ศึก 2 ขั้ว ‘พปชร.-พท.’ เสียงแบบไหนได้สิทธิแรกตั้ง รบ.

หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการถึงหลักการและความเหมาะสม ระหว่างพรรคเพื่อไทยที่ชนะได้เสียง ส.ส.สูงสุด กับพรรคพลังประชารัฐที่ได้เสียงป๊อปปูลาร์โหวตสูงสุด พรรคไหนควรได้สิทธิจัดตั้งรัฐบาลก่อน



รศ.ไชยันต์ รัชชกูล
คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.พะเยา

เป็นโลจิกทั่วไป เป็นเรื่องธรรมดาไม่ใช่เฉพาะการเลือกตั้งของไทย ที่พรรคคะแนนเสียงข้างมากจะต้องเป็นฝ่ายฟอร์มรัฐบาล แต่ถ้าหากจะบิดเบี้ยวก็อาจใช้วิธีบอกว่าถึงแม้ไม่ได้เสียงสูงสุดแต่ก็สามารถไปรวมกับพรรคที่ได้เสียงสูงสุดได้แม้ว่าจะไม่ตรงกับธรรมเนียมปฏิบัติไม่เข้ากับหลักสากล วิธีนี้ก็ยังพอว่า แต่การที่จะเอาป๊อบปูลาร์โหวตมานับไม่มีที่ไหนทำกัน นี่คือระบบตัวแทนไม่ใช่ระบบเลือกตรง ยังมีการเลือกตั้งอีกมาก เช่น การเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นายก อบจ. ส.อบจ. หรือนายกเทศมนตรี ถ้าเล่นแบบไม่ดูจำนวนของสมาชิกที่ได้ก็จะยุ่ง ดังนั้น ฝ่ายพรรคเพื่อไทยต้องได้จัดตั้งรัฐบาล ไม่ใช่แค่คำว่า “น่าจะ” เพราะได้ที่นั่ง ส.ส.มากที่สุด

ทั้งนี้ คนที่เป็นประธานสภาสำคัญมาก ทั้งสองพรรคต้องชิงไหวพริบกัน ดูว่าใครเป็นประธานสภา จะมีการเลือกประธานสภาก่อน ปกติจะเอาคนอาวุโสสูงสุดไปทำหน้าที่เพื่อเป็นประธานสภา จึงคิดว่าทั้งสองพรรคจะแข่งกันอย่างดุเดือดในจุดนี้

สมมุติว่าพรรคพลังประชารัฐตั้งรัฐบาลได้ แต่เสียงหมิ่นเหม่ ทั้งสองข้างก็จะไม่มีความชอบธรรม แต่อย่างน้อยสิ่งที่ดี คือ การแข่งขันช่วงชิงกันแค่ใน ส.ส. ไม่ต้องเข้าไปให้ ส.ว.มีส่วนเลือก

Advertisement

ตัวแปรตอนนี้ไม่ใช่อยู่ที่พรรคภูมิใจไทยอย่างเดียว แต่มีพรรคประชาธิปัตย์ด้วย ซึ่งคงแตกเป็น 2 สายภายในพรรคอย่างมาก นายกรณ์ จาติกวณิช ก็มีความเห็นทางหนึ่ง แต่ก็อาจจะไม่ใช่คนที่มีเสียงดังที่สุดในพรรค พรรคประชาธิปัตย์อาจต้องตีกันในพรรคมากกว่าพรรคภูมิใจไทย ดังนั้นไม่ใช่ว่าเพียงพรรคใดพรรคหนึ่งเป็นตัวแปรสำคัญ เพราะในแต่ละพรรคก็มีคนที่เห็นต่างอยู่ด้วย

เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยมีโอกาสเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ในการจัดตั้งรัฐบาล แต่เพื่อไทยจะจัดตั้งไม่ได้ถ้าฝ่ายพลังประชารัฐไปรวมเสียงจากพรรคเล็กได้มากกว่า ทั้งประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และพรรคเล็กพรรคน้อย ทำให้มีเสียงเกินกว่าฝ่ายพรรคเพื่อไทย แต่ทางนี้ก็ไม่ง่าย เพราะยังติดอีกหลายตัวแปรที่จะส่งผลให้การตั้งรัฐบาลไม่น่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ เช่น ข้อสงสัยในการทุจริตที่จะส่งผลให้ที่นั่งลดลงหรือเพิ่มขึ้นได้ หรืออาจจะต้องเลือกตั้งใหม่ในบางเขต แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่น่าจะมีการล้มเลือกตั้งทั้งหมด

