานได้ว่าเป็นเรื่องของการไปเพื่อรับคำสั่ง รับนโยบาย ดังที่เคยยกตัวอย่างในรัฐบาลที่แล้วที่มีม็อตโต้ออกมาในการหาเสียง “ทักษิณคิด ยิ่งลักษณ์ทำ” แบบนี้สามารถกล่าวหาได้ อย่างน้อยที่สุดคือในแง่ความคิดก็อยู่ภายใต้การครอบงำ การชี้นำทางความคิด ซึ่งอาจตีความว่าเข้าข่ายเป็นการครอบงำได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image