รายงาน : ปัญหา‘ฝุ่นPM 2.5’ ผลร้ายการพัฒนา?

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการจากวงเสวนาสาธารณะ “PM 2.5 ผลร้ายการพัฒนา สวนทางความยั่งยืน” ที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เมื่อวันที่ 18 มกราคม

จำนง สรพิพัฒน์

กรรมการบริหารสมาคมวิจัยวิทยาการขนส่งแห่งเอเชีย

Advertisement

PM 2.5 คืออนุภาคขนาดเล็ก ศูนย์กลางเท่ากับ 2.5 ไมครอน กล่าวคือเล็กประมาณ 1 ใน 30 เท่าของเส้นผมเท่านั้น สามารถผ่านสู่ปอดและเส้นเลือด เป็นพิษต่อร่างกาย สาเหตุเกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ คือ เขม่าจากไอเสียรถยนต์ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล รวมถึงการเผาในที่โล่งแจ้ง เช่น เผาขยะ เผาวัชพืช แต่ไม่มากเท่าเขม่าจากเครื่องยนต์ดีเซล อีกส่วนหนึ่งเกิดจากภาคอุตสาหกรรม โดย 60% ของฝุ่น PM 2.5 มาจากการสันดาปไม่สมบูรณ์จากรถดีเซล อีก 35% มาจากการเผา สุดท้าย 5% มาจากโรงงานอุตสาหกรรม สำหรับกรณีที่มีผู้ออกมาบอกว่าส่วนหนึ่งปัญหาเกิดจากกัมพูชานั้น เมื่อพิจารณาจากช่วงวันหยุดยาวจะพบว่าอากาศในกรุงเทพฯดีขึ้นมาก ดังนั้น จบข่าวคืออย่าโทษเพื่อนบ้าน

ถามว่าทำไมเกิดในฤดูหนาวนั้น เพราะช่วงเวลาดังกล่าวมีลักษณะอากาศปิด คือ อุณหภูมิของอากาศข้างบน อุ่นกว่าข้างล่าง กลายเป็นว่าอากาศร้อนถูกกักเก็บบนผิวดิน สะสมกลายเป็นกับดักมลพิษมหาศาล การสะสมมลพิษเข้มข้นสูงจนเป็นอันตรายต่อร่างกาย

ส่วนจะแก้ปัญหาอย่างไร หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ การแก้มลพิษในเขตเมืองมี 3 ประการหลัก ได้แก่ 1.ลดความเข้มข้นจากท่อไอเสียให้ต่ำลง 2.ลดความติดขัดของการจราจร ซึ่งมักถูกมองข้าม เพราะการสันดาปเครื่องยนต์นั้น รถที่วิ่งช้าเป็นช่วงที่ประสิทธิภาพการเผาไหม้ต่ำ ยิ่ง
รถติดนานเท่าไหร่ ความเข้มข้นยิ่งเยอะและยิ่งนาน ดังนั้น การแก้ข้อนี้เป็นกลไกสำคัญ แต่รัฐยังไม่มาเชื่อมโยง 3.ลดปริมาณรถบนท้องถนน เบื้องต้นมองว่าตอนนี้รัฐมาถูกทาง แต่สามารถทำใหัดีกว่านี้ได้อีก

Advertisement

การแก้ปัญหาในระยะสั้น คือ การปรับสภาพรถให้ได้มาตรฐาน ต้องทำงานเชิงรุก ขณะนี้รัฐมุ่งไปที่รถเมล์ ซึ่งความจริงก็แก้ได้ระดับหนึ่งแต่ยังไม่พอ เพราะรถบรรทุกใน กทม.มีถึง 2.5 ล้านคันต่อวัน ดังนั้น ต้องไปตรวจสภาพรถในจุดรวมรถ เช่น ท่าเรือ ซึ่งใน 1 ปีมีรถเข้าออก 1 ล้าน 8 แสนเที่ยว เป็นจำนวนที่มหาศาล เรายังมีท่ารถขนส่งอย่างเอกมัย หมอชิต รวมถึงห้างค้าปลีกขนาดยักษ์ และยังมีจุดจอดขนถ่ายสินค้าระหว่างชานเมืองสู่ กทม. อีกทั้งรถเกินน้ำหนัก ควรไปตรวจสภาพรถ และขอความร่วมมือ ในส่วนต่างๆ เหล่านี้นอกเหนือจาก ขสมก. นอกจากนี้ อาจจัดหน่วยอาสาสมัคร เช่น อาชีวะช่วยปรับแต่งเครื่องยนต์ ขอความร่วมมือเอกชน เช่น ห้างค้าปลีกให้งดปล่อยรถควันดำออกมาช่วงนี้