ส่วนแกนนำของเพื่อไทยที่ไม่ได้เป็น ส.ส. ก็ไม่มีปัญหาอะไร หากพรรคเพื่อไทยได้ตั้งรัฐบาล เพราะคนที่อยู่ในคณะรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. สามารถเชิญใครมาเป็นรัฐมนตรีไหนก็ได้ ยกเว้นนายกฯคนเดียวที่จะต้องเสนอไว้ก่อนแล้วกับ กกต.

Advertisement

รศ.ยุทธพร อิสรชัย
คณบดีสาขาวิชารัฐศาสตร์ มสธ.

กติกาในระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทน สำคัญสุดต้องดูจำนวน ส.ส.ในสภา เป็นเจตจำนงของประชาชนที่ส่งผ่านมาในการเลือกตั้ง สะท้อนถึงว่าประชาชนอยากให้ใครเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล การที่ยกป๊อปปูลาร์โหวตมาเป็นเหตุผลจัดตั้งรัฐบาลไม่สอดคล้องกับระบบประชาธิปไตยแบบผู้แทน ต้องใช้เสียง ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นตัวชี้ขาด และข้อเท็จจริงพรรคพลังประชารัฐส่งผู้สมัครครบทั้ง 350 เขต ขณะที่พรรคเพื่อไทยส่งเพียง 250 เขต ฉะนั้นจำนวนเสียงของประชาชนที่จะได้ย่อมมีมากกว่าอยู่แล้วจึงมาเปรียบเทียบกันไม่ได้

นอกจากนี้ โดยธรรมเนียมของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาจะต้องให้ทางฝั่งที่ได้รับเสียงข้างมากเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลก่อน ถ้าไม่ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งจึงเรียงลำดับต่อมาเรื่อยๆ

ปัจจุบันเราจะเห็นว่าทั้งสองพรรคได้เสียงที่กึ่งๆ กันทั้งคู่ การจัดตั้งรัฐบาลจึงต้องอาศัยตัวแปรสำคัญคือ พรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็ก พรรคภูมิใจไทยคือตัวแปรที่จะชี้ได้ว่าพรรคฝั่งไหนจะได้เป็นรัฐบาล แต่ขณะเดียวกันเสถียรภาพก็ยังไม่เกิด เพราะควรจะมีเสียงไม่น้อยกว่า 270 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร ยิ่งได้ถึง 300 เสียงยิ่งดี แต่ความเป็นจริงคงเป็น​
ไปได้ยากที่จะได้ถึง 300 เสียง

พรรคที่จะเสริมเสถียรภาพจึงเป็นพรรคขนาดเล็กที่ได้ 3 ที่ 2 ที่มารวมๆ กัน กลุ่มนี้น่าจะได้ประมาณ 20 ที่นั่ง เมื่อพิจารณาเช่นนี้แล้ว ผมเชื่อว่า ณ วันนี้พรรคภูมิใจไทยก็ยังไม่ตัดสินใจจนกว่าจะอยู่ในช่วง 60 วันที่จะต้องรอ กกต.ประกาศรับรองผลอย่างเป็นทางการ ตอนนั้นจึงจะเห็นว่าจะไปอยู่ฝั่งไหน ฉะนั้นตอนนี้เสียงทั้งสองฝั่งน่าจะไม่ทิ้งกันมาก และมีโอกาสที่จะพลิกได้ตลอด แต่ถ้าพูดถึงความชอบธรรมควรจะเป็นพรรคเพื่อไทยที่ได้จัดตั้งรัฐบาลก่อน

