คณะทูตร่วมสังเกตการณ์ คดี‘ธนาธร’-ทำได้หรือไม่

หมายเหตุ – ความคิดเห็นจากฝ่ายต่าง ๆ กรณีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ระบุจะให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เตรียมทำหนังสือเชิญอัครราชทูตและผู้แทนของสถานทูตทั้ง 12 ประเทศที่ประจำประเทศไทย ภายหลังเข้ามาสังเกตการณ์และร่วมรับฟังการรับทราบข้อกล่าวหาในมาตรา 116 ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ถึงหลักการและจรรยาบรรณทางการทูตว่ามีความเหมาะสมหรือไม่

ดอน ปรมัตถ์วินัย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

กรณีมีผู้แทนของสถานเอกอัครราชทูตและองค์การระหว่างประเทศหลายแห่งไปร่วมรับฟังการรับทราบข้อกล่าวหาในความผิดกฎหมายอาญา มาตรา 116 ที่สถานีตำรวจปทุมวันของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) เมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมานั้น กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จะมีการพิจารณากันว่าจะทำหนังสือชี้แจงหรือเชิญทูตต่างๆ มาทำความเข้าใจเรื่องนี้หรือไม่ เพราะสิ่งเหล่านี้ในต่างประเทศยังทำไม่ได้เลย แต่มาทำในประเทศไทย จึงต้องขอความร่วมมืออย่าให้มันเกิดอีก เพราะมันผิดหลักการการทูตของสหประชาชาติ การที่สถานทูตเข้ามาเกี่ยวข้องเรียกร้องกระบวนการยุติธรรมจะทำได้กรณีเดียวคือ กรณีคนของประเทศเขามีเรื่องในประเทศไทย เป็นกรณีเดียวที่สามารถทำได้ในหลักสากล แต่ถ้าไม่ใช่เรื่องคนของประเทศเขา ไม่มีประเทศไหนเขายอม เขาไม่ทำกัน

เมื่อเกิดกรณีเช่นนี้ จึงต้องมีการทำความเข้าใจกันทั้งเรื่องหลักการและเรื่องจรรยาบรรณ มันอยู่ในหลักปฏิบัติพื้นฐานที่สถานทูตต้องรับทราบ ซึ่งกระทรวงเคยมีหนังสือเวียนไปแล้วครั้งหนึ่ง และเคยให้เอกอัครราชทูตแต่ละประเทศมาทำความเข้าใจว่าเรื่องประเภทนี้ไม่ใช่เรื่องที่พึงปฏิบัติ

Advertisement

ส่วนข้อคำถามที่ว่าหากคนของประเทศไทยไปเชิญผู้แทนต่างประเทศเข้ามสังเกตการณ์เอง จะมีความชอบธรรมในการเข้ามาสังเกตการณ์หรือไม่นั้น ตามหลักการเชิญไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรม ทางสถานทูตเขาต้องเข้าใจ และหลักปฏิบัติหากมีกรณีเกิดข้อสงสัย สถานทูตสามารถสอบถามมายังกระทรวงการต่างประเทศได้ว่าสามารถไปร่วมสังเกตการณ์ได้หรือไม่ เป็นหลักที่ปฏิบัติกันทั่วโลก ส่วนกรณีนายธนาธรต้องขึ้นศาลทหาร สถานทูตจะไปร่วมสังเกตการณ์ได้หรือไม่นั้น ผมไม่ทราบ เพราะเรื่องของศาลเป็นอีกกระบวนการหนึ่ง และเรื่องของศาลมักจะเปิดโอกาสให้สาธารณชนรับฟังอยู่แล้ว ถือเป็นคนละเรื่องกับการไต่สวนที่สถานีตำรวจ

ส่วนประเด็นก่อนที่เขาจะมาสังเกตการณ์กรณีนี้ ได้สอบถามมายังกระทรวงการต่างประเทศก่อนหรือไม่นั้น ยืนยันว่าไม่ได้สอบถาม และเรื่องเหล่านี้ถือเป็นเรื่องภายใน เขาจะดำเนินการอะไร ตำรวจก็ไม่ได้ประกาศ ยกเว้นมีข่าวออกมา

สำหรับคำถามที่ว่ากรณีเกิดการชุมนุม สถานทูตต่างๆ สามารถส่งตัวแทนเข้ามาสังเกตการณ์ได้หรือไม่นั้น ผมเห็นว่า หากมีการชุมนุมบนถนน เราเองก็ยังติดตามดูห่างๆ เพื่อให้เห็นภาพใหญ่ แต่เราจะไม่เข้าไปยุ่งเรื่องภายในของประเทศอื่น

