ชำแหละ‘ขั้วการเมือง’ มองสูตรตั้ง‘รัฐบาล’

หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการกรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ประกาศจุดยืนทางการเมือง ไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.นี้ ยืนยันจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ไม่ใช่เป็นแค่พรรคร่วมรัฐบาล และหากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะเข้าร่วมกับ ปชป.จัดตั้งรัฐบาลต้องไม่มีการสืบทอดอำนาจเด็ดขาด

ผศ.ดร.ยอดพล เทพสิทธา
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.นเรศวร

ตอนนี้โอกาสของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่จะจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปได้ยาก เพราะ 1.นายอภิสิทธิ์ไม่จับมือกับเพื่อไทยอย่างแน่นอน และ 2.ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เท่ากับว่าประชาธิปัตย์ไม่ได้ไปกับพลังประชารัฐ แต่ก็ไม่แน่ เพราะอาจจะเกิดการจับมือกันได้ในกรณีที่พลังประชารัฐจะเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ แต่อาจจะเกิดปัญหาเนื่องจากนายอภิสิทธิ์ไม่ได้อยู่ในรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ที่พรรคพลังประชารัฐเสนอ จึงมีอีกวิธี คือไปรวมกับพรรคการเมืองเล็กๆ เพื่อรวมเสียงให้ได้เกินกว่ากึ่งหนึ่งในสภา

นายอภิสิทธิ์จะทำอย่างไรก็ได้เพื่อหาวิธีจับคู่ เช่นจาก 250 ส.ว.เพื่อจะได้แบ่งเสียงส่วนหนึ่งมาจัดตั้งรัฐบาล อาจจะไปจับมือกับพรรคเล็กหรือพรรคขนาดกลาง เช่น ภูมิใจไทย หรือชาติไทยพัฒนา แต่ที่แน่ๆ คือตัดเพื่อไทยออกจากตัวเลือก เนื่องจากนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ก็ออกมาพูดชัดเจนแล้ว ส่วนโอกาสที่ประชาธิปัตย์จะจับกับอนาคตใหม่นั้น ถ้ามองจากอุดมการณ์ของพรรคการเมืองก็น่าจะยาก แต่ก็ยากน้อยกว่าที่จะจับกับเพื่อไทย

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองทางมีโอกาสน้อยมาก คิดว่าพรรคที่น่าจะจับมือกันได้จะเป็นพรรคที่เคยร่วมงานกันมาก่อนหน้านี้ เช่น ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา ทั้ง 2 พรรคนี้น่าจะมีคะแนนเสียงรองลงมาจากประชาธิปัตย์ และจะเป็นตัวแปรในการจัดตั้งรัฐบาลที่นายอภิสิทธิ์มีโอกาสได้เป็นนายกฯ

ถ้าดูตามข้อเท็จจริงจะเห็นว่าตอนนี้ทุกพรรคการเมืองต่างไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ยกเว้นพลังประชารัฐ ประชาชนปฏิรูป และรวมพลังประชาชาติไทย หากอยากเป็นรัฐบาลก็ต้องจับมือกันเอง เมื่อมาดูแล้ว นายอนุทิน ชาญวีรกูล จะจับกับเพื่อไทยได้หรือไม่ แล้วนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ จับกับเพื่อไทยได้หรือไม่ หรือนายอนุทินและนายสุวัจน์ จะจับมือกับนายอภิสิทธิ์จัดตั้งรัฐบาล ก็มีโอกาสเป็นไปได้ แต่เพื่อไทยจะถูกบีบมากกว่า ตกลงกันยากกว่า

เมื่อดูจากระบบการเลือกตั้งครั้งนี้ โอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลก็จะยากหากไม่มี ส.ว.ในมือ จากที่คนพูดกันว่า พลังประชารัฐมี 250 เสียงไว้ก็วินแล้ว คือต้องได้ทั้งหมด 375 เสียง ถามว่าจะมีพรรคการเมืองไหนที่มีเสียงข้างมากที่เด็ดขาดในสภาผู้แทนราษฎรบ้าง เนื่องจากมี 250 เสียง ก็ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ หมายความว่า ถ้า ส.ว.ของพรรคการเมือง เสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จริง ได้เสียงข้างมากในสภาล่าง หรือสภาผู้แทนราษฎร ก็ยังจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้

