แง้มห้องประชาพิจารณ์ กม.ลูก‘กัญชา’3ฉบับ

ที่มา – วงประชาพิจารณ์ร่างกฎกระทรวง การขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา พ.ศ.. 2.ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ที่ให้เสพ เพื่อรักษาโรคหรือการศึกษาวิจัยได้ พ.ศ.. และ 3. ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย และหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทยที่สามารถปรุงและสั่งจ่ายตำรับยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ได้ พ.ศ.. ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์
เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

ห ลังจาก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ที่คลายล็อกให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ มีผลตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 ทาง อย.ได้ร่างกฎหมายลำดับรองเพื่อดำเนินการตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ ก่อนหน้านี้ ได้ดำเนินการในร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับการนิรโทษผู้ครอบครองกัญชา หากมาแจ้งกับทางอย. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) ภายใน 90 วัน ไม่ต้องรับโทษนั้น ขณะนี้ อย.จัดทำประชาพิจารณ์ร่างกฎกระทรวงอื่นๆ อีก 3 ฉบับ เกี่ยวกับการขออนุญาต การอนุญาตผลิต นำเข้าส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง และประกาศกระทรวงเกี่ยวกับการกำหนดตำรับยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ และร่างประกาศกระทรวงเกี่ยวกับกำหนดผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้าน เป็นต้น

กฎหมายกำหนดกรอบว่าการจะดำเนินการต่างๆ ต้องร่วมกับภาครัฐ 5 ปี ผู้ออกกฎหมายกังวลว่าจะมีต่างชาติที่ได้เปรียบวิจัยมาก่อนไทยหลายปี หากกฎหมายเราเปิดกว้าง สิ่งที่เกิดขึ้นเขาก็จะมาครองตลาด กฎหมายตรงนี้ก็วางไว้เป็นแต้มต่อของประเทศไทย ข้อเสนอและข้อคิดเห็นต่างๆ ทาง อย.พร้อมรับฟังและรวบรวมเสนอต่อคณะอนุกรรมการ และคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษพิจารณา ในส่วนของร่างกฎกระทรวงเรื่องการขออนุญาต การอนุญาตผลิตฯ นั้น ต้องเสนอผ่านทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาอีก ส่วนประกาศกระทรวงสามารถเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้ต่อไป

Advertisement

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

ในส่วนของกัญชาทางการแพทย์ สวรส.จะรวบรวมข้อมูลต่างๆ ซึ่งในส่วนของการแสดงความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นสิ่งสำคัญ เดิมผมเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้ไปศึกษาดูงานเรื่องกัญชาทางการแพทย์ที่แคนาดา ทำให้ทราบว่า ข้อมูลต่างชาติมีเยอะมาก แต่ในไทยไม่มี เนื่องจากกฎหมายไม่ได้อนุญาตให้วิจัยมากนัก ยังมีข้อจำกัดในการศึกษาวิจัยในมนุษย์ เมื่อมีกฎหมายคลายล็อก จึงต้องได้ข้อมูลต่างๆ อย่างรอบด้าน อย่างในแคนาดากว่าจะใช้กัญชากันจากจุดเริ่มก็ใช้เวลา 7 ปี แต่ของไทยกฎหมายอย่างเดียวใช้เวลา 2 ปี ถือว่าเร็วมาก อยากให้เข้าใจภาครัฐว่า ไม่ใช่จะออกกฎคุมเข้มอย่างเดียว ยังมีเจตนาดีในการคลายล็อกกัญชาทางการแพทย์ด้วยเช่นกัน ไม่เช่นนั้นไม่ออกกฎหมายเช่นนี้ เพียงแต่ในเรื่องการดำเนินการก็ต้องมีการพิจารณามีมาตรการต่างๆ ออกมา อย่างไรก็ตาม ในส่วน สวรส.จะเตรียมงบประมาณเพื่อทำการรวบรวมข้อมูลการใช้กัญชาทั้งด้านบวกและด้านลบ เอาให้ครบทั้งหมด จึงขอความร่วมมือทุกท่านที่ร่วมประชาพิจารณ์วันนี้หากมีข้อมูลเกี่ยวกับผลของการใช้กัญชาด้านต่างๆ ขอให้ส่งมาทาง สวรส.ในการรวบรวม แต่ขอข้อมูลทั้งทางบวกและลบ ซึ่งแน่นอนว่าข้อมูลเหล่านี้ทาง สวรส.จะนำเสนอต่อ อย.เป็นระยะๆ

ภญ.ศรัณยา ชวนิชย์
เภสัชกรชำนาญการ สำนักงานอย.