Advertisement

ส่วนจะมองว่าถือเป็นการแทรกแซงกระบวนการภายในของไทยหรือไม่ เอาเป็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศเขาไม่ปฏิบัติกัน แทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ประเทศไทยไม่เคยทำกับใคร ประเทศอื่นๆก็ไม่ทำเช่นนี้กับประเทศไหน ไม่เคยมีหลักปฏิบัติในการเข้าไปเก็บข้อมูลในห้องไต่สวน และที่ถูกที่ควร หากอยากรู้บรรยากาศเป็นอย่างไร ให้อยู่นอกสถานีตำรวจ การเข้าไปเก็บข้อมูลไม่ใช่เข้าไปนั่งฟัง ไม่มีทางที่ประเทศไหนๆ จะทำได้โดยเด็ดขาด ไม่เคยเกิดขึ้นและไม่มีทางที่เขาจะให้เกิดขึ้น

ส่วนที่มองว่าการกระทำเช่นนี้ถือเป็นการดิสเครดิตประเทศไทยหรือไม่ ผมจะบอกว่า ดิสเครดิตอย่างไร เอาเป็นว่าเราแตกต่าง คือเราง่ายเหลือเกิน เขาคิดว่าอยากทำอะไรก็ได้ในบ้านเมืองของประเทศไทย ต้องถามประชาชนคนไทยว่าใครจะทำอะไรก็ทำได้ มันเหมาะหรือไม่ในความรู้สึกคนไทย

พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล
รอง ผบ.ตร.

บรรยากาศวันที่คณะทูตจาก 12 ชาติเข้าสังเกตการณ์ในวันที่นายธนาธรรับทราบข้อกล่าวหาเป็นไปด้วยดี ทางคณะทูตก็มีคำถามว่าดำเนินการไปแค่ไหน ทำไมช้า ทำไมขึ้นศาลทหาร เราก็ชี้แจงไป เหตุที่ต้องขึ้นศาลทหารเพราะเป็นกฎหมาย เพราะช่วงเวลาที่เกิดเหตุ รับคดีตั้งแต่ต้น ขอความเห็นชอบขอจับกุมไปแล้ว เป็นช่วงเวลาที่กฎหมายบังคับว่าต้องขึ้นศาลทหารเป็นไปตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ในช่วงนั้น นายธนาธรสามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอเปลี่ยนศาลได้ เช่นเดียวกับคดีเสือดำ ที่มีการยื่นคำร้องให้พิจารณาในศาลอาญาแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง สามารถทำได้ แล้วแต่ศาลวินิจฉัย ผมไม่ก้าวล่วง

วันนั้นมีเจ้าหน้าที่จากสถานทูตและองค์กรระหว่างประเทศร่วมสังเกตการณ์ ไม่ทราบว่ามาได้อย่างไร แต่ก็มาถามโน่นนี่หลังการสอบสวนเสร็จแล้ว ทางตำรวจก็เชิญขึ้นมาให้สอบถาม เราก็ตอบไป ไม่มีปัญหาอะไร แต่ไม่ได้ร่วมฟังการสอบสวน ทำไม่ได้ เขาไม่ได้มาวุ่นวายอะไร เป็นการพูดคุยหลังการสอบสวนเสร็จสิ้น เมื่อมีคณะทูตมาจากหลายประเทศเราก็เชิญมาพูดคุยตามมารยาท ไม่ถือว่าเป็นการแทรกแซง ไม่ได้มาวุ่นวายการสอบสวน แต่เรื่องระหว่างประเทศเป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศ

ในส่วนของนายธนาธรยังไม่มีคดีอะไรเพิ่มเติม นายธนาธรให้ความร่วมมือดี ไม่มีปัญหาอะไร ผมว่าการพูดคุยกับคณะทูตเขาสบายใจ หากเราไม่ตอบคำถามก็จะกลายเป็นประเด็นเสียหายประเทศชาติอีก เอกสารไหนให้ดูได้ทั้งคำสั่ง คสช. คำสั่งตั้งคณะพนักงานสอบสวน ก็ให้ดู ไม่หนักใจใครจะมาดูหรือไม่มาดูกระบวนการยุติธรรมต้องเดินตามกฎหมาย อยู่ในกรอบกฎหมาย ไม่หนักใจ ไม่มีปัญหาอะไร ไม่ได้ซิกแซ็กอะไร ส่วนการออกหมายเรียกคนอื่นๆ เพิ่มเติมในคดีเดียวกันยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ พาดพิงใครก็ต้องดำเนินการ ส่วนจะออกหมายเรียกนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดานายธนาธรอีกหรือไม่นั้น ถือว่าในปี 2558 เรียกสอบแล้ว หากไม่มีความจำเป็นก็ไม่ต้องเรียก