Advertisement

สำหรับนายอภิสิทธิ์มีแนวทางเดียวคือไปจับกับพรรคอื่นๆ แล้วไปแบ่งเสียง ส.ว.ให้ได้ แต่โอกาสที่จะจับกับพลังประชารัฐ นายอภิสิทธิ์ก็พูดค่อนข้างชัดว่าไม่เสนอแคนดิเดตเป็น พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้นพลังประชารัฐก็ต้องไปง้อให้นายอภิสิทธิ์เสนอ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตให้ได้ เว้นแต่พลังประชารัฐทิ้ง พล.อ.ประยุทธ์แล้วมาเอานายอภิสิทธิ์ ก็มีโอกาสที่จะจัดตั้งรัฐบาลกันได้ แต่จะขัดเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะเสนอชื่อแคนดิเดตไปแล้วและนายอภิสิทธิ์ไม่ได้อยู่ลิสต์รายชื่อนั้น

ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์คณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ม.บูรพา

ความเป็นไปได้ในสูตรการจัดตั้งรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องขอตั้งต้นก่อนว่า หลังจากนายอภิสิทธิ์แสดงจุดยืนชัดเจนที่จะไม่ร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยนายอภิสิทธิ์ได้ใช้พื้นที่สื่อในการสร้างกระแสทางการเมืองที่ พล.อ.ประยุทธ์ตกต่ำ ขณะเดียวกันนายอภิสิทธิ์ไม่ได้ปฏิเสธการร่วมรัฐบาลของพรรคพลังประชารัฐ

หากถามว่าเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน มองว่ายากที่นายอภิสิทธิ์จะจับมือกับฝั่งเพื่อไทย ถ้าพลังประชารัฐได้เสียงข้างมากจริง โอกาสที่จะร่วมรัฐบาลกับประชาธิปัตย์ก็เป็นไปได้ แต่ภายใต้เงื่อนไขที่หลายพรรคเห็นตรงกันว่านายกรัฐมนตรีจะต้องไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ กระแส พล.อ.ประยุทธ์ ในระยะ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาตกต่ำอย่างมาก อาจจะมีปัญหากรณีเกี่ยวกับการเป็นบุคลากรของรัฐที่ไม่สามารถนำเสนอเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้ ยังเป็นประเด็นปัญหาในทางกฎหมายอยู่ บรรดาหลายพรรคก็เห็นจุดอ่อนนี้ อาจมีการเลี่ยงหรือปรับกลยุทธ์ทางการเมืองใหม่

อาจไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ แต่เป็นพรรคอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ หรือพรรคแนวร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อที่จะต่อสู้กับเพื่อไทยและเครือข่าย

อัษฎางค์ ปาณิกบุตร
อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

จริงๆ การเมืองไทยมีเพียง 2 ฝั่งเท่านั้น ไม่ใช้สามก๊กอย่างที่มีการพูดกัน เพราะที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ชอบใช้ยุทธศาสตร์แทงกั๊ก เป็นเช่นนี้มาเสมอไม่เคยเปลี่ยนจนกระทั่งถึงยุคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ยังแทงกั๊กอยู่ การมาประกาศในช่วงโค้งสุดท้ายว่า ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่เริ่มแรกสนับสนุนเผด็จการ ทำให้เกิดการยึดอำนาจ เพราะเห็นกระแสประชาธิปไตยที่ยิ่งสูงขึ้นๆ จึงกลัวว่า ตัวเองจะไม่ได้ตามเป้า ใครๆ ก็รู้ว่า การประกาศว่า ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ เพราะอยากกลับมาเป็นนายกฯ แต่ในความเป็นจริงใครๆ เขาก็รู้เช่นกันว่า ประชาธิปัตย์ คงไม่ได้ที่ 1 หรืออยู่โดดๆ ได้โดยไม่มีพรรคร่วมได้ ดังนั้น ตามเงื่อนไข แม้ว่าวันนี้นายอภิสิทธิ์ จะประกาศว่า ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ แต่เขามีวิธีอื่นให้เล่นอีกเยอะ เช่น หากได้ไม่ถึง 100 นายอภิสิทธิ์ก็ต้องลาออก หรือใช้มติกรรมการบริหารพรรคเพื่อเอา พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังได้ หากต่อรองแล้วได้กระทรวงสำคัญๆ ไป เป็นต้น