พ. ร.บ.นี้มีเจตนาใช้ทางการแพทย์และเพื่อการศึกษาวิจัยจึงเน้นเรื่องของคุณภาพของการนำไปทำเป็นยา ต้องมีการดูแลให้เกิดความสมดุลร่วมกันระหว่างดีมานด์กับซัพพลาย ป้องกันการนำกัญชาไปใช้ในทางที่ผิด กรอบการดำเนินการของร่างกฎกระทรวง มี 5 หมวดด้วยกัน

หมวดที่ 1 การขออนุญาต กำหนดวัตถุประสงค์ของการขออนุญาตมีอะไรบ้าง ทั้งนำเข้า ส่งออก จำหน่าย ครอบครอง กำหนดคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตแต่ละกิจกรรม และเอกสารขออนุญาตว่ามีอะไรบ้าง ต้องสมดุลระหว่างดีมานด์กับซัพพลาย หมวดที่ 2 เป็นขั้นตอนการพิจารณาการขออนุญาตต่างๆ มีเรื่องการส่งออกเฉพาะทาง เนื่องจากเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 จะมีเกี่ยวข้องกับต่างชาติ ส่วนหมวดที่ 3 ผู้ได้รับอนุญาตทุกประเภทจะต้องมีการตรวจหาสารปนเปื้อนโลหะหนักและสารกลุ่มต่างๆ อาจทำให้เกิดอันตรายได้

หมวดที่ 4 เป็นเรื่องการนำเข้าการผลิตและผลิตภัณฑ์ต้องได้รับการรับรองจาก อย.ก่อน ยกเว้นกรณีเป็นตำรับตัวอย่างหรือการปรุงยาเฉพาะรายอาจยกเว้นได้ รายละเอียดการผลิตนำเข้าและส่งออก กำหนดวัตถุประสงค์ไว้ 7 ประเภท คำว่าผลิตรวมทั้งการปลูก เป็นต้น และการผลิตเป็นสารสกัด คือ 1.การบริหารทางการแพทย์ภายในประเทศต้องเป็นผู้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุข โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ผู้ที่ขออนุญาตต้องได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย คนที่อยู่ในมาตราตาม พ.ร.บ.ที่มีหน้าที่ หรือสภากาชาดไทย สถาบันอุดมศึกษาที่มีหน้าที่ และกลุ่มเกษตรกรที่รวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชน และอื่นๆ

2.เรื่องการวิจัยคือหน่วยงานของรัฐ สภากาชาดไทย ผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆ และสถาบันศึกษาที่มีหน้าที่ กลุ่มเกษตรกรหรือผู้ขออนุญาตอื่นผู้ประกอบกิจการด้านการเกษตร ด้านการศึกษาวิจัยทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ เราจะเปิดกว้างเพื่อการศึกษาวิจัย เพราะอยากให้มีข้อมูลการศึกษาวิจัยให้มาก

3.เพื่อประโยชน์ทางด้านการป้องกันและผลักดัน 4.การผลิตเพื่อส่งออก เป็นไปตามกฎกระทรวงข้อ 4 วรรค 4 ผู้อนุญาตจะต้องมีคุณสมบัติเป็นผู้นำเข้ายาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตามกลุ่มก่อนหน้านี้จึงจะขออนุญาตได้ และต้องผลิตยาแผนปัจุบัน ยาแผนโบราณ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร 5.การปรุงยาเฉพาะคนไข้ของหมอแผนไทยหรือหมอพื้นบ้าน ต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบวิชาชีพแผนไทยหรือหมอพื้นบ้านต้องเป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด 6.ผู้ป่วยเฉพาะทาง เปิดให้ผู้รับอนุญาตผลิตยาแผนปัจจุบัน หน่วยงานของรัฐ หรือสภากาชาดไทย และกรณีผู้ป่วยเดินทางระหว่างประเทศต้องมีใบรับรองแพทย์ด้วย สำหรับการจำหน่ายในทางยาเสพติด การที่แพทย์ต้องจ่ายยาให้กับคนไข้ แพทย์จะต้องมาเซ็นขอใบอนุญาตต่างหากในกรณีนี้