สถานการณ์ที่เป็นอยู่วิกฤตมาก เป็นจุดที่เหมือนฝีแตก ประเด็นเรื่องการก่อสร้างรถไฟฟ้าก็มีฝุ่นจริงแต่เป็น PM 10 ไม่ใช่ PM 2.5 แต่ที่สร้างสถานการณ์เลวร้ายก็เพราะทำให้รถติด ถ้ารัฐจะให้หยุดสร้าง คิดว่าแค่นั้นไม่พอ แต่ต้องคืนพื้นที่ผิวการจราจรด้วยโดยอาจให้หยุดใน 2 เดือนนี้ไปก่อนจะแก้ปัญหาได้เยอะ นอกจากนี้ควรเตรียมแผนไว้ล่วงหน้าเรื่องการหยุดโรงเรียนหากสถานการณ์วิกฤตยิ่งขึ้น รวมถึงเร่งรัดมาตรฐานเครื่องยนต์จากปัจจุบันยูโร 4 เป็นยูโร 5 ให้เร็วขึ้น

มลพิษส่วนใหญ่มาจากรถเก่า รถยนต์ในไทย ไม่มีอายุสิ้นสุดการใช้งาน นี่คือเรื่องที่ต้องพิจารณา แต่ต้องศึกษาอย่างละเอียด เพราะคนที่ไม่มีเงินก็ต้องซื้อรถมือสอง อาจต้องมีการรีบิวท์เครื่องยนต์ใหม่ให้ได้มาตรฐาน

ระยะยาว ควรแก้ปัญหาด้วยการสร้างเมืองยั่งยืน ให้ความสำคัญกับการขนส่งสาธารณะ ทุกวันนี้เราให้สิทธิรถยนต์ก่อนคน ควรเชื่อมระบบบูรณาการ ให้สามารถเดินทางโดยไม่ต้องใช้รถยนต์ส่วนตัว อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกศึกษาพบว่าถ้าไม่มีการบังคับ คนก็ไม่เปลี่ยนพฤติกรรมจากการใช้รถส่วนตัวไปใช้รถสาธารณะ อย่าคิดว่าพอมีระบบขนส่งสาธารณะแล้วคนจะเปลี่ยน เพราะคนใช้รถส่วนตัวสามารถขึ้นรถจากประตูรถถึงประตูบ้าน หรือ door to door ซึ่งมีความสะดวกสบายกว่า จึงอยากฝากรัฐบาลเรื่องมาตรการบังคับ นอกจากนี้ ยังเคยมีผู้เสนอการแก้ไขปัญหาระยะยาวคือให้ย้ายท่าเรือหรือจุดที่ปล่อยมลพิษสูงออกจากเมือง และเพิ่มพื้นที่สีเขียวอีกด้วย

อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา

ที่ปรึกษาด้านนโยบายทรัพยากรธรรมชาติและการลดก๊าซเรือนกระจก ทีดีอาร์ไอ

อยากให้ตรวจจับรถอย่างเป็นระบบมากขึ้น วันนี้ตรวจ ก่อนหน้าไม่ค่อยตรวจ รถควันดำออกเที่ยงคืน เพราะตรวจจับกลางวัน รัฐต้องไล่ตามผู้ร้ายให้ทัน นอกจากการตรวจสอบสภาพรถ ควรตรวจสอบศูนย์ตรวจสภาพรถด้วย และอาจมีการสุ่มตรวจ เพราะเมื่อเช้านี้ยังมีรถพ่นควันดำอยู่แถวบางนา-ตราด

ปัจจุบัน กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนสูตรภาษีแล้ว กล่าวคือ รถคันไหนมีค่าเผาผลาญไม่ดีต้องเสียภาษีสรรพสามิตแพง กรมการขนส่งทางบกต้องรับลูกต่อด้วย การต่อทะเบียนทุกปีควรวัดท่อไอเสีย รถคันไหนเผาไหม้ไม่ดีต้องเสียภาษีแพง สูตรภาษีประจำปีควรปรับใหม่ อาจวัดตามน้ำหนักรถหรือสูตรอื่น แต่ต้องใส่เรื่องประสิทธิภาพการเผาไหม้ ถ้ารถควันดำ คนจะได้ปรับสภาพเพื่อประหยัดภาษีประจำปี