ต้องยอมรับว่า พรรคพลังประชารัฐลงทุนไปมาก กติกาต่างๆ ก็ออกมาเอื้อทุกอย่าง อีกทั้งยังเป็นพรรคที่ถืออำนาจรัฐอยู่ คงไม่มีทางที่จะอยากแพ้อยู่แล้ว แต่การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะกลับมาเป็นนายกฯ ด้วยเสียง ส.ส.เพียง 126 เสียงแล้วนำไปบวกกับ 250 ส.ว. บอกเลยว่า เสียว

การเป็นรัฐบาลด้วยเสียงข้างน้อยอยู่ได้ไม่ถึง 3 เดือนก็จบ แม้จะวัดใจให้จบโดยหวังว่าจะไปเลือกตั้งใหม่อีก แล้วให้เสียง 250 ส.ว.เลือกกลับมาอีกครั้ง ก็จะยิ่งยากกว่าเดิมมากวันนั้นมาถึง คนจะยิ่งเห็นเสถียรภาพของรัฐบาลว่ายิ่งฝืนยิ่งเจ๊ง แล้ววันนั้นจะเป็นการเลือกตั้งที่คนจะยิ่งเทให้พรรคฝ่ายประชาธิปไตยมากขึ้นกว่าเดิมอีกแน่นอน

ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จะกลับมาเป็นนายกฯต้องมีเสียง ส.ส.เกินครึ่งไปอีก 20-30 เสียง หรือ 280 ขึ้นไป ถึงจะอยู่ได้อย่างมีเสถียรภาพ โดยไม่ต้องกลัวฝ่ายค้าน

ขณะที่ฝ่ายประชาธิปไตย หากดูบรรยากาศในช่วงโค้งสุดท้าย เป็นไปได้สูงที่ประชาชนจะออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งกันสูงมาก หากวันที่ 24 มีนาคมนี้เป็นจริง โอกาสที่ฝ่ายประชาธิปไตยจะได้เสียงเกินครึ่งหรือ 251 เสียงขึ้นก็มีสูงมากเช่นกัน แม้ว่าจุดอ่อนของพรรคฝ่ายประชาธิปไตยขณะนี้ คือการที่พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ แต่หากพรรคที่เหลือ อย่างพรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อธรรม พรรคเพื่อชาติ พรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาชาติ และเสรีรวมไทย ลงสนามแล้วได้เสียงรวมกันได้ถึง 251 เสียงก็จะเป็นจำนวนที่การันตีให้พรรคขนาดกลาง อาทิ พรรคภูมิใจไทย เป็นต้น ร่วมรัฐบาลเพื่อผลักดันให้พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคพลังประชารัฐเป็นฝ่ายค้านไป

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การมีเสียงปริ่มๆ 250 นิดๆ ต้องระวัง พวกชอบเข้าห้องน้ำบ่อยต่อรองแหกมติพรรคมีทุกยุคทุกสมัยเหมือนกัน ดังนั้น หากฝ่ายประชาธิปไตยจะชนะ ประชาชนต้องออกมาใช้สิทธิเลือกฝ่ายประชาธิปไตยให้ถล่มทลายเหมือนดอกไม้บานยามเช้าถึงจะหยุดเผด็จการได้ เพราะการจะชนะแล้วการันตีเสถียรภาพด้วย พรรคฝ่ายประชาธิปไตยต้องมีเสียงให้ได้ถึง 280 ขึ้นไปเพื่อรวมเสียงกับพรรคขนาดกลางอื่นๆ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ คิดหนักแล้วยอมแพ้ไปตั้งแต่ต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image