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
อดีตคณบดี คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

จากการแถลงข่าวของพรรคอนาคตใหม่ทำให้ทราบว่า พรรคอนาคตใหม่ไม่ได้เป็นผู้เชิญทูตก่อน แต่เมื่อข่าวสถานการณ์การเมืองแผ่ขยายออกไป ทางสถานทูตสนใจจึงติดต่อเพื่อทำเรื่องที่จะร่วมรับฟังข้อกล่าวหา ทางอนาคตใหม่เมื่อรู้ว่าตัวแทนทูตสนใจที่จะไป ก็ติดต่อกลับไปเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้จะได้ไม่เกิดเป็นเรื่องทั้งสองฝ่าย ถ้ามองในด้านดีคือมีความรอบคอบ พยายามจะให้ลงเอยทั้ง 2 ฝ่าย ทางการจะได้ไม่ต้องสงสัยว่ามีอะไรเบื้องหน้าเบื้องหลัง ตามหลักสากลของประเทศที่มีเสรีภาพทางกฎหมาย
ผู้แทนทูตหรือองค์กรระหว่างประเทศ สามารถร่วมสังเกตการณ์รับทราบข้อกล่าวหาได้ แต่ประเทศที่เป็นรัฐบาลพรรคเดียว จะไม่มีหลักเสรีภาพต่างๆ ก็ต้องบอกว่าทำไม่ได้

ประเทศไทยใช้หลักการสากล ของประเทศเสรีนิยมประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นจึงทำได้ ไม่ผิดหลักการใด หากทูตสนใจเข้ามาสังเกตการณ์ ตามปกติต้องแจ้งกับฝ่ายไทย แจ้งไปที่สถานีตำรวจ กงสุล สถานทูต หรือกระทรวงการต่างประเทศตามแต่กรณี แต่กรณีนี้คิดว่าไม่เกี่ยวกับเรื่องทางการทูต เพราะถึงแจ้งไปที่กระทรวงการต่างประเทศก็ตอบไม่ได้ว่าสามารถทำได้หรือไม่ เพราะไม่ถึงขนาดว่าเป็นเรื่องความขัดแย้งทางการทูต อีกทั้งทางทูตก็ได้แจ้งไปที่ สน.ปทุมวัน ให้ตำรวจรับทราบแล้วว่าจะไปร่วมสังเกตการณ์ เป็นการแจ้งความประสงค์อย่างเปิดเผย ไม่ใช่การมาแบบลับๆซ่อนๆ ดังนั้นจึงถูกต้องและมีมารยาท เป็นการกระทำแบบคนที่มีการศึกษา มาจากประเทศที่มีอารยธรรมสูง และความจริงแล้วไทยก็เปิดประเทศและจัดตัวเองว่าเป็นประเทศที่มีอารยธรรมเท่ากับตะวันตก เพราะฉะนั้น เรารู้ว่ามารยาททางการทูตทำกันอย่างไร

ทูตเข้าร่วมสังเกตการณ์ ไม่ถือว่าเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมภายในของไทย เพราะเป็นเพียงแค่การมาร่วมรับฟังข้อกล่าวหา ไม่ได้เข้าไปในห้องประชุมศาลหรืออะไรทำนองนั้น ถึงอย่างนั้นส่วนตัวก็เคยมีโอกาสเข้าร่วมฟังในที่ประชุมศาล ถ้าศาลให้เข้าร่วมฟังได้ ก็เข้าปกติ ถ้าไม่ให้ฟัง ก็แค่ปิด ถ้าจะแทรกแซงคือต้องใช้อำนาจไปบังคับเขาให้คุณเข้าไปฟัง ดังนั้นถ้าถือกติกาตามสังคมประชาธิปไตยเสรี เรื่องอะไรที่เป็นสาธารณะ ตัวแทนหรือผู้สนใจก็ร่วมรับฟังได้

