พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ความรู้ที่ชาวไทยควรทราบ

หมายเหตุนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ความรู้ที่ปวงชนชาวไทยควรทราบ” จัดโดยสถาบันพระปกเกล้า ที่ห้องประชาธิปก สถาบันพระปกเกล้า ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ

เป็นโอกาสดีที่ได้มาเล่าเรื่องพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่อาศัยความร่วมมือของหลายฝ่ายด้วยกัน ถึงวันนี้ถือว่าเป็นไปด้วยดี และการจัดงานใหญ่ขณะนี้มีคณะกรรมการอำนวยการพระราชพิธีฯซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามราชกุมารี ทรงเป็นประธานที่ปรึกษา โดยแบ่งออกเป็น 5 คณะ คือ คณะฝ่ายพิธีการ คณะที่ดูแลเรื่องการรักษาความปลอดภัย คณะที่ดูแลเกี่ยวกับการใช้งบประมาณ คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ และคณะกรรมการที่รับผิดชอบเกี่ยวกับโครงการทั้งหลาย ซึ่งทั้งหมดทำงานมาถึงร้อยละ 80-90 เหลือเพียงส่วนที่ต้องแก้ไขปรับปรุงและซักซ้อม

เดิมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกได้เริ่มมาแล้ว แต่หัวใจสำคัญจริงๆ ของพิธีอยู่ที่วันที่ 4-6 พฤษภาคม ในสมัยโบราณหลายร้อยปี ประเทศอาจจะมีพิธีจำนวนมาก แต่ในบรรดาพิธีที่มีความยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดของประเทศ คือ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของรัชกาลก่อน และพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของรัชกาลใหม่ เนื่องจากเป็นพิธีที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่บางครั้งก็เกิดเหตุยุ่งยากทางบ้านเมืองทำให้ไม่สามารถจัดงานพระราชพิธีได้ เช่น รัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ทรงขึ้นครองสิริราชสมบัติเป็นระยะเวลา 12 ปี จนกระทั่งปี 2489 ทรงเสด็จสวรรคต แต่ไม่มีการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเป็นพระนามเดิม จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 9 ทรงสถาปนาพระนามย้อนหลัง ที่ผ่านมาพระมหากษัตริย์ของไทยทุกพระองค์จะมีคำว่า “รามาธิบดี” อยู่ในส่วนหนึ่งของพระปรมาภิไธย และเชื่อว่าในรัชกาลที่ 10 ก็จะมีคำว่า รามาธิบดีอยู่ด้วย แต่ไม่ทราบว่าอยู่ส่วนใด

การจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะต้องจัดให้ยิ่งใหญ่ตามโบราณราชประเพณี ตามอิทธิพลของพราหมณ์ เพื่อให้ทราบว่ามีพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ แต่อาจจะมีในรัชกาลที่ไม่ได้จัดตามโบราณราชประเพณีแต่จัดแบบพอสังเขป เช่น ในรัชกาลที่ 1 เนื่องจากไม่มีพราหมณ์ผู้รู้ และของเครื่องใช้ซึ่งต้องสร้างขึ้นใหม่ จึงได้จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นใหม่อีกครั้งใน 3 ปีถัดมา ได้รวบรวมเป็นตำราพระราชพิธีบรมราชาภิเษก หรือในรัชกาลที่ 5 มีการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2 ครั้ง เนื่องจากในครั้งแรกยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือในรัชกาลที่ 6 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ไปเรียนในต่างประเทศ ได้จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 2 เรียกว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช เพื่ออธิบายให้ชาวต่างชาติเข้าใจ

Advertisement

ความสำคัญอีกประการของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก คือการดำเนินการตามศาสนาพราหมณ์ ซึ่งจะต้องเกี่ยวข้องกับพระผู้เป็นเจ้า การดึงเทวดาลงมาประสิทธิประสาทพร โดยเฉพาะพระรามาธิบดี การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจึงเป็นการประกาศให้เทวดารู้ว่าบัดนี้จะมีพระมหากษัตริย์ขึ้นอีกพระองค์แล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 พระราชพิธีบรมราชาภิเษกได้นำพิธีตามศาสนาพุทธเข้ามาผสมกับพิธีของพราหมณ์ เพื่อไม่ให้ห่างไกลจากพระพุทธศาสนา