สำหรับกลุ่มที่ 1 กรณีรักษาผู้ป่วยจะเป็นใครก็ได้ จะเป็นผู้ได้รับอนุญาตผลิตการนำเข้ายาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชากลุ่มแรกที่กระทรวงสาธารณสุขมอบหมาย และกลุ่มที่ 3 เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ให้บริการการแพทย์ต่างๆ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ถ้าเกิดจะจ่ายให้คนไข้ต้องมีใบจำหน่าย

ส่วนกลุ่มที่ 2 กรณีที่ศึกษาวิจัยเป็นหน่วยงานของรัฐจะเปิดกว้าง ทั้งรัฐ ผู้ประกอบวิชาชีพทั้งหมด ผู้ประกอบกิจการเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยทางด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์ กลุ่มที่ 3 เป็นหน่วยงานราชการ และกลุ่มที่ 4 เป็นเกษตรกรรม วิทยากรรม อุตสาหกรรม เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ มองว่าคุณสมบัติที่จะมาขอได้ เป็นพวกรับอนุญาตผลิตการนำเข้ายาเสพติดห้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา ที่กระทรวงสาธารณสุขมอบหมาย

สำหรับกรอบจะให้เห็นว่ายาที่ได้ผลิตแล้วปลูกแล้วจะไปถึงที่คนไข้ได้อย่างไร เมื่อปลูกแล้วขออนุญาตผลิตก็จะลงมาเป็นวัตถุดิบส่งไทย ต้องมาขอใบอนุญาตผลิตเหมือนกัน ไปสู่การเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปแล้วก็ส่งไปที่โรงพยาบาล คลินิก ผู้ประกอบวิชาชีพเขาจะต้องมีใบอนุญาตจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 5

สำหรับแพทย์ที่จะจัดจ่ายได้จะเป็นแพทย์แผนปัจุบัน ทั้งแพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ แล้วก็แพทย์แผนไทย ทั้งแพทย์แผนไทยประยุกต์ แพทย์แผนไทยต่างๆ และหมอพื้นบ้านตามที่รัฐมนตรีประกาศ โดยต้องผ่านการอบรมที่กระทรวงสาธารณสุขหรือสภาวิชาชีพกำหนด ทั้งหมดนี้สั่งจ่ายได้ 3 ช่องทางหลัก คือ การรักษาทางด้านปกติ เป็นยาที่ขายกันได้ทั่วๆ ไป ต่อมาเป็นยาศึกษาวิจัยอยู่ในโครงการศึกษาวิจัยก็สามารถทำได้ และเป็นช่องทางพิเศษ สามารถให้ยาที่ยังไม่ผ่านการรับรองได้

กรณีของการครอบครองประกอบวัตถุประสงค์ไว้ 4 ประเภท คือ 1.การครอบครองเกี่ยวกับการศึกษาวิจัย มีการครอบครองและใช้ภายในหน่วยงานของคนด้านต่างๆ 2.เป็นตัวอย่างเพื่อการศึกษาที่ให้นักเรียนดู 3.ประโยชน์เพื่อการทางแพทย์ ส่วนข้อ 4 เปิดไว้เผื่อในอนาคตอาจจะกำหนดให้มียาเสพติดให้โทษประเภท 5 กัญชาไว้ในเครื่องบินได้

ภญ.ขนิษฐา ตันติศิรินทร์
ผู้อำนวยการกองควบคุมวัตถุเสพติด

ฉ บับแรกคือตัวร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ว่าด้วยการดำเนินการทุกอย่างที่เกี่ยวกับกัญชา ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การส่งออก การจำหน่าย หรือการมีไว้ในครอบครองจะมีประกาศกระทรวงอีก 2 ฉบับ เป็นเรื่องหลักการที่จะมีการใช้ได้ ทั้งใช้เพื่อเสพตามคำสั่งของแพทย์และใช้วิจัย และอีก 1 ฉบับ คือคุณสมบัติของแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้าน ก่อนไปถึงตัวร่างกฎหมาย 3 ฉบับ ในตัวสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 ที่เพิ่งลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ และในส่วนของการบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