หากพูดถึงความยากง่ายของแต่ละขั้วจัดตั้งรัฐบาลมีความเป็นไปได้ทั้งหมด พรรคเพื่อไทยประกาศแล้วว่าไม่จำเป็นต้องคนที่มาจากบัญชีของพรรคเพื่อไทยก็ได้ อาจเปิดโอกาสให้พรรคอื่นที่มาร่วม เช่นว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทย ขณะที่ฝั่งพรรคพลังประชารัฐ แน่นอนว่าอาจจะได้เปรียบในด้าน ส.ว. น่าจะเห็นคล้อยไปทางฝั่งพรรคพลังประชารัฐมากกว่า แต่ก็ไม่ได้เป็นการปิดโอกาสที่ ส.ว.จะมาโหวตทางฝั่งของพรรคเพื่อไทย

ในกรณีมีการเสนอชื่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ขณะที่นายอนุทินถ้าไปจับกลุ่มกับทางฝั่งพรรคพลังประชารัฐ นายกรัฐมนตรีก็ต้องมาจากทางพลังประชารัฐ ซึ่งก็คือ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา แน่นอนว่ามีโอกาสที่ ส.ว.จะสนับสนุนมากกว่า แต่ถ้าพรรคภูมิใจไทยไม่เข้าร่วมก็จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้เหมือนกัน

สถานการณ์การเมืองปัจจุบันจึงเป็นไปได้ที่นายอนุทินจะได้เป็นนายกฯ เนื่องจากพรรคเพื่อไทยและหลายพรรคก็ออกมาประกาศชัดเจน เช่น พรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็ประกาศชัดว่าจะไม่เสนอชื่อนายกฯ ต้องรักษาวัฒนธรรมของระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทนไว้ เมื่ออนาคตใหม่ไม่ได้เสนอชื่อ ทางพรรคเพื่อไทยก็บอกว่าไม่ได้ติดใจถ้านายกรัฐมนตรีจะไม่ได้มาจากบัญชีของพรรค แต่ต้องการจะต่อสู้กับพรรคพลังประชารัฐและ พล.อ.ประยุทธ์เป็นหลัก ก็สะท้อนให้เห็นว่าโอกาสที่จะเสนอชื่อนายอนุทินมีอยู่ และเป็นไปได้

กรณีแกนนำพรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็น ส.ส. เป็นสิ่งที่น่าเป็นกังวล เพราะว่าถ้าถึงเวลาแล้วสุดท้ายไม่มีบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทยเข้าไปเลย ก็หมายความว่าในสภาจะไม่มีแกนนำพรรค ไม่มีผู้ใหญ่ของพรรคเข้าไปคุมทิศทางยุทธศาสตร์การทำงานของพรรคในสภา นั่นมีโอกาสที่จะทำให้เกิดกลุ่มงูเห่าในพรรคเพื่อไทย

 

ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต

ควรให้เกียรติพรรคที่ได้เสียงไว้วางใจเป็นอันดับหนึ่ง มีโอกาสใช้พื้นที่ทาบทามพรรคการเมืองเพื่อการจัดตั้งรัฐบาลก่อน นี่คือมารยาททางการเมือง เป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดและการเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นเช่นนี้มาตลอด หากพรรคอันดับหนึ่งไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ก็จะเปิดโอกาสให้พรรคอันดับ 2 ฟอร์มทีมทาบทามจัดตั้งรัฐบาลต่อไป เป็นกติกาง่ายๆ ที่ควรจะเป็นไปในทิศทางนี้

ตามหลักสากลก็ใช้จำนวนที่นั่ง ส.ส.เป็นหลักอยู่แล้ว เราจะเห็นตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา สมัยหนึ่ง จอร์จ เอช.ดับเบิลยู. บุช ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 41 ชนะการเลือกตั้ง แต่เสียงป๊อบปูลาร์โหวตแพ้ผู้ท้าชิง คือ อดีตรองประธานาธิบดี อัล กอร์ โดยอัล กอร์ ก็ยอมรับผลตามกติกา ไม่ใช่เคลมหรืออ้างว่าได้รับเสียงมาก คนเลือกทั้งประเทศมากกว่าแต่แพ้ในระดับเขตหรือรัฐ ที่สหรัฐก็ไม่ต่างอะไรกับการนับเก้าอี้ ส.ส.ในประเทศไทย หากนับรายหัวหรือรายจังหวัดเทียบกับสหรัฐ พรรคเพื่อไทยก็สามารถครองพื้นที่จำนวนจังหวัดได้มากกว่าพรรคพลังประชารัฐ แม้ว่าบางจังหวัดหรือบางพื้นที่อาจมีคนมาใช้สิทธิมากกว่า แต่ก็หมายความทุกจังหวัดไม่ว่าเล็กหรือใหญ่มีคะแนนเสียงเท่าเทียมกัน ฉะนั้นจะหักล้างด้วยจำนวนเสียงมากลากไปไม่ได้