วันที่ 9 มิถุนายน 2489 สภามีมติอัญเชิญรัชกาลที่ 9 ขึ้นครองราชย์ หรือวันรับราชสมบัติ หรือวันเปลี่ยนรัชกาล เป็นวันที่ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ เป็นวันโศก ที่นับเป็นวันที่ 1 ปีที่ 1 ของรัชกาล ซึ่งประกาศให้ประชาชนรู้ว่าเป็นพระมหากษัตริย์ มีสิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญทุกประการ สามารถประกาศกฎหมาย หรือแต่งตั้งเอกอัครราชทูตได้ แต่จะยังทรงเป็นได้แค่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังไม่เป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องจากยังไม่ผ่านพิธีกรรม จนกระทั่งวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 จะผ่านพิธีกรรมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อประกาศให้เทวดา 15 ชั้นฟ้าดินรู้ หรือที่เราเรียกว่า วันฉัตรมงคล เพื่อระลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

อย่างไรก็ตาม วันที่ 13 ตุลาคม 2559 รัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต รัชกาลที่ 10 ยังไม่ทรงตอบรับเรื่องคำเชิญขึ้นครองราชย์ จนกระทั่งวันที่ 1 ธันวาคม 2559 จึงได้มีพระราชานุญาตให้อัญเชิญขึ้นครองราชย์ตามรัฐธรรมนูญ บัดนั้นจึงได้ถือเป็นรัชกาลที่ 10 และมีผลย้อนหลังไปจนถึงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 เพื่อไม่ให้ราชบัลลังก์ว่าง จึงได้นับวันที่ 13 ตุลาคม 2559 เป็นปีที่ 1 วันที่ 1 ในรัชกาลปัจจุบัน และในวันที่ 1 มกราคม 2560 นับเป็นปีที่ 2 ของรัชกาลปัจจุบัน โดยจะใช้คำว่า “กราบบังคมทูล ทรงทราบ กราบละอองธุลีพระบาท” จนกระทั่งในวันที่ 4 พฤษภาคม จะใช้คำว่า “ขอเดชะ กราบบังคมทูล ทรงทราบ กราบละอองธุลีพระบาท”

Advertisement

คำว่า “บรมราชาภิเษก” มาจาก บรม-ราช-อภิเษก คือเป็นพิธีที่เกี่ยวกับน้ำ ซึ่งตามทำเนียมของพราหมณ์จะต้องมีการรดน้ำ มีขั้นตอนสำคัญ อยู่ 3 ลำดับ คือ การอาบน้ำ รดน้ำ และสวมมงกุฎที่ข้ามขั้นตอนหรือขาดขั้นตอนใดไปไม่ได้ โดยจะต้องเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ทันทีที่ทำครบ 3 อย่างเท่ากับเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งในการอาบน้ำและรดน้ำจะเกิดขึ้นภายใน 2 ชั่วโมง ในวันที่ 4 พฤษภาคม

การอาบน้ำ ก็คือ พิธีสรงพระมุรธาภิเษก (การรดน้ำที่พระเศียร) ซึ่งต้องใช้น้ำศักดิ์สิทธิ์เดิมจะต้องมาจากแหล่งน้ำสำคัญ 3 แหล่ง คือ 1.แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ 5 สายในอินเดียตามความเชื่อของพราหมณ์ หรือปัญจมหานที 2.เบญจสุทธคงคา หรือแม่น้ำสำคัญทั้งห้า คือ แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำราชบุรี และแม่น้ำเพชรบุรี และ 3.สระน้ำ 4 สระ ในจังหวัดสุพรรณบุรี คือ สระเกษ สระแก้ว สระคา สระยมนา แต่ในสมัยรัชกาลที่ 10 ทรงให้งดน้ำจากปัญจมหานที โดยน้ำทั้งหมดจะผ่านการทำพิธีและทรงรับน้ำสรงจากสหัสธารา ภาชนะคล้ายฝักบัวมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ร่างกายบริสุทธิ์

