มุมมอง กฎ กติกา ‘บิ๊กตู่’ร่วมวงดีเบต

หมายเหตุความเห็นของนักวิชาการและฝ่ายการเมืองกรณีที่นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต.เปิดทางให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ในฐานะแคนดิเดตนายกฯของพรรคพลังประชารัฐ สามารถเข้าร่วมดีเบตในเวทีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดขึ้นให้กับ 54 พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.และแจ้งความประสงค์ที่จะร่วมเวทีประชันนโยบาย

ศุภชัย ใจสมุทร
นายทะเบียนสมาชิกพรรคภูมิใจไทย

พรรคเห็นด้วย อยากเห็นพล.อ.ประยุทธ์มาร่วมดีเบต แม้ก่อนหน้านี้ ท่าทีของท่านจะแสดงออกว่าไม่ต้องการ แต่อยากให้เปลี่ยนวิธีคิด ท่านเป็นสุภาพบุรุษ ที่ผ่านมาอาจเกรงใจในสถานะ คงไม่อยากให้ใครมองว่าท่านเอาเปรียบ แต่วันนี้ในฐานะนักการเมือง ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจออกมาดีเบต จะเป็นประโยชน์กับประชาชน

Advertisement

วันนี้การดีเบตไม่ใช่เรื่องของการดีแต่พูด แต่เป็นการประชันนโยบายของแต่ละพรรคแต่ละคน เพื่อให้ประชาชนเห็นว่าถ้าใครได้บริหารประเทศ แล้วจะนำนโยบายมาปฏิบัติอย่างไร เช่น พล.อ.ประยุทธ์เคยเป็น นายกฯ อาจบอกว่านโยบายที่เคยทำ เช่น ประชารัฐ จะนำมาต่อยอดในฐานะว่าที่นายกฯของพรรค พปชร.อย่างไร ถ้าต่อยอดแล้วประชาชนชอบ เขาก็อาจจะเลือก หรือบัตรคนจนที่เคยบอกว่าจะทำให้คนจนหมดจากประเทศ ก็จะได้เห็นเป็นจริงเป็นจัง

จุดยืนของพรรคคือไม่อยากให้พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสียเปรียบ ที่ผ่านมา ใครที่บอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ควรมาดีเบต ถือเป็นการเอาเปรียบพรรค พปชร. เพราะขณะที่ว่าที่นายกฯจากพรรคอื่นมีโอกาสแสดงวิสัยทัศน์ แสดงความคิดเห็นว่าตัวเองมีความเหมาะสมกับตำแหน่งนายกฯอย่างไร แต่พรรค พปชร.ซึ่งเสนอชื่อว่าที่นายกฯเพียงคนเดียวกลับหมดโอกาส ดังนั้น การที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกมาระบุเช่นนี้ ถือว่าเป็นประโยชน์กับพรรค พปชร. ยิ่งหาก พล.อ.ประยุทธ์มีโอกาสประชันความเห็นในหัวข้อเดียวกันกับว่าที่นายกฯของพรรคอื่น ก็จะเป็นประโยชน์ เป็นตัวช่วยในการตัดสินใจของประชาชน

ดังนั้น ขออย่าไปติดใจกับฐานะความเป็นนายกรัฐมนตรี หรือหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ของ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะแม้แต่การเลือกตั้งปี 2554 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นนายกฯรักษาการอยู่ในขณะนั้น ก็ยังดีเบตกับคนอื่นได้

Advertisement

วันวิชิต บุญโปร่ง
คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต

แม้ทางกฎหมายไม่ได้ห้าม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการมีสิทธิขึ้นไปดีเบต แต่คิดว่านายกฯคงไม่ขึ้นไปประชันวิสัยทัศน์กับแกนนำหรือพรรคการเมืองอื่นๆ เพราะจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงบรรยากาศการซักถาม หรือการย้อนคำถามกลับเรื่องความเหมาะสม ความได้เปรียบ เสียเปรียบด้านกลไก กติกาต่างๆ ที่ตัวเองเขียนขึ้น ในฐานะกรรมการและลงมาเล่นในเกมของตัวเอง และ พล.อ.ประยุทธ์คงมองทิศทางลมตรงนี้ออก

เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ขึ้นอย่างแน่นอน 100 เปอร์เซ็นต์ มั่นใจ เพราะทุกครั้งที่ขึ้นจะเกิดความเสียเปรียบ พรรคการเมืองอื่นนำประเด็นตรงนี้มาโจมตี และขยายประเด็นความชอบธรรมความไม่เหมาะสมทางการเมืองขึ้นมาทันที พล.อ.ประยุทธ์จะรู้ว่าตรงนี้มีเผือกร้อนที่ตนเองต้องเลี่ยงที่จะกำไว้ ปฏิเสธการกำเผือกร้อนก้อนนี้รวมทั้งอาจเป็นการเล่นเกมซึ่งได้ไม่คุ้มเสีย ขึ้นแล้วเสมือนการขุดบ่อล่อปลา ทำให้ตัวเองหล่นไปในกับดักนั้น

สถานการณ์ ณ ขณะนั้นคงปฏิเสธไม่ได้ว่า พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์จะจองกฐินในประเด็นถัดไปนอกเหนือจากความชอบธรรมเรื่องอำนาจหัวหน้า คสช.และอำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรีที่จะร่วมดีเบต เพื่อสร้างความได้เปรียบกับคู่แข่งคนอื่นๆ มากเกินไป
อย่างไรตาม คิดว่า พล.อ.ประยุทธ์เลี่ยงการลาออกจากตำแหน่ง เพราะต้องรักษาความสงบเรียบร้อยงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเดือนพฤษภาคม ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีคงใช้ชุดคำอธิบายว่าการประชัน แสดงวิสัยทัศน์ หรือการแสดงนโยบายต่างๆ เป็นหน้าที่ของหัวหน้าพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) คือนายอุตตม สาวนายน รวมทั้งเลขาธิการพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นผู้ออกมาชูนโยบาย อย่างน้อยการใช้กลยุทธ์อย่างนี้เป็นการประชาสัมพันธ์ให้เห็นว่าบุคคลของพรรคพลังประชารัฐมีความรู้ ความสามารถ และ พปชร.มิใช่ดังที่คนคิดว่าเป็นพรรคของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียงอย่างเดียว แต่มีการแนะนำ ประชาสัมพันธ์ตัวแกนนำ รวมทั้งบุคคลอื่นๆ เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยมากขึ้น

ทั้งนี้ คิดว่าพรรคพลังประชารัฐมีทีมยุทธศาสตร์ในการออกไปดีเบตหรือเดินสายอยู่แล้ว เพียงแต่เป็นการพูดหรือชู พล.อ.ประยุทธ์ให้เป็นนายกฯหลังการเลือกตั้งมากกว่า

อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

การเลือกตั้งครั้งนี้มีความแตกต่างจากครั้งอื่นๆ ซึ่งมีแค่ ส.ส.เขตกับปาร์ตี้ลิสต์ และคนที่อยู่อันดับ 1       ปาร์ตี้ลิสต์หรือหัวหน้าพรรคจะเป็นคนที่คาดหวังว่าจะเป็นนายกฯ แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีตัวแคนดิเดตนายกฯอยู่ด้วย ที่สำคัญคือในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง เราก็อยากจะฟังว่าแต่ละพรรคหรือตัวแทนของพรรคมีความคิดเห็นอย่างไร โดยธรรมเนียมแล้วแคนดิเดตนายกฯเองโดยธรรมเนียมแล้วก็น่าจะต้องออกมาแสดงวิสัยทัศน์หรือประชันวิสัยทัศน์โดยการดีเบตกับคนอื่นๆ เพื่อให้คนได้ตัดสินใจเลือกง่ายขึ้น ที่สำคัญ การเลือกตั้งของเราเป็นแบบบัตรใบเดียว ต้องตัดสินใจ 3 อย่างในคราวเดียวกัน คือ เลือก ส.ส.เขต ปาร์ตี้ลิสต์ และเลือกนายกฯด้วย ส่วนตัวคิดว่าถ้าแคนดิเดตนายกฯไม่ว่าพรรคอะไรก็ตามออกมาแสดงความเห็นก็จะเป็นตัวช่วยให้คนได้ตัดสินใจในการกาบัตรเลือกตั้งได้ง่ายขึ้น