ดังนั้น พรรคเพื่อไทยควรได้โอกาสทาบทามจัดตั้งรัฐบาลก่อน เว้นแต่แนวทางอุดมการณ์หรือข้อเสนอทางการเมืองไม่สามารถเดินต่อไปได้ พรรคที่ถูกทาบทามก็อาจแสดงมารยาททางการเมืองโดยการตั้งโต๊ะแถลงข่าว ประกาศให้สาธารณชนรับทราบ แต่เพื่อไทยในขณะนี้กำลังโยนก้อนหินถามทาง ต้องการใช้กระแสสังคมเข้ามาช่วยกดดันด้วย ประชาชนและสังคมไทยคุ้นเคยกับกติกาแบบเดิมคือคนที่ได้รับเสียงไว้วางใจมาเป็นอับดับหนึ่งควรมีเวลาและโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลก่อน ต้องอย่าลืมว่า กกต.ยังไม่มีการพิจารณาเรื่องร้องเรียนต่างๆ ที่จะนำไปสู่ใบเหลือง ใบส้ม ใบแดง ใบดำ อาจจะส่งผลให้ตัวเลข ส.ส.ที่ได้มาในพรรคเปลี่ยนไป หมายความว่าสูตรคณิตศาสตร์ในการจัดตั้งรัฐบาล ในอนาคตบางขั้วอาจเกิดอุปสรรคในการคิดคำนวณสูตร ทำให้พรรคขนาดกลางและขนาดเล็กสงวนท่าทีในเบื้องต้นไว้ก่อน เพราะยังไม่มั่นใจในตัวเลขแท้จริงที่สะเด็ดน้ำในขั้นสุดท้ายว่าจะได้ ส.ส.ในพรรคตัวเองเท่าไหร่ หากได้เลขที่ชัดเจนแล้ว ก็เชื่อว่าขั้นตอนการทาบทาม พูดคุยอย่างเป็นจริงเป็นจังจะมีมากขึ้นไม่ว่าขั้วใดก็ตาม เพราะตอนนี้ทุกฝ่ายกังวลกับท่าทีการพิจารณาคดีเรื่องร้องเรียนต่างๆ ของ กกต.อยู่

การพิจารณาบทลงโทษต่างๆ หากตัวเลขไปหั่นพื้นที่จำนวน ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยลงไป อาจจะมีส่วนให้พรรคการเมืองขนาดกลางและเล็กเปลี่ยนมุมมองหรือคิดถึงความคุ้มค่าในการร่วมกับพรรคการเมืองข้างใดข้างหนึ่ง ว่าโอกาสที่จะอยู่และมีเสถียรภาพที่สุดควรจะอยู่กับใคร

แต่เป็นไปได้ที่เพื่อไทยจะได้ชิงนายกฯ เพราะเบื้องต้นตัวเลขชัดเจนว่าค่อนข้างทิ้งช่วงกับพลังประชารัฐพอสมควร และยังมีแนวร่วมอุดมการณ์อย่างพรรคอนาคตใหม่ ได้เปรียบแล้ว 200 กว่าที่นั่ง

ทั้งนี้ ข้อกังวลใจของฝั่งเพื่อไทย คือการเปลี่ยนใจให้ประชาธิปัตย์ปรับเปลี่ยนท่าที เพื่อรับข้อเสนอหรือเงื่อนไขในการมาทำงานร่วมกัน จุดนี่สำคัญมากกว่า ท้ายที่สุดเพื่อไทยต้องการทั้งภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์เพื่อเพิ่มเสถียรภาพในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะลำพังพันธมิตรหรือเครือข่ายที่นิยมประชาธิปไตยไม่เพียงพอที่จะได้รับเสียงการโหวตยอมรับในขั้นสุดท้าย ที่อาจจะต้องไปติดปัญหาขยะ กับ ส.ว. ที่แต่งตั้งโดย คสช.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image