ถ้าจะกล่าวว่าเป็นการแทรกแซง ก็ต้องระบุให้ชัดว่าแทรกแซงอย่างไร อย่างเช่น การไปฟังข้อกล่าวหาทางเมือง แม้ว่าเรื่องเหล่านี้อาจจะขึ้นอยู่กับอัตวิสัย ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะเปิดหรือไม่ แต่ถ้ารัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ อยู่ในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เช่น พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล คิดว่าจะออกมาพูดแบบนี้หรือไม่ ถ้ารัฐมนตรีมาจากส.ส.มาจากการเลือกตั้งแล้วมีคดีกับนักการเมืองฝ่ายค้าน แจ้งจับ มีทูตมาร่วมฟัง รัฐมนตรีจะบอกไหมว่าทูตไม่มีมารยาท

นายดอน ปรมัตถ์วินัย บอกว่าสถานทูตเข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมของไทยได้กรณีเดียว คือคนของประเทศนั้นมีปัญหาในประเทศไทย แต่การตั้งสถานทูตที่ต่างประเทศนั้น ก็เพื่อแลกเปลี่ยนเรื่องต่างๆ ของประเทศไทยด้วย ต้องมีฐานะเท่ากัน ดังนั้นนักการทูตก็ย่อมสามารถทำได้ เป็นการกระทำที่ถูกต้อง

กรณีนี้ทูตต่างประเทศจะทำในเรื่องของเขา การที่ทูตมาฟังต้องถามว่าแทรกแซงตรงไหนอย่างไร ทำให้ตำรวจไม่สบายใจหรือไม่ หรือโผล่หน้าเข้าไปดู เอากล้องไปถ่าย หรือต้องตีความว่าแทรกแซงเพราะเข้าไปยืนอยู่เฉยๆ แต่ทำให้มีข่าวไปทั่วโลกและทำให้คนสงสัยว่าคดีนี้ผิดปกติ อย่างนั้นหรือไม่

ภูมิธรรม เวชยชัย
เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.)

กรณีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เตรียมเชิญทูตมาถกเรื่องจรรยาบรรณ ภายหลังที่มีตัวแทนทูตจาก 12 ประเทศเข้ามาสังเกตการณ์การดำเนินคดีมาตรา 116 กับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) นั้น คิดว่ากระทรวงการต่างประเทศต้องทำความเข้าใจในบทบาทของตนเอง เพราะเราเป็นประเทศที่เปิดตัวเองคบกับนานาอารยประเทศ ดังนั้น การจะสัมพันธ์กับนานาประเทศควรใช้หลักสากลที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ การที่เรามีการดำเนินคดีกับหัวหน้าพรรคการเมืองหนึ่งในเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้ว 4 ปี แล้วนานาประเทศเขาให้ความสนใจที่จะเข้ามาดูไม่ใช่เรื่องที่ผิดจรรยาบรรณอะไร นายดอนอาจจะต้องทำความเข้าใจในเรื่องนี้ให้ชัดเจนขึ้น นานาประเทศเพียงแต่สงสัยว่าเหตุใดเรื่องราวที่เกิดขึ้นมาเหตุใดพลเรือนจึงต้องไปขึ้นศาลทหาร

สิ่งต่างๆ เหล่านี้หากระทรวงการต่างประเทศเข้าใจในบทบาทของตนเองก็มีหน้าที่ทำความเข้าใจเพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดว่าคดีที่เกิดขึ้นมีความผิดอะไร แล้วเหตุใดจึงจะต้องเข้าไปดำเนินการตามกระบวนการที่ผิดแผกแตกต่างไปจากกระบวนการปกติ ความจริงแล้วท่านควรเข้าไปทำความเข้าใจ ไม่ใช่ไปบอกว่าเขาเข้ามาแทรกแซง เพราะเขายังไม่ได้แสดงออกอะไรเลย และไม่จำเป็นต้องมีใครไปเชิญเขา หากเขามีความสนใจที่จะเข้ามาสังเกตการณ์เพราะเขาเป็นประเทศอารยะ เมื่อเห็นว่ามีการละเมิดสิทธิเขาก็เข้าไปดู

นี่คือหลักสากล ที่ไม่มีประเทศไหนจะสามารถเอาตัวเองหลุดออกจากวงความสัมพันธ์จากประเทศต่างๆ ในโลกไม่ได้ ทั้งนี้การที่บอกว่าจะไปเชิญเข้ามาเพื่อถกเรื่องจรรยาบรรณนั้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมควร ท่านควรเคารพความเห็นที่แตกต่างของแต่ละฝ่าย และแต่ละส่วนด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image