สำหรับประเด็นความได้เปรียบเสียเปรียบ คิดว่าอยู่ที่มุมมอง เพราะแคนดิเดตนายกฯของพรรคพลังประชารัฐ คือคนที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีปัจจุบัน ซึ่งมีทั้งข้อได้เปรียบและเสียเปรียบด้วยตัวเองอยู่แล้ว เวลาจะตัดสินใจในการเลือกตั้ง คนจะมองถึงผลงานในอดีตว่าดีหรือไม่ ถ้าดีก็จะให้อยู่ต่อ ถ้าไม่ดีก็จะมีการเปลี่ยนแปลง นายกฯเองหากออกไปพูด ถ้ายังมองว่าในอดีตทำได้ดี แล้วออกไปพูดย้ำก็ต้องยอมรับว่าเป็นข้อได้เปรียบต่อพลังประชารัฐ ถ้าเรามอง พล.อ.ประยุทธ์ในมุมของแคนดิเดตนายกฯ เพราะเอาตัวนายกฯไปด้วย แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้มีข้อกฎหมายห้ามไม่ให้นายกฯไม่สามารถเป็นแคนดิเดตได้ แต่ตำแหน่งนายกฯอาจเป็นข้อเสียเปรียบก็ได้ ถ้าผลงานในปัจจุบันไม่เป็นที่ถูกใจ ไม่ได้บอกว่าการมีตำแหน่งนายกฯคือการหาเสียงแต่ถ้าผลงานไม่ดี คนก็มอง และตัดสินใจได้ง่ายเพราะมันมีผลงานให้ตัดสินใจได้เลย ไม่เหมือนพรรคอื่นที่เป็นการเสนอวิสัยทัศน์ให้ทุกคนได้ตัดสินใจ

สาเหตุที่พรรคการเมืองต้องขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นเวทีนั้น ในการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้นำ ถ้าเราไม่มองจากมุมพรรคการเมือง แต่มองจากมุมคนที่มีสิทธิเลือกตั้ง ทำให้เราตัดสินใจได้ง่ายขึ้น พรรคการเมืองอื่นๆ ก็อยากเอามาประชันกันเลย เพื่อให้เห็นความแตกต่าง คิดว่าพรรคต้องการให้เห็นความแตกต่างของพรรคตัวเอง ซึ่งการขึ้นหรือไม่ขึ้นเวทีขึ้นอยู่กับผู้สมัครคนนั้น อย่างตอนเลือกตั้งปี 2554 คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ไม่ได้ไปดีเบตที่ไหนเลย มันขึ้นอยู่กับการวางกลยุทธ์ของแต่ละพรรคว่าจะหาเสียงอย่างไร การเรียกร้องไม่ผิด แต่การจะไป หรือไม่ไป ขึ้นอยู่กับตัวแคนดิเดต ในขณะเดียวกันประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินเองว่าการไม่ไปดีเบตเป็นเพราะไม่มีความสามารถพอหรือเป็นเพราะเหตุผลอื่นๆ หรือไม่มีความจำเป็น

ในการเลือกตั้งของไทย ส่วนใหญ่ ส.ส. หรือพรรคมักใช้วิธีการหาเสียงแบบเดิมคือ ลงพื้นที่ มีการตั้งเวทีหาเสียง ซึ่งอาจเข้าถึงพื้นที่คนได้น้อย แต่เป็นสิ่งจำเป็น สิ่งที่เป็นความลักลั่นอย่างหนึ่งคือ พรรคการเมืองบอกถ้านายกฯลงพื้นที่คือการหาเสียง แต่ก็เรียกร้องให้ดีเบตหรือลงพื้นที่ปราศรัย ถ้าทำจริงพรรคการเมืองอื่นๆ อาจต้องไม่มีการพูดว่า นี่คือการหาเสียง นี่คือขั้นแรก แต่ถ้าถามว่านายกฯควรทำไหม มองว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ช่วยในการตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าควรเลือกพรรคอะไร เพราะมีบัตรใบเดียว แต่ต้องตัดสินใจเลือกถึง 3 อย่างในคราวเดียวกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image