ส่องโค้งสุดท้ายเลือกตั้ง ‘มาร์ค-เสี่ยหนู’ ชูจุดยืน เพิ่มดีกรีการเมืองเข้ม

หมายเหตุนักวิชาการให้ความเห็นช่วงโค้งสุดท้ายการเลือกตั้ง ที่แต่ละพรรคการเมืองต่างชูจุดยืนของพรรค รวมถึงกรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ และนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ประกาศสนับสนุนนายกฯที่มาจาก ส.ส.


รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งสามารถมองได้ในเชิงการเมืองและเชิงกฎหมาย

ในแง่การเมือง เป็นการต่อสู้กันในลักษณะการนำเสนออุดมการณ์ของแต่ละขั้ว การแข่งขันมีความเข้มข้นมากขึ้นตามลำดับ แต่ละพรรคประกาศตัวชัดว่าอยู่ในขั้วอุดมการณ์ไหน ส่วนพรรคที่ไม่ประกาศตัวชัดจะยิ่งเกิดข้อกังขา ก่อนหน้านี้พรรคที่มองว่าอยู่ตรงกลาง ทั้งประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย ก็เริ่มประกาศอุดมการณ์และจุดยืนออกมามากขึ้น

Advertisement

ในแง่ของกฎหมาย ก็มีการดำเนินคดีความ มีข้อร้องเรียน ทั้งการร้องยุบพรรค ร้องตัวผู้สมัครในระดับพื้นที่ ดังนั้น การต่อสู้จะเข้มข้นมากขึ้นไปจนถึงสัปดาห์สุดท้ายก่อนการเลือกตั้งอย่างแน่อน

การที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดคลิปแถลงถึงจุดยืนไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ยิ่งสะท้อนให้เห็นชัดว่าประชาธิปัตย์มีปัจจัยอยู่ 2 ข้อ ที่ต้องทำให้ชัดเจนคือ ผลสำรวจโพลของสำนักต่างๆ สะท้อนให้เห็นว่าประชาธิปัตย์มีคะแนนนิยมต่ำกว่า 100 ส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 80 ที่นั่ง

ขณะเดียวกันการแข่งขันในแง่อุดมการณ์ก็ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าประชาธิปัตย์ไม่ปรับตัวก็อาจเสียคะแนนนิยมไป จึงมีคลิปแสดงจุดยืนของนายอภิสิทธิ์ออกมา

Advertisement

เช่นเดียวกับภูมิใจไทย ที่ชัดเจนมากขึ้นจากการที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคก็ประกาศว่าจะต้องมีการเลือกนายกฯ ที่มีที่มาจาก ส.ส.เพื่อให้มีความชอบธรรม สะท้อนว่าพรรคกลางๆ เองพยายามปรับตัวแล้ว เพื่อไม่ให้เสียคะแนน

การประกาศจุดยืนของประชาธิปัตย์ สร้างความสนใจให้กับผู้คนไม่น้อย เพราะก่อนหน้านี้ประชาธิปัตย์อยู่ในกลุ่มที่ยังไม่ชัดเจนในจุดยืน แต่ก็เป็นไปได้ใน 2 แนวทางคือ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ ไม่เกี่ยวข้องกับมติพรรค ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็จะต้องว่ากันอีกครั้งหลังการเลือกตั้ง อาจมีมติพรรคที่ไม่ได้เป็นไปตามความเห็นที่นายอภิสิทธิ์ออกมาแถลงก็ได้

ส่วนแนวทางที่ 2 คือประชาธิปัตย์เห็นด้วยกับจุดยืนของนายอภิสิทธิ์ และมีมติพรรคออกมาเช่นนั้น หากเป็นในกรณีนี้ก็จะสะท้อนให้เห็นว่าขั้วการเมืองมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาจทำให้พลังประชารัฐไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ หรือทำให้พลังประชารัฐรวมกับประชาธิปัตย์ แต่ตำแหน่งนายกฯ ต้องเป็นของประชาธิปัตย์ก็เป็นไปได้

ทางด้านเพื่อไทยก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าก็ยึดประชาธิปไตยแบบสากล สนับสนุนแคนดิเดตของพรรคตัวเองเป็นนายกฯ ขณะที่พลังประชารัฐก็มีความชัดเจนเช่นเดียวกันว่า อยู่ในอุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบไทยๆ สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯต่ออีกหนึ่งวาระ แต่พลังประชารัฐต้องทำงานหนักภายใต้ภาวะการเป็นพรรคใหม่ และไม่น่าจะสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคอื่นได้ง่ายๆ เว้นแต่สถานการณ์ที่ก่อให้เกิดการ
เปลี่ยนแปลงได้