จากนั้นเสด็จเข้าสู่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ประทับเหนือพระที่นั่งอัฐทิศ ภายใต้เศวตฉัตร 7 ชั้น ผู้แทนสมาชิกรัฐสภาถวายน้ำอภิเษก และพระราชครูวามเทพมุนีทูลเกล้าฯ ถวายน้ำเทพมนต์เวียนไปครบ 8 ทิศ ซึ่งจะมีบุคคลทั้ง 8 เดิมพราหมณ์เป็นผู้ถวาย แต่ในสมัยรัชกาลที่ 9 ได้เปลี่ยนเป็น ผู้แทนจาก พระบรมวงศานุวงศ์ ประธานองคมนตรี นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ราชบัณฑิต 7 ทิศ และพราหมณ์ อีก 1 ทิศ ถวายน้ำอภิเษก หรือการรดน้ำ ซึ่งมาจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 108 แห่ง จาก 76 จังหวัดทั่วประเทศ 107 แหล่งน้ำ และน้ำที่หอศาสตราคมในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเดิมจะใช้น้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์แค่บางเมืองเท่านั้น ซึ่งรัชกาลที่ 10 มีพระราชดำริว่า การรับน้ำอภิเษก คือ การรับอำนาจและพรจากประชาชน จึงควรแผ่พระบารมีให้ทุกจังหวัดได้มีส่วนร่วม เพราะบางจังหวัดเกิดใหม่ และต่อไปบ่อน้ำเหล่านี้จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเศรษฐกิจต่อไป

ต่อจากนั้นจะทรงนั่งพระที่นั่งอัฐทิศภัทรบิฐ โดยพราหมณ์จะถวายพระสุพรรณบัฏ จากนั้นพราหมณ์จะถวายสังวาลย์ เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ อันแสดงพระยศแห่งความเป็นกษัตริย์ 5 อย่าง ประกอบด้วย พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี พระแส้หางจามรีและพัดวาลวีชนี (นับรวมเป็นหนึ่ง) ธารพระกร และฉลองพระบาทเชิงงอน

ทั้งนี้ การถวายเบญจราชกกุธภัณฑ์เป็นการแฝงคำสอนพระเจ้าแผ่นดิน โดย “พระมหาพิชัยมงกุฎ” ซึ่งหนักกว่า 7 กิโลกรัม บอกให้รู้ว่า พระเจ้าแผ่นดินจะต้องทำงานหนัก, “ธารพระกร” หมายความว่า พระองค์ต้องมีหลักยึดและพระองค์ต้องเป็นหลักให้คนยึดต่อไป, “พระแสงขรรค์ชัยศรี” พระองค์จะต้องเด็ดขาด ดำรงอยู่ในธรรม เที่ยงตรง เหมือนพระแสงขรรค์ที่ตัดตรงเสมอ, “พระแส้หางจามรีและพัดวาลวีชนี” จะโบกปัด พัดวี ความโชคร้าย และ “ฉลองพระบาท” เปรียบเสมือนประเทศป้องกันพระองค์ไม่ให้มีบาดแผล พระองค์จะต้องดูแลรักษาประชาชนให้เป็นอย่างดี จากนั้นจะถวายพระแสง 8 อย่าง ซึ่งถือเป็นอาวุธที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ก่อนที่พราหมณ์จะนำสวด

จากนั้นพระมหากษัตริย์จะกล่าวพระปฐมบรมราชโองการ หรือพระวาจาแรกหลังจากได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาได้อนุญาตให้ใช้สิ่งของและพันธุ์พืช แต่ในรัชกาลที่ 9 นั้นต่างออกไป โดยทรงมีรับสั่งว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ส่วนรัชกาลที่ 10 จะทรงกล่าวพระปฐมบรมราชโองการอะไรนั้นขอให้รอฟัง

ส่วนช่วงบ่าย ของวันที่ 4 พฤษภาคมนั้น จะเสด็จออกยังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย จะมีพิธีทรงพระมหามงกุฎ จากนั้นพระบรมวงศานุวงศ์จะนำถวายพระพรชัยมงคล รวมถึงนายกรัฐมนตรี และประธานศาลฎีกาด้วย ถือเป็นการออกว่าราชการเป็นครั้งแรก โดยจะมีช้างต้น ม้าต้น รถยนต์พระที่นั่ง เรือพระที่นั่ง นำมาไว้ใกล้บริเวณพิธี เพื่อเป็นการถวายพระราชพาหนะ จากนั้นพราหมณ์จะเป่าสังข์ พระสงฆ์จะสวดเจริญพระพุทธมนต์ และทหารจะยิงสลุตปืนใหญ่