หลักๆ คือตัว พ.ร.บ. 28 มาตรา สาระสำคัญอันแรกคือ การเพิ่มองค์ประกอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบในการอนุญาต ไม่ว่าจะเป็นการอนุญาตผลิต นำเข้า หรือส่งออก ทุกกรณีของผู้ขออนุญาตทุกรายจะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการชุดนี้ จากนั้นผู้อนุญาต คือ เลขาธิการ อย.หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจึงจะอนุญาตได้ภายใต้ความเห็นชอบของคณะกรรมการชุดนี้
ที่สำคัญอีกอย่างสำหรับคณะกรรมการชุดนี้ ต้องให้ความเห็นชอบด้านกฎหมาย ด้านกฎกระทรวง ด้านประกาศ ทุกอย่างที่เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 เป็นไปตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 องค์ประกอบของคณะกรรมการจะมีเพียง 19 คน

ในการประชุมของคณะกรรมาธิการยาเสพติดพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ ก็เล็งเห็นว่าคณะกรรมการชุดเดิมไม่เพียงพอเนื่องจากการใช้ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 และทางการแพทย์มีความหลากหลายในหลายๆ ด้าน ทั้งในแผนปัจจุบันหรือแผนไทย จึงได้มีปรากฏเพิ่มองค์ประกอบของคณะกรรมการ เพื่อให้การพิจารณาอนุญาตเป็นไปด้วยความรอบคอบ รอบด้านมากขึ้น

สาระสำคัญต่อมาคือ มาตรา 26/2 เป็นบทกำหนดเกี่ยวกับการผลิต นำเข้า ส่งออกยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังไม่ได้ตัดกัญชาหรือพืชกระท่อมออก และในบทบัญญัติมาตรา 7 ยกห้า ยังคงกำหนดกัญชาและกระท่อมอยู่ใน พ.ร.บ.นี้ การผลิต นำเข้า ส่งออก จะอนุญาตได้เฉพาะในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ ทางการแพทย์การรักษาผู้ป่วย การศึกษาวิจัยและพัฒนาเท่านั้น ไม่รวมถึงการเกษตรกรรม พาณิชยกรรม วิทยาศาสตร์ หรืออุตสาหกรรม แต่ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรม พาณิชยกรรม วิทยาศาสตร์ หรืออุตสาหกรรม เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้นด้วย ส่วนการอนุญาตผู้อนุญาตคือ เลขาธิการ อย. หรือผู้ได้รับมอบหมายโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ เนื่องจากเป็นยาเสพติดให้โทษ

การครอบครองจะไม่เหมือนยาทั่วไป อันนี้ยังเป็นหลักการของยาเสพติดอยู่ การครอบครองจะต้องมีใบอนุญาต แต่ว่าตาม พ.ร.บ.นี้ จะเว้นไว้ว่ากรณีเป็นผู้ป่วยที่ได้รับคำสั่งแพทย์มาว่าให้ใช้ยาตัวนี้ได้ ดังนั้นผู้ป่วยนี้ไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตครอบครอง และบท 26/3 การจำหน่ายหรือครอบครอง ต้องขออนุญาตทุกกรณี

ต่อมามาตรา 58 เป็นบทหลักที่เป็นเหตุให้จะต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ. ปี 2522 คือ กรณีของการเสพยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ได้ มีได้แค่ 2 กรณีเท่านั้น กรณีแรกคือ การเสพเพื่อรักษาโรค และกรณีที่สอง คือ การเสพเพื่อการศึกษาวิจัย จึงเรียนว่าภายใต้กรอบกฎหมายฉบับนี้ การเสพจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ หรือเสพภายใต้การศึกษาวิจัยที่ได้รับการอนุญาตเท่านั้น แพทย์เหล่านี้ต้องมีใบอนุญาต ถ้านอกจากนี้แล้วจะไม่เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย ทั้งนี้ ตามหลักที่จะเสพได้ก็ต้องเป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image