นอกจากนี้ พรรคการเมืองมีการใช้วาทกรรมในการหาเสียงมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าเป็นการต่อสู้กันทางการเมืองรูปแบบหนึ่งของตัวผู้สมัครและพรรคการเมืองเพื่อสร้างความได้เปรียบในโค้งสุดท้าย ที่จะส่งผลต่อปัจจัยในระยะสั้นในการตัดสินใจเลือกของประชาชน ดังนั้น แต่ละพรรคจึงพยายามนำเสนอวาทกรรมเพื่อสรุปรวบยอดความคิด อุดมการณ์ และนโยบายของตนเองให้สังคมรับรู้มากขึ้น

ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง อยากเห็นประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมือง ออกมาใช้สิทธิ มามีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นประตูที่จะนำพาสังคมออกจากความขัดแย้งได้ หากการเลือกตั้งได้รับการยอมรับ โอกาสที่เราจะเดินต่อก็เป็นไปได้สูง แต่ถ้าไม่ได้รับการยอมรับ สังคมไทยก็จะอยูในวังวนความขัดแย้งต่อไป

 

ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ช่วงโค้งสุดท้ายการเลือกตั้ง สิ่งที่น่าสนใจคือ มีการเริ่มจัดตั้งขั้วรัฐบาล นัยยะหนึ่งของการแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งนี้คือ เราจะเห็นว่าโทนเสียงเรื่องนโยบายลดลง แต่โทนเสียงเรื่องอุดมการณ์เข้ามาแทนที่ในช่วงโค้งสุดท้าย โดยเฉพาะความพยายามพูดถึงการร่วมมือจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งที่อยู่บนพื้นฐานอุดมการณ์ เรื่องนี้กลายเป็นจุดใหญ่และกลายเป็นสิ่งที่ทำให้การดีเบตนโยบายลดความสำคัญลงไป

น่าสนใจว่า เวลาพูดถึงการร่วมมือจัดตั้งรัฐบาลภายใต้พื้นฐานอุดมการณ์ สิ่งที่จะตามมาคือ ปัญหาอื่นๆ ที่จะมาเป็นระนาบ โดยเฉพาะระบบระเบียบของการเลือกตั้ง ตั้งแต่กฎหมายเลือกตั้ง การจัดการระบบการเลือกตั้งของ กกต. หรือแม้กระทั่งการพิจารณาคดีในชั้นศาลที่จะตามมา

หลังการเลือกตั้งครั้งนี้ แน่นอนว่าจะมีการฟ้องร้องไม่ให้รับรองผลการเลือกตั้งหน่วยใดหน่วยหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการช่วงชิงอำนาจเหนือ ส.ว. ส่วนตัวคิดว่าน่าจะเป็นปัญหาหนักต่อ 250 ส.ว. อีกทั้ง ส.ว. เหล่านี้ จะกลายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการร่วมมือการจัดตั้งพรรคร่วมรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ซึ่งจะได้หรือไม่ได้ ยังไม่รู้

อีกประเด็นความท้าทายคือ ปกติแล้วการจัดตั้งรัฐบาลในระบบการเลือกตั้งแบบรัฐสภา ส่วนใหญ่จะให้พรรคที่ได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ในครั้งนี้เราอาจพบว่าธรรมเนียมดังกล่าวไม่ได้มีความสำคัญ จริงๆ แล้วนี่ไม่ใช่ข้อกฎหมายแต่เป็นมารยาททางการเมืองซึ่งจะลดความสำคัญลงไปในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะมี 250 ส.ว.อยู่ในกระเป๋า จึงทำให้ธรรมเนียมนี้ได้รับผลกระทบตามไปด้วย

จากโค้งสุดท้ายที่พยายามใช้อุดมการณ์ทางการเมือง และสร้างความชอบธรรม ทำให้หลายพรรคเริ่มเปิดไพ่แสดงจุดยืนว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพื่อสร้างความชอบธรรมให้ฝ่ายของตัวเอง อย่างไรก็ตาม กว่าจะถึงวันเลือกตั้งยังมีเวลาหลายวัน ต้องดูต่อไปว่าจะมีการทำให้นโยบายเด่นขึ้นมาอีกไหม หลายพรรคขยับเปิดไพ่นโยบาย แต่ละนโยบายจะแข่งกันอย่างไร โดยเฉพาะนโยบายแนวประชานิยม ในฐานะภาคประชาชนจะเห็นว่านโยบายประชานิยมเป็นภาระต่อภาคประชาชน แม้ว่าอาจได้ประโยชน์ที่ตอบสนองความต้องการ แต่ต้องมองเรื่องผลดีผลเสียระยะยาวของประเทศด้วย

กรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงจุดยืนไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯต่อนั้น อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าพอมีการเปิดไพ่อุดมการณ์ เลือกฝักฝ่าย บางครั้งกลุ่มเครือข่ายหรือพันธมิตรที่เคยร่วมต่อสู้ในความขัดแย้งการเมืองที่เคยมีมาแต่ก่อนอาจพึงพอใจหรือไม่พอใจ แต่การเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร พรรคร่วมรัฐบาลสำคัญที่สุด หลังเลือกตั้งขึ้นอยู่กับว่าดีลพรรคไหนลงตัวมากกว่า ตอนนั้นฝักฝ่ายที่ชอบหรือไม่ชอบก็แล้วแต่ เชื่อว่าพรรคการเมืองคงมีวิธีการที่จะหาช่องทางทำความเข้าใจได้

 

ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

เข้าสู่โค้งสุดท้ายของการหาเสียง ได้เห็นความชัดเจนของจุดยืนพรรคต่างๆ มากขึ้น เช่น พรรคที่ไม่สนับสนุนทหาร หรือการประกาศจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ ก็ยังคงเป็นประชาธิปัตย์ คือเหมือนปฏิเสธที่จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกับพรรคที่สนับสนุนทหาร

ขณะที่พรรคอนาคตใหม่ หรือพรรคเพื่อไทย มีความชัดเจนมากว่าจะไม่ร่วมงานกับทหาร ขณะเดียวกัน ฝั่งพรรคพลังประชารัฐก็ชัดเจนว่าอยู่ฝั่งทหาร

นอกจากนี้ยังมีในมุมของผู้เลือกตั้ง ที่คนส่วนหนึ่งไม่ได้มองว่าการเลือกตั้งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ประเทศมีการพัฒนาประชาธิปไตย หรือเป็นส่วนสำคัญในการคืนอำนาจสู่ประชาชน หลายคนมองว่าประชาธิปไตยคืออุปสรรคของประเทศ นี่คือปัญหาของประเทศไทย

ดังนั้น บางพรรคพยายามสร้างวาทกรรมเรื่องความจำเป็นของบทบาททหารในการเมืองไทยว่าถ้าไม่มีทหาร ประเทศก็ไม่สงบ แต่ความจริงแล้วเราควรมองกลับกันว่า ความไม่สงบนั้นอาจเกิดจากทหารที่ปฏิเสธประชาธิปไตย หรือการที่กลุ่มหนึ่งไม่ยอมรับเสียงข้างมาก ไม่ยอมรับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมากกว่า

จากกระแสตอนนี้ ยังมีแนวโน้มพรรคเพื่อไทยที่จะได้เสียงจำนวน ส.ส.มากที่สุด แต่คะแนนเสียงน่าจะลดลงพอสมควร ซึ่งจะมีผลต่อการนำมาคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ ส่วนพรรคพลังประชารัฐก็ไม่ได้ถูกปฏิเสธ มีคนจำนวนพอสมควรที่ยอมรับพรรคพลังประชารัฐ จึงคิดว่าพรรคพลังประชารัฐน่าจะได้คะแนนเสียงพอสมควร

ดังนั้น ในโค้งสุดท้ายนี้พรรคที่โดดเด่นก็คือ พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย และพรรคอนาคตใหม่ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ดูเหมือนไม่ได้อยู่ในลิสต์โค้งสุดท้ายที่น่าสนใจมากนัก และคาดว่ากระแสของพรรคประชาธิปัตย์ไม่น่าจะปั่นขึ้นได้แล้ว ถ้าดูจากหลายพื้นที่ เช่น อุบลราชธานี ก็ไม่มีปราศรัยใหญ่ของพรรคอย่างที่ผ่านมา เป็นไปได้ว่าคราวนี้พรรคประชาธิปัตย์อาจยอมรับความจริงว่าในภาคอีสานน่าจะไม่สามารถเรียกกระแสเพิ่มขึ้นมาได้แล้ว จึงหันมาโฟกัสในพื้นที่ของพรรคประชาธิปัตย์เอง

คะแนนเสียงของพรรคประชาธิปัตย์มีแนวโน้มลดลง คะแนนเสียงอาจมาอยู่กับพรรคอนาคตใหม่เพิ่มขึ้น แม้พรรคประชาธิปัตย์มีคนรุ่นใหม่ หรือนิวเดม แต่ก็ถูกตั้งคำถามว่ายังถูกครอบงำโดยกลุ่มโอลด์เดมหรือกลุ่มอำนาจเก่าหรือไม่ ต่างจากพรรคอนาคตใหม่ที่สะท้อนความเป็นนิวเจเนอเรชั่นมากกว่า

ตอนนี้ภาพรวมของทุกพรรคยังหาเสียงภายใต้กรอบกฎหมาย เพียงแต่พรรคที่ไม่เห็นด้วยกับทหารจะถูกสร้างภาพให้เป็นอุปสรรคต่อการเมืองไทย ถูกติดตามและถูกครอบงำ เป็นบรรยากาศที่ไม่สามารถจะตอบคำถามประชาคมโลกได้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เสรีและเป็นธรรมจริงตามมาตรฐานหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image