บทนำ : โจทย์ใหม่

การเลือกตั้งโค้งสุดท้าย เกิดพลิกผันจากการเปลี่ยนท่าทีของผู้นำ 2 พรรค ได้แก่ พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ จากเดิมที่มีข่าวว่า ทั้ง 2 พรรค เตรียมเข้าร่วมสนับสนุนผู้นำ คสช. เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ต่อมาวันที่ 6 มี.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า พรรคภูมิใจไทยสนับสนุนนายกรัฐมนตรีจาก ส.ส. และจากเสียงส่วนใหญ่ของสภาผู้แทนราษฎร เราไม่ยอมให้กลุ่มที่ไม่ได้มาจากประชาชนมาเป็นผู้กำหนด เรารับไม่ได้ที่คนที่ไม่ได้มาจากประชาชนมาเลือกนายกฯ ไม่เห็นด้วยกับการที่ให้ 250 ส.ว.มาโหวตเลือกนายกฯ รวมถึงการเป็นนายกฯเสียงข้างน้อยที่มีคะแนนปริ่มๆ ประเทศจะเสียหาย นายกฯต้องสง่างามและรัฐบาลสามารถทำงานได้ตามกลไกรัฐสภาที่มีฝ่ายบริหารและฝ่ายตรวจสอบ เราเสียโอกาสมามากแล้ว คน 500 คน จะไปเดินตามคน 250 คน ได้อย่างไร แต่คน 500 คน ต้องเป็นผู้นำคน 250 คน

ต่อมาวันที่ 10 มี.ค. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวผ่านคลิป เผยแพร่ในโลกออนไลน์ว่า “ชัดๆ เลยนะครับ ผมไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯต่อแน่นอน เพราะการสืบทอดอำนาจสร้างความขัดแย้ง และขัดกับอุดมการณ์ของประชาธิปัตย์ที่ว่าประชาชนเป็นใหญ่ 5 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจย่ำแย่ ประเทศเสียหายมามากพอแล้ว” และตบท้ายว่า หมดเวลาเกรงใจแล้วครับ ต่อมาวันที่ 11 มี.ค.นายอภิสิทธิ์ออกมาแถลงอีกครั้ง ย้ำว่า จะเป็นพรรคที่จัดตั้งรัฐบาลเอง หากได้คะแนนเสียงมากพอ และอาจร่วมมือกับพรรคพลังประชารัฐ แต่ต้องไม่มีการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ หากไม่เป็นไปตามนี้ก็พร้อมเป็นฝ่ายค้าน ส่วนการร่วมมือกับพรรคเพื่อไทยยากจะเกิดขึ้น

สาเหตุที่แน่ชัดของการพลิกเปลี่ยนมาจากอะไร และท่าทีนี้จะเปลี่ยนไปหลังเลือกตั้งหรือไม่ ยังเป็นเรื่องต้องจับตา เหตุปัจจัยในการออกมาแถลงของทั้ง 2 พรรค น่าจะเกิดจากสถานการณ์ในสนามเลือกตั้ง หากไม่กำหนดจุดยืนให้โดดเด่น สอดคล้องกับกระแสของประชาชน อาจทำให้เพลี่ยงพล้ำเสียหาย อย่างไรก็ตาม ท่าทีที่ประกาศออกมา มีสาระที่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย อาจทำให้ได้รับการต้อนรับจากผู้มีสิทธิออกเสียงมากขึ้น สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่ว่า เมื่อหาเสียงไว้อย่างไร เท่ากับทำสัญญาประชาคมกับประชาชน จะต้องปฏิบัติตาม มิใช่ปรับเปลี่ยนไปตามผลประโยชน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image