จากนั้นในช่วงตอนเย็น จะเสด็จไปวัดพระศรีรัตนศาสดารามฯ เพื่อทำพิธีปฏิญาณพระองค์เป็นพุทธศาสนาสมภพ ท่ามกลางคณะสงฆ์ จากนั้นเสด็จไปพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเพื่อสักการะโกศบรรพบุรุษ

และในช่วงค่ำจะมีพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร พระมหากษัตริย์จะเสด็จขึ้นประทับ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เปรียบเสมือนการขึ้นบ้านใหม่ โดยพระมหากษัตริย์จะบรรทมเหนือพระแท่นราชบรรจถรณ์ ซึ่งเป็นพระแท่นบรรทมของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี เพื่อเป็นปฐมฤกษ์ 1 คืน นับเป็นการเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินถูกต้องสมบูรณ์แล้ว

ส่วนวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 พระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศานุวงศ์ จากนั้นเสด็จฯเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค ระยะทาง 7 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลา 4 ชั่วโมงครึ่ง โดยประทับพระราชยานพุดตานทองเสด็จฯจากพระบรมมหาราชวังไปยังพระอารามหลวง 3 แห่ง คือ วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ประชาชนทั่วไปสามารถเฝ้าถวายพระพรชัยมงคลหรือชมพระบารมีได้

เช่นเดียวกันกับวันที่ 6 พฤษภาคม ซึ่งรัฐบาลประกาศเป็นวันหยุดราชการพิเศษ ในเวลา 16.30 น. ที่จะมีการเสด็จฯให้ประชาชนถวายพระพรชัยมงคล ณ สีหบัญชรของพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท บนกำแพงของพระบรมมหาราชวัง ฝั่งท้องสนามไชย จากนั้นเสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท คณะทูตานุทูต และกงสุลต่างประเทศ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล

สำหรับการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางชลมารคทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีขึ้นในปลายเดือนตุลาคม 2562 ในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม โดยเรือสุพรรณหงส์

หากประชาชนอยากจะมีส่วนร่วมทำได้เพียงส่งใจ วิธีแรก คือ ติดตามการรับฟังการบรรยายผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ซึ่งเดิมในสมัยรัชกาลที่ 9 ไม่มีการถ่ายทอด) วิธีที่สอง คือ การสวมใส่เสื้อเหลือง และการติดเข็มที่ระลึกตราสัญลักษณ์ ส่วนการส่งกายไปร่วมนั้น ประชาชนสามารถเดินทางไปร่วมรับเสด็จขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคในวันที่ 5 พฤษภาคม ขอให้เตรียมตัวให้พร้อม และสามารถไปร่วมการเสด็จสีหบัญชร ในวันที่ 6 พฤษภาคมได้

อย่างไรก็ตาม ครั้งสุดท้ายที่มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกคือเมื่อ 69 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการแสดงการสืบทอดศิลปวัฒนธรรมที่จัดขึ้นในวัง และนอกวังคือการเสด็จ ซึ่งประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในพิธีครั้งนี้ได้ ส่วนประชาชนในต่างจังหวัดสามารถร่วมด้วยการสวดมนต์ หรือร่วมในศาลากลางของแต่ละจังหวัด เนื่องจากพิธีดังกล่าวนับเป็นงานของประเทศ และเป็นโอกาสที่ได้ซ่อมแซมอุปกรณ์ เรือที่ใช้ในการเสด็จพยุหยาตราทางชลมารค การซ่อมพระราชยาน ที่ใช้เมื่อครั้งรัชกาลที่ 9 เสด็จพยุหยาตราทางสถลมารค ครั้งทรงพระชนมพรรษา 36 พรรษา

รวมถึงพระที่นั่งต่างๆ เป็นการสืบทอดมรดกให้สืบต่อไป เป็นการสืบทอดประเพณี และการสืบทอดความรู้สึกดีๆ ที่มีต่อพระมหากษัตริย์จึงขอให้ประชาชนติดตามพระราชพิธีด้วยความรู้ เพราะทุกขั้นตอนของพิธีมีความหมาย เพื่อให้เข้ากับคตินิยมแบบไทยในความเป็นจริง ไม่ใช่ไสยศาสตร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image