รายงานหน้า2 : สูตรปาร์ตี้ลิสต์ แจกพรรคเล็ก เสียงได้-เสียจับขั้วตั้งรัฐบาล?

หมายเหตุความคิดเห็นของนักวิชาการต่อกรณีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกเอกสารข่าวระบุว่าจะใช้สูตรการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ตามรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.พ.ศ.2561 โดยสาระสำคัญจะทำให้มีพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อไม่น้อยกว่า 25 พรรค จะส่งผลต่อการจับขั้วทางการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่

โคทม อารียา
ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

รัฐธรรมนูญมาตรา 91 (4) และมาตรา 128 (5) ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.เขียนเรื่องการจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อไว้เหมือนกันว่า ในการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อให้จัดสรรตามสัดส่วนแต่ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินจํานวนที่จะพึงมีได้ นั่นคือ พรรคเพื่อไทย โดย ส.ส.ที่พึงมีเท่ากับถ้าพรรคใดได้คะแนนเท่ากับโควต้าคือประมาณ 71,000 คะแนน คือนำคะแนนทั้งประเทศประมาณ 35 ล้าน หารด้วย 500 เฉลี่ย 71,000 โดยประมาณ สำหรับผมมองว่าดูจากตรงนี้จะมีเพียงแค่ 16 พรรคการเมืองเท่านั้นที่จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
ส่วนที่มีหลายฝ่ายมองว่าการที่ กกต.ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อเลยทำให้เกิดความสับสน ผมมองว่าเรื่องนี้ยังพอมีเวลาให้ทาง กกต.ได้คิดอย่างรอบคอบก่อน ผมขอเสนอว่าให้ กกต.เสนอแนวทางการคำนวณมาสักหนึ่งหรือสองวิธีการเพื่อฟังเสียงฟังความเห็นเหมือนกับเป็นการทำประชาพิจารณ์ว่ามีความคิดเห็นอย่างไรกับสูตรการคำนวณของ กกต.
ส่วนที่มีคำถามว่าสูตรคำนวณมันควรมีความชัดเจนก่อนการเลือกตั้งแล้วหรือไม่ เขาก็บอกชัดเจนตามกฎหมายแต่พอลงมือคำนวณเข้าจริงๆ คนนั้นก็บอกใช้วิธีการแบบนี้คนนี้ก็บอกว่าควรใช้วิธีการแบบนั้น มันก็เลยออกมาหลายสูตร มีบางคนปล่อยข่าวว่าเป็นสูตร 25 พรรค ซึ่ง กกต.เองก็ยังไม่มีการยืนยันสูตรนี้ แต่ผมขอยืนยันสูตร 16 พรรคการเมืองที่จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

 

Advertisement

สติธร ธนานิธิโชติ
รักษาการผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย
สถาบันพระปกเกล้า