นอกจากนี้ ขอเสนอให้ปรับโครงสร้างภาษีน้ำมัน เพื่อส่งเสริมพลังงานสะอาด ปัจจุบันมีการเก็บภาษีน้ำมันที่ซับซ้อนทำให้รัฐไม่สามารถใช้เครื่องมือทางภาษีเพื่อส่งสัญญาณทางราคาได้ รัฐบาลต้องทบทวนโครงสร้างภาษีน้ำมันให้สะท้อนผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยควรมีการรื้อระบบภาษีใหม่ อีกทั้งทำกรุงเทพฯให้เป็นเมืองกระชับ ไม่เปลืองพื้นที่ เพื่อลดการเดินทางของประชาชนแต่ละจุด หากอยากเห็นประเทศไทยพัฒนาอย่างยั่งยืน รัฐต้องใช้กลไกคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ กพย. ซึ่งนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธานเองอยู่แล้ว ท่านสามารถสั่งการได้เลย

สุเมธ องกิตติกุล

ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ

เราประสบความทุกข์จากรถติดค่อนข้างมาก ปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นในกรุงเทพฯและปริมณฑลโดยเฉพาะในช่วง 10-20 ปีมานี้ ยิ่งทำให้การจราจรติดขัดมากขึ้น และยิ่งทำให้เกิดมลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้นมาก โดยระหว่างปี 2551-2560 รถยนต์นั่งส่วนบุคคลมีปริมาณเพิ่มขึ้นจาก 1,974,751 คัน เป็น 4,242,556 คัน คิดเป็น 8% ต่อปี ส่วนรถบรรทุกส่วนบุคคลหรือรถปิกอัพ เพิ่มขึ้น 3.5% ต่อปี คือ จาก 940,886 คัน เป็น 1,322,841 คัน รถเก๋งส่วนใหญ่เป็นรถเบนซิน แต่ดีเซลก็ไม่น้อย ในขณะที่รถปิกอัพเป็นดีเซลเกือบทั้งหมด รถที่เปลี่ยนมาใช้พลังงานทางเลือกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีไม่มากนัก

สำหรับอายุเฉลี่ยของรถนั่งส่วนบุคคล อยู่ที่ 8 ปี น้อยกว่ารถปิกอัพ ซึ่งในปี 2560 พบว่ามีรถปิกอัพที่อายุมากกว่า 20 ปี มากถึง 280,000 คัน รถยนต์ยิ่งใช้งานนานโอกาสก่อเกิดมลพิษก็ยิ่งสูง คำถามคือระบบภาษีและการตรวจสภาพประจำปีสอดคล้องกันมากน้อยขนาดไหน เพราะมันสะท้อนปัญหามลพิษ รถยิ่งเก่าภาษีประจำปีควรยิ่งสูงขึ้น แต่ในเมืองไทยอิงตามมูลค่ารถ ซึ่งควรมีการนำประเด็นนี้มาพิจารณาใหม่หรือไม่

ส่วนการจราจรติดขัด มีประเด็นน่าสนใจคือ พื้นที่ชั้นนอกรถติดมากขึ้น ความเร็วเฉลี่ยลดลงเกือบ 22% ในขณะที่พื้นที่ชั้นในรถก็ยังติดโดยมีความเร็วเฉลี่ยลดลง 11% สิ่งที่คนพยายามพูดคือการใช้รถในระบบขนส่งมวลชน ซึ่งจะทำให้รถติดน้อยลง แต่นั่นยังไม่พอ สิ่งที่ต้องคิดเพิ่มคือการจำกัดการใช้รถยนต์ในพื้นที่การจราจรติดขัด การพัฒนาระบบรถสาธารณะอย่างเดียว ไม่ช่วยแก้ปัญหารถติด ปัญหาหลักคือ ถ้าคนยังใช้รถยนต์ส่วนบุคคลได้ในราคาค่อนข้างถูก ค่าจอดรถถูก และรถไฟฟ้าก็ยังไม่สะดวก เดินขึ้นลงกว่าจะไปต่อรถอีก

สิ่งที่ต่างประเทศทำ คือ พยายามทำให้คนใช้รถส่วนบุคคลลำบากและแพง แม้ฟังดูแล้วอาจไกลตัว นโยบายเชิงการเมืองเป็นไปได้ยาก แต่ในรายละเอียดสามารถเทกสเต็ปได้ ทำไปทีละขั้น เริ่มจากควบคุมการจอดรถ ไม่ใช่สร้างที่จอดรถ ซึ่งยิ่งเป็นการสร้างปัญหา เพราะยิ่งสร้างที่จอดรถในเมืองเยอะ คือการกระตุ้นให้คนขับรถเข้ามาในเมือง ต่างประเทศมีการห้ามจอดรถบนถนนทุกสายซึ่งเป็นการลดที่จอดรถ ซึ่งจริงๆ ไทยก็ทำแล้ว แต่ห้ามเฉพาะบางช่วงเวลาเท่านั้น ส่วนตัวมองว่าระยะเวลาควรกว้างขึ้น เมื่อพิจารณาเมืองใหญ่อย่างสิงคโปร์ ฮ่องกง ลอนดอน ซึ่งมีแนวโน้มจำนวนประชากรสูงขึ้น ผู้ใช้ระบบรางและขนส่งมวลชนก็สูงมาก ในขณะที่ของไทยถือว่ามีการใช้รถสาธารณะน้อยมาก ทั้งๆ ที่จำนวนรถเมล์ไม่ได้น้อยกว่า หากเทียบสัดส่วนแล้วรถเมล์ไทยยังมากกว่าสิงคโปร์อีกด้วย

สิ่งที่สิงคโปร์ทำคือจำกัดทะเบียนรถใหม่ ถ้าอยากซื้อรถต้องให้คนอื่นเอารถออกจากทะเบียนก่อน ค่าประมูลใบอนุญาตก็แพงกว่ารถเสียอีก นอกจากนี้ ยังจัดเก็บค่าเข้าพื้นที่รถติดด้วย ส่วนลอนดอนก็จัดเก็บค่าเข้าพื้นที่เขตเมืองมาได้กว่า 10 ปีแล้ว ในขณะที่ฮ่องกงที่จอดรถแพงกว่าคอนโดมิเนียม สรุปคือ 3 เมืองนี้จำกัดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลให้แพงและลำบาก อีกหนึ่งตัวอย่างคือที่สตอกโฮล์ม เมืองหลวงของสวีเดน มีการจัดเก็บภาษีมลพิษด้วย

พิชญ์ พงศ์สวัสดิ์

อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปัญหานี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายรัฐที่ต้องการทำเมืองกระชับด้วย โดยเชื่อว่าจะมีพื้นที่สีเขียว เทรนด์วิ่งก็มาแรงมาก แต่ตอนนี้วิ่งตอนเช้าไม่ได้แล้ว สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ วิธีคิดเรื่องเมือง คอนโดมิเนียมแต่ละแห่ง ที่จอดรถไม่พอ ต้องแย่งกัน ไม่ใช่ว่ามีคอนโดฯแล้วไม่ขับรถ พื้นที่ซึ่งมีศูนย์การค้าย่านคนหนาแน่นไม่ได้มีการคำนึงถึงระบบการขนส่งอย่างจริงจัง เราต้องคุยเรื่องการขยายเมืองแบบเป็นกระเปาะให้สมดุลระหว่างเมืองกับชนบท ทิศทางข้างหน้าอีก 10 ปี 20 ปี จะทำอย่างไร ตรงนี้ทุกพรรคการเมืองต้องคุยกัน ต้องคิดมิติการเปลี่ยนแปลงของเมืองว่าจะมีทิศทางแบบไหน ทั้งการวางผังเมือง และความยั่งยืน

ประเด็นพื้นที่สีเขียว เราบอกว่าควรปลูกต้นไม้ ถามว่าแล้วควรปลูกต้นอะไร ต้นกล้วย ต้นปาล์ม หรือต้นอะไร และปลูกอย่างไร ส่วนเรื่องรถจักรยานยนต์ 3.5 ล้านคัน นอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างมลพิษในอากาศ แต่ก็เป็นคนที่ต้องปะทะกับมลพิษโดยตรงเช่นเดียวกับคนจนในเมือง คนขายของริมถนน คนเดินเท้า ผู้ว่าฯ
กทม.บอกให้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ แต่กว่าจะเดินไปถึง ถามว่าเดินอย่างไรไม่ให้ป่วย เมืองเป็นของทุกคน แต่คนเหล่านี้ปะทะปัญหามากกว่าคนที่อยู่ในห้องแอร์แล้วแชร์ข่าว

สุดท้ายคือ ปัญหาที่ผ่านมาไม่ได้สะท้อนเรื่องการตั้งรับของรัฐเท่านั้น แต่สะท้อนความไร้อำนาจของเราในเมืองด้วย เราได้ลงไปดูสภาพคนที่อยู่อาศัยในชุมชนที่เป็นบ้านเปิดในกรุงเทพฯหรือไม่ เขาเผชิญปัญหาอย่างไร จะมีการแก้ไขอย่างไร เราจะร่วมมือกันอย่างไร เมื่อมีการก่อสร้างครั้งใหญ่ เราได้เห็นแผนการคำนวณเรื่องสิ่งแวดล้อมและการป้องกันฝุ่นหรือไม่

อยากจุดประเด็นหลายมุม นอกจากในข้อมูลเชิงลึกแต่ต้องคำนึงชีวิตในเมือง เรื่องตึกสูง เมืองกระชับ เราจะดีลกับปัญหานี้อย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image