ตามเจตนารมณ์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในการร่างรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.นั้นตีความไม่สอดคล้องกับเนื้อความที่บัญญัติในมาตรา 128 (4) ส่วน (5) ซึ่งตรงกับ มาตรา 91 (4) ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องไปถกเถียงกัน อย่างประโยคที่ว่าเมื่อจัดสรรไปแล้วจะต้องไม่มีพรรคใดได้ ส.ส.เกินจำนวนพึงมีนั้น เป็นสิ่งที่มีปัญหา เพราะสูตรที่ กกต.และ กรธ.ทำเป็นตัวอย่างเผยแพร่และคิดว่าจะใช้นั้น ทำให้พรรคที่ได้คะแนนต่ำกว่าพึงมีได้ ส.ส.
เมื่อเอาคะแนนแต่ละพรรคหารด้วย 71,000 ออกมาแล้ว ได้คะแนน ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรค ซึ่งหากตัดจำนวนเต็มออกไป จะมีค่าตั้งแต่ 0.3-0.9 และหากตีความตามกฎหมายมาตรา 128 (2) คือต้องไม่มีพรรคใดมี ส.ส.เกินจำนวน ส.ส.พึงมี จะให้ 1 ที่นั่งไม่ได้ เพราะมันมีค่าเกินกว่า 0.3 หรือแม้แต่คะแนน 0.98 ของพรรคลำดับที่ 17 ถ้าให้ไป 1 ที่นั่ง มันเกินหรือไม่ ส่วนตัวเลข 71,000 นั้นไม่เกี่ยว ไม่ใช่ตัวเลข ส.ส.พึงมี เป็นเพียงเลขที่นำมาหารเป็นค่าเฉลี่ยที่กฎหมายไม่ได้เขียนไว้ กกต.อาจจะเถียงเหมือนเราไม่เข้าใจสูตร จึงต้องให้ กกต.อธิบายในส่วนนี้
ทั้งนี้ในส่วนของตารางที่ กรธ.นำมาใช้ มี กรธ.บางท่านอธิบาย เมื่อนำคะแนน ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรค ลบด้วย ส.ส.เขต จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามมาตรา 128 (4) ทำไมไม่จัดสรรเป็นจำนวนเต็มตั้งแต่รอบนั้น ทำไมถึงเลือกไปใช้ตัวเลข 175 ซึ่งเป็นจำนวนรวมไปเทียบบัญญัติไตรยางค์ตาม มาตรา 128 (7) เพราะตามมาตรา 128 (4) ระบุว่าให้จัดสรรตามจำนวนเต็มก่อน แต่เมื่อนำจำนวนเต็มทั้งหมดมารวมกันจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 152 ที่นั่งซึ่งเกินมา ทำไมถึงไม่เอาตัวเลข 152 ไปเทียบบัญญัติไตรยางค์ กลับเลือกใช้ตัวเลขผลรวมคือ 175 ซึ่งตามกฎหมายไม่ได้กำหนดให้รวมผล ปัญหาตอนนี้คือ กกต.ทำตามที่เขาคิด เพราะตอนที่ออกแบบสูตรมาตั้งใจอยากจะทำแบบนี้ แต่กฎหมายเขียนแล้วไม่ตรงกับสิ่งที่เขาคิด ตอนนี้ กกต.จะอธิบายว่าคิดแบบนี้ เลยบอกว่าสูตรต้องเป็นแบบนี้
ถ้าจัดตามสูตรนี้คงมีผลให้พรรคเล็กไม่ได้ ส่วนจะมีผลในการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ จะต้องดูช่วงโค้งสุดท้ายว่าออกมาอย่างไร จึงต้องรอให้มีการประกาศผลอย่างเป็นทางการก่อน แล้วค่อยมาคุยกันว่าตกลงฝั่งไหนจะได้เสียงมากกว่า ตอนนี้ยังไม่จบ แต่ถ้าเราเถียงกันให้จบก่อน การคำนวณออกมายังไงก็ค่อยไปว่ากันว่าใครจับขั้วกับใคร
ทั้งนี้ สมมุติ กกต.แถลงข่าวออกมาว่ามี 25 พรรคที่ได้ ก็ยังไม่รู้ว่าใช้สูตรอะไรอยู่ดี เนื่องจากเป็นแค่การลองคำนวณ ซึ่งจะมีผลก็เมื่อวันที่ประกาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 พฤษภาคม และเมื่อ กกต.เปิดเผยวิธีคิดว่าเป็นแบบใด คนที่ไม่เห็นด้วยก็ต้องไปร้องเอาว่าไม่เห็นด้วยขัดรัฐธรรมนูญ ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นแบบนี้ คือ งึมๆ งำๆ อ้ำๆ อึ้งๆ เมื่อคนถามจะใช้สูตรไหนก็บอกผลเลย มันก็ไม่จบไม่สิ้นเหมือนอยากจะทำอะไรอยู่

 

Advertisement

พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ต้องย้อนกลับไปที่หลักการของระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนซึ่งมีที่มาจากเยอรมนี แต่เราปรับเป็นกรณีแบบไทย เพราะเยอรมนีไม่ได้คิดแบบนี้ เขามีการรองรับ โอเวอร์แฮงก์ ซีท (Overhang Seat) หรือจำนวนที่นั่งเกิน เพื่อให้ทั้งสองฝั่งมีจำนวนสัดส่วนเท่ากัน แต่ของไทยวางโครงสร้างเกี่ยวกับจำนวน ส.ส. 500 คนไว้ พรรคการเมืองไหนที่มีคนเลือกเยอะ ได้ ส.ส.เขตมาก อาจไม่ได้ที่นั่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แถมต้องเกลี่ยให้พรรคอื่น
โดยปกติต้องยอมรับว่า หากพรรคการเมืองหนึ่งได้จำนวนที่นั่งเยอะ ต้องให้เขาตามสัดส่วนที่ประชาชนให้ความนิยม แต่เรากำหนดไว้ 500 ที่นั่ง ทำให้ต้องบีบว่าภายใน 500 นี้ต้องจัดสรรให้ครบ ส่งผลให้พรรคใหญ่หรือพรรคอื่นๆ ที่ประชาชนเลือกเยอะ มี ส.ส.มาก ถูกแบ่งไปให้พรรคอื่น และพรรคเหล่านั้นประชาชนไม่ได้เลือกมา
เรื่องนี้สะท้อนว่าการออกแบบฝืนธรรมชาติมาตั้งแต่ต้น ไม่ได้สะท้อนเจตจำนงของประชาชนอย่างแท้จริง และเยอรมนีไม่ได้ทำแบบนี้ เพราะคอนเซ็ปต์เยอรมนีไม่มีการกำหนดจำนวนที่นั่งชัดเจน เนื่องจากรู้อยู่แล้วว่าเมื่อมีการเลือกตั้งจะเกิดภาวะ โอเวอร์แฮงก์ ซีทขึ้น ดังนั้น หลังการเลือกตั้งเกือบทุกครั้ง จำนวน ส.ส.ที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงเกิดจากความป๊อปปูลาร์ แต่ไทยกำหนดเพดาน 500 ไว้ตั้งแต่ต้น ทำให้เกิดสภาวะเช่นนี้
เข้าใจว่าคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญเก็บทุกคะแนนเสียงมาคำนวณ เพื่อไม่ให้คะแนนทิ้งน้ำ แต่การโฟกัสตรงนี้อย่างเดียวไม่ได้ถูกต้องตามหลักการที่สุด หากจะเก็บทุกคะแนนเสียงจริง ต้องออกแบบการเลือกตั้งที่สะท้อนถึงเจตนารมณ์ของผู้ออกไปโหวต เป็นแก่นของประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง
นอกจากนี้ การบอกว่านำทุกคะแนนเสียงมาคำนวณโดยไม่ทิ้งน้ำ จริงๆ ก็ไม่เชิง เพราะเมื่อ กรธ.ยกร่างบทบัญญัติเรื่องโหวตโนที่เขียนไว้ว่า ผู้ได้รับเลือก ส.ส.ต้องมีคะแนนเสียงเกินกว่าโหวตโน หาก ส.ส.ที่ได้คะแนนมากที่สุดของเขตนั้นมีคะแนนเสียงน้อยกว่าโหวตโน ต้องเลือกตั้งใหม่ และ ส.ส.ที่ลงเลือกตั้งใหม่ต้องเป็นชุดใหม่ทั้งหมด ถามว่าแบบนี้เป็นการนับคะแนนเสียงทั้งหมดหรือไม่ นี่คือการโยนคะแนนทั้งหมดทิ้งน้ำ ดังนั้น ระบบจัดสรรปันส่วนมีข้อบกพร่อง เราไม่ได้ทำเหมือนต้นแบบ
เยอรมนีจริงๆ แต่ปรับจนเกิดปัญหามากมาย
เข้าใจว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ออกแบบมาเพื่อให้เป็นรัฐบาลผสม แต่ภาวะนี้บวกกับกรณีการคำนวณสูตรของ กกต.ทำให้ตกใจว่ามีพรรคเล็กพรรคน้อยเข้ามาจำนวนมาก เมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2540 จะเห็นว่ามีการกำหนดการได้มาซึ่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อว่าต้องได้คะแนนเสียงทั้งประเทศไม่ต่ำกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ การกำหนดแบบนี้เพราะไม่ต้องการให้พรรคการเมืองยิบย่อยมีจำนวนมากเกินไป ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะปิดกั้นพรรคเล็ก แต่ 5 เปอร์เซ็นต์นี้สะท้อนให้เห็นว่าเขาเป็นพรรคการเมืองที่คนให้ความนิยม
ตอนนี้ต้องรอการประกาศผลอย่างเป็นทางการ สุดท้ายแล้วหาก กกต.ฟันธงว่าใช้สูตรนี้จริงก็ต้องให้ความยุติธรรม เพราะยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการ แต่เมื่อเป็นทางการแล้ว ถ้าพรรคไหนไม่เห็นชอบ สามารถโต้แย้งได้ โดยยื่นคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ตามอำนาจมาตรา 210 (2)
เชื่อว่าคะแนนเสียงมีผลกับขั้วการเมืองแน่นอน โดยเฉพาะการเป็นระบบจัดสรรปันส่วนผสมและสภาวการณ์ทางการเมืองที่เกิดขั้วชัดเจน ไม่ว่าที่จำนวน ส.ส. 1-2 ที่นั่งย่อมมีความหมายหมด อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจัดตั้งรัฐบาลได้แน่นอน อาจมีการฟอร์มรัฐบาลเสียงข้างน้อยได้ แต่จะเกิดสภาวะการบริหารราชการที่สุ่มเสี่ยงจากความไม่มีเสถียรภาพ เพราะพรรคฝ่ายค้านมีจำนวนมาก หากพรรคฝ่ายค้านมีเสียงเยอะอาจส่งผลถึงการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ดังนั้น ทุกคะแนนเสียงจึงมีความหมายกับทั้ง 2 ฝั่ง สุดท้ายต้องไปดูวันประกาศผลอย่างเป็